|

ทรีนีตี้ฯชูจุดขายประสบการณ์ ปีจอรุกตลาดซีเคียวริไทเซชัน
ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทรีนีตี้ แอ๊ดไวซอรี่ 2001 วางแผนปีหน้ารุกเป็นที่ปรึกษาซีเคียวริไทเซชัน ประเมินยังมีแนวโน้ม ภาครัฐ-เอกชนจะระดมทุนเพิ่มขึ้น ถือเป็นช่องทางในการระดมทุนมากขึ้น พร้อมดันหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียน 1-2 บริษัทและมุ่งบริหารกองทุนส่วนบุคคล
นายพิเศษ เสตเสถียร กรรมการ ผู้จัดการ บริษัททรีนีตี้ แอ๊ดไวซอรี่ 2001 จำกัด บริษัทย่อย บมจ.ทรีนีตี้วัฒนา (TNIYY) เปิดเผยว่า ภายในปีหน้าจะมุ่งเน้นการเป็นที่ปรึกษาในการแปลงสภาพสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) มากขึ้น โดยในปีนี้ บริษัทฯได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์(ธพส.)ซีเคียวริไทเซชัน ซึ่ง ธพส.ได้จัดตั้งบริษัทดีเอดี เอสพีวี เพื่อ เป็นผู้ออกหุ้นกู้มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นการทำธุรกรรมซีเคียวริไท-เซชันที่ใหญ่สุดของปีนี้ โดยได้กำหนด ระยะเวลาการออกหุ้นกู้ 3 ปีในงวดแรกจำนวน 9.5 พันล้านบาท ซึ่งเสนอ เมื่อวันที่ 24,25 และ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยจะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป อายุหุ้นกู้ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 6.70% และอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 7.35% และอีกส่วนเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน โดยผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายจะประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้
ทั้งนี้ ธพส.จะทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์เป็นเวลา 33 ปี โดย ธพส.ได้สร้างอาคารและสำนักงานและกลับมาให้กรมธนารักษ์เช่า โดย ธพส.จะชำระค่าก่อสร้างบางส่วนด้วยการออกหุ้นกู้และโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อกรมธนารักษ์
ทั้งนี้ ในปีนี้มีบริษัทเอกชนและภาครัฐที่ทำซีเคียวริไทเซชันไม่มากนัก ประกอบด้วย บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์, บมจ.สแกนดิเนเวีย ลิสซิ่ง และ ธพส. สาเหตุที่มีจำนวนไม่มาก เนื่องจากยังเป็นธุรกรรมใหม่และต้องใช้ต้นทุนที่มากกว่าการออกหุ้นกู้โดยตรง นอกจากนี้บางบริษัทที่มีคุณภาพที่ดี และได้รับความเชื่อถือนั้นจะออกหุ้นกู้โดยตรงเลย โดยไม่จำเป็นต้องทำซีเคียวริไทเซชัน
ในต่างประเทศทำธุรกรรม ซีเคียวริไทเซชันกันมาก ซึ่งโอกาสที่ประเทศไทยจะมีธุรกรรมนี้เพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาวะอัตราดอกเบี้ยของตลาดว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะถ้าภาวะดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นการออกหุ้นกู้ โดยซีเคียวริไทเซชันก็จะต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเพื่อให้มีความน่าสนใจ ขณะเดียวกันบริษัทก็จะต้องมีภาระมากขึ้น
"การทำซีเคียวริไทเซชันนั้นถือเป็นทางเลือกอีกทางในการระดมทุน สำหรับบริษัทที่มีเครดิตไม่ดีมากนักแต่มีสินทรัพย์ที่ดีมากอยู่ เพราะการทำ ซีเคียวริไทเซชันนั้นก็เหมือนกับการกู้บนสินทรัพย์ที่ดีมีคุณภาพซึ่งจะ แตกต่างจากที่บริษัทจดทะเบียนออกหุ้นกู้โดยตรง เนื่องจากการออกหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนนั้นจะต้องมีเครดิตที่ดีเพราะเหมือนกับการกู้บนพื้นฐานของบริษัท"นายพิเศษกล่าว
ปัจจุบันนี้บริษัทที่เป็นของคนไทยที่มีความเข้าใจในการทำซีเคียวริไทเซชันนั้นมีไม่มากนัก ดังนั้นจึงถือเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทฯที่มีความรู้ และมีประสบการณ์จากการเป็นที่ปรึกษาให้กับการเคหะแห่งชาติ โดย ที่ผ่านมาก็มีบริษัทเอกชนและภาครัฐที่แสดงความสนใจและติดต่อกับบริษัทหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม บริษัท ดังกล่าวยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะระดมทุนในรูปแบบซีเคียวริไทเซชันหรือไม่
นอกจากจะรุกธุรกรรมซีเคียวริไทเซชันแล้ว ในปีหน้าบริษัทฯยังจะเป็นที่ปรึกษานำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 1-2 บริษัท จากที่ปีนี้มี บมจ. ซุปเปอร์บล็อก เข้ามาซื้อขายแล้ว และ บมจ.ไพลอน ที่จะเสนอขายหุ้นภายใน ปลายปีนี้ ส่วนปีหน้าก็จะมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจปิโตรเคมีคาดว่าจะเสนอขายได้ภายในต้นปีหน้า
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ให้ประกอบธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งจะบริหารเงินให้แก่บริษัทประกันทั่วๆ ไป รวมถึงบริษัทแม่มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัทนอกตลาดฯ เพิ่มขึ้นอีก จากปัจจุบันนี้บริษัทถือหุ้นอยู่เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|