บริษัทไทยประสิทธิประกันภัย ฉลองครบรอบ 50 ปีไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์
นับว่าเป็นบริษัทประกันสัญชาติไทยอีกรายที่มีอายุยาวนานมากบริษัทหนึ่ง ถ้าเทียบกับอายุขับของคนก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมากพอสมควร
แม้จะไม่ถึงกับต้องล้มลุกคลุกคลานแต่อุปสรรคที่ผ่าน ๆ มาแต่ละยุคแต่ละสมัยไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อนในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2490 บริษัทประกันของตระกูลจันทร์ศรีชวาลาถือกำเนิดขึ้นภายใต้ชื่อ
"บริษัท ไทยประสิทธิ ประกันภัย และคลังสินค้า จำกัด" ด้วยทุนจดทะเบียน
10 ล้านบาท ตั้งบริษัทอยู่บนถนนทรงวาด และในปี 2513 บริษัทจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ถนนสี่พระยา
เริ่มทำธุรกิจจากรับประกันบางประเภทและขยายจนครบวงจร
ต่อมา บริษัทได้เพิ่มศักยภาพในการรับประกันให้กับลูกค้ารายใหญ่ด้วยการติดต่อกับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ
เพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ
เยอรมนี นอร์เวย์ อิตาลี หรือสวีเดน ฯลฯ หลังจากนั้น บริษัทได้ยกเลิกกิจการคลังสินค้าเพื่อเน้นด้านประกันภัยอย่างเดียว
จากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ไทยประสิทธิฯ เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม 'สยามวิทยา' ซึ่งมีบริษัทในเครือเป็นสถาบันการเงินอื่นอีก
อาทิ ธนาคารแหลมทอง จำกัด (มหาชน) ธนาคารคาธอริค ซีเรียน (อินเดีย), บงล.
คันทรี่, บค. ยูนิโก้ เฮาซิ่ง นอกจากนี้ ในกลุ่มยังมีธุรกิจอื่น ๆ ด้วย คือ
ธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจเหมืองแร่, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจสนามกอล์ฟ
และธุรกิจสื่อสาร
เมื่อดูจากธุรกิจต่าง ๆ ในกลุ่มสยามวิทยาแล้วจะเน้นไปในด้านของสถาบันกาเรงินและอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก
เหตุผลในเรื่องนี้ สุขเทพ จันทร์ศรีชวาลา กรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันเคยปรารภว่า
ครอบครัวของเขานั้นแท้จริงแล้วทำธุรกิจที่ดินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งธุรกิจนี้ถ้ามีบริษัทหรือสถาบันการเงินเป็นแบ็กอัพย่อมทำให้การดำเนินธุรกิจค่อนข้างที่จะสะดวก
เนื่องจากไม่ต้องไปพึ่งพาสถาบันการเงินอื่นมากนัก "เพราะการซื้อขายที่ดินจะต้องใช้การตัดสินใจที่รวดเร็ว
และแม่นยำ การพึ่งพาคนอื่นมาก ๆ จะทำให้การค้าไม่ราบรื่นเท่าที่ควร"
อย่างไรก็ตาม เหตุผลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะว่ากันตามความจริงแล้ว
ธุรกิจแต่ละประเภทของกลุ่มที่ดำเนินกิจการอยู่ต่างเลี้ยงตัวเองได้แล้วทั้งนั้น
รวมทั้งธุรกิจประกันที่สุขเทพดูแลอยู่ด้วย
ปัจจุบัน ไทยประสิทธิฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 400 ล้านบาท มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า
119 แห่ง นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ให้เปิดสาขาในต่างประเทศ
คือ สาขาฮ่องกง ซึ่งถือว่าไทยประสิทธิฯ เป็นบริษัทประกันภัยแห่งแรกและแห่งเดียวที่เปิดสาขาในต่างประเทศในขณะนี้
ผลการดำเนินงานของบริษัทปี '39 เบี้ยประกันชีวิตรับรวม 500 ล้านบาท และเบี้ยประกันวินาศภัย
700 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยประกันชีวิต 900 ล้านบาท และประกันวินาศภัยตั้งไว้
1,200 ล้านบาท โดยในปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543 บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันรวมทั้ง
2 ธุรกิจไว้ถึง 6,000 ล้านบาท
กว่าที่สุขเทพจะนำพาไทยประสิทธิฯ ให้เจริญเติบโตจนครบ 50 ปีและมีผลประกอบการเช่นนี้
เขาต้องผ่านประสบการณ์ที่หนักบ้างเบาบ้างตามกระแสของการแข่งขันที่มีอยู่ตลอดวเลา
นับตั้งแต่ได้รับความไว้วางใจจาก สุระจันทร์ จันทร์ศรีชวาลา ผู้เป็นอาให้รับตำแหน่งเมื่อปี
'30 และตัวของสุระจันทร์ก็ถอยตัวเองมาเป็นประธานกรรมการคอยดูอยู่ห่าง ๆ และให้คำปรึกษาบ้างเป็นครั้งคราว
ปัญหาหนึ่งที่ยังเป็นสัจธรรมอยู่คู่กับวงการประกันภัยมาโดยตลอด คือ การแย่งตัวแทนขาย
เรียกได้ว่าเจอหน้าสุขเทพครั้งใดต้องได้ยินเขาปรารภถึงเรื่อนี้ทุกครั้งไป
ภาวะการขาดแคลนบุคลากรเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อทางการเปิดประกันเสรี
บางบริษัทแม้ยังไม่ได้ใบอนุญาตก็ดึงตัวผู้บริหารมือพระกาฬของรายเก่าไปร่วมทีมบ้างแล้ว
อานิสงส์ของการแย่งตัวแทนกันครั้งนั้นส่งผลให้บางบริษัทที่ยังไม่ได้ใบอนุญาต
ในขณะนี้ต้องกล้ำกลืนแบกรับต้นทุนเป็นตัวเลขร้อยล้านทีเดียว
นอกจากปัญหาอมตะแย่งตัวแทนแล้ว ปัญหาหญ้าปากคอกของวงการประกันอีกประการ
คือ การกระจายความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไปถึงประโยชน์ของการทำประกันยังตีบตัน
หาคนที่เข้ามาช่วยให้เกิดผลอย่างจิรงจังได้ยากเต็มทนทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องไปอย่างน่าเสียดาย
ในเรื่องนี้ สุขเทพได้เพียรพยายามมาโดยตลอด พยายามขอความร่วมมือต่าง ๆ
อาทิ บรรจุในหลักสูตรการศึกษา และล่าสุดในงานฉลอง 50 ปี เขาและทีมงานลงทุนจัดนิทรรศการเรื่องการประกันภัยและแปลเงื่อนไขกรมธรรม์ออกมาเป็นภาษาง่าย
ๆ ที่ชาวบ้านอ่านแล้วรู้เรื่อง รวมทั้งเตรียมผลักดันให้สามารถใช้ได้จริงในกรมธรรม์
ซึ่งถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริงนับว่าเขาได้สร้างคุณูปการให้กับวงการประกันของไทยทีเดียว
ปัญหาที่ยังคาใจของเขาในขณะนี้ คือ เรื่องกองทุนของไทยประสิทธิฯ ติดลบ
ตามประกาศของกรมการประกันภัย แม้ว่าสุขเทพจะยืนยันว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกับความจริง
เนื่องจากในการประเมินนั้น ทรัพย์สินบางรายการมีการประเมินต่ำกว่าราคาจริง
แต่ก็ดูไม่เป็นผลนักเพราะภาพของไทยประสิทธิฯ มีปัญหากองทุนติดลบได้ติดตาติดใจคนทั่วไปซะแล้ว
คำชี้แจงจึงกลายเป็นข้อแก้ตัวมากกว่า สุขเทพคงต้องหาทางอื่นเพื่อสร้างภาพดีใหม่
ๆ มาล้างให้ความจำของคนเลือนไปเพราะคนไทยลืมง่ายเป็นปกติอยู่แล้ว
สิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่เสมอไม่แพ้เรื่องอื่น คือ การแยกธุรกิจประกันตาม
พ.ร.บ. ของทั้งสองธุรกิจ ปี พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งแรก ๆ ไทยประสิทธิฯ
ก็ดูจะแข็งขันคึกคักที่จะประพฤติตัวดีตามกำหนดของทางการ โดยจะแยกกิจการประกันวินาศภัยออกไปตั้งเป็นบริษัทใหม่แต่ก็เปลี่ยนมาเป็นแยกประกันชีวิตแทน
มิฉะนั้นจะเสียสาขาที่ฮ่องกงไป และเมื่อพิจารณาไปเรื่อย ๆ สุขเทพยังพบอีกว่าในการแยกธุรกิจประกันชีวิตและวินาศภัยออกจากกันนั้น
บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น 70-80% เนื่องจากต้องเพิ่มบุคลากรอีกหนึ่งชุดสำหรับกิจการที่ต้องแยกออกไป
โครงการนี้จึงตกไปและมีเสียงพูดจากปากสุขเทพเองว่า ถ้าจะแยกก็ขอชะลอดูจนถึงวินาทีสุดท้ายนั่นแหละ
แม้จะมีปัญหาประดังเข้ามาตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปพบเห็นได้จากสุขเทพ
คือ ความสุขุมคัมภีรภาพของเขา ที่สะท้อนออกมาในคำพูด การกระทำต่าง ๆ รวมถึงลักษณะการดำเนินธุรกิจ
ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ถอดแบบมาจากสุระจันทร์ อาของเขาผู้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตทีเดียว
สุขเทพเคยกล่าวถึงสุระจันทร์อย่างชื่นชมว่า "เขาเป็นตำราที่เปิดกางไว้ให้ผมได้เรียนรู้และศึกษาอยู่เสมอ"
สุระจันทร์เปรียบเสมือนพ่อ พี่ และเพื่อนในเวลาเดียวกัน เพราะเมื่ออายุเพียง
7 ขวบ เขาได้มาอยู่ในอุปการะของผู้เป็นอา เขาจึงสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องธุรกิจการงาน
"เมื่อเจอปัญหาใหญ่ ผมมักจะไปขอคำแนะนำจากคุณสุระจันทร์อยู่เสมอ ๆ"
สุขเทพถูกส่งให้เรียนยังต่างประเทศในช่วงอายุ 10 ปี อยู่ประมาณ 6-7 ปีจนจบไฮสกูลที่เททเทนฮอลล์
คอลเลจ ประเทศอังกฤษ จึงกลับมาเมืองไทยและเรียนต่อคอร์สสั้น ๆ อาทิ มินิเอ็มบีเอ
ของธรรมศาสตร์ และหลักสูตรผู้บริหารชั้นสูงสถาบันธุรกิจศศินทร์
แม้ประวัติการศึกษาจะไม่ยาวเหยียดเป็นหลายหน้ากระดาษ แต่ประวัติการทำงานที่เป็นประสบการณ์ตรงก็เป็นเครื่องการันตีความสามารถได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันนอกจากนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการของไทยประสิทธิฯ แล้ว เขายังนั่งเป็นกรรมการให้กับธุรกิจในเครือหลายตำแหน่ง
รวมทั้งเป็นที่ยอมรับให้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมประกันชีวิตไทย ตั้งแต่ปี
'38 จนถึงปัจจุบัน และเป็นกรรมการในสมาคมหรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
อีกมาก ซึ่งสร้างความภูมิใจให้กับสุระจันทร์ไม่น้อยกับความสามารถของ "หลานรัก"
ในวาระที่ไทยประสิทธิฯ อายุครบ 50 ปี สุขเทพยังคงวุ่นอยู่กับการรีเอ็นจิเนียริ่งระบบบุคลากร
และการทำงานภายในของเขาอยู่ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
เพื่อให้ศักยภาพการบริการดีขึ้นตามที่เขาได้วางไว้และเร่งทำก่อนการเปิดเสรีจะมา
แม้เรื่องเหล่านี้จะพูดกันมานาน แต่เขาก็ยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง และค่อยเป็นค่อยไป
โดยเน้นที่ตัวลูกค้าเป็นหลัก "ในอดีตการบริหารงานนั้น เราวางโครงสร้างเพื่อความสะดวกในการบริหารงาน
แต่การรีเอ็นจิเนียนี้ คือ การที่เราเอาลูกค้าเป็นที่ตั้งและบริหารงานเพื่อความสะดวกของลูกค้าเป็นสำคัญ"