เอกธนกิจกับข่าวลือทั้งขาขึ้นขาลง


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหลักทรัพย์ของไทย หากปราศจากซึ่งข่าวลือแล้วนักลงทุนไทย ๆ คงหายกันไปอีกเยอะ ด้วยสาเหตุง่าย ๆ คือ นักเล่นหุ้นบ้านเรานิยมเล่นกับราคาหุ้นในแต่ละวัน โดยซื้อหุ้นไปตามข่าวลือ มุ่งหวังจะทำกำไรมาก ๆ เพียงชั่วข้ามวัน และลืมประสบการณ์การขาดทุนที่ผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่า

ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อนักลงทุนรายย่อย จึงสร้างกระแสข่าวลือต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย เพื่อฉกฉวยกำไรจากเหยื่อที่พร้อมลงทุนซื้อหุ้นตามข่าวลือ ด้วยเงินที่เก็บหอมรอมริบมาเป็นเวลานาน โดยไม่ยอมศึกษาหาข้อมูลที่แท้จริง เพื่อประกอบการลงทุนในแต่ละครั้ง

"เอกธนกิจ" นับเป็นบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่ที่มีข่าวลืออย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะในยามที่ตลาดหุ้นเฟื่องฟูหรือตกต่ำ

ในยามเฟื่องฟู ข่าวกำไรจากพอร์ตลงทุนอย่างมหาศาลทางบัญชี ครั้งแล้วครั้งเล่าถูกปล่อยออมาฉุดราคาหุ้นของเอกธนกิจพุ่งกระฉุดได้ไม่ยากเย็น ประมาณ 2 ปีก่อน หุ้นของเอกธนกิจเคยสูงเกือบ 500 บาทต่อหุ้น เมื่อมีกระแสข่าวการเพิ่มทุนหลุดรอดออกมา

ภายหลังการเพิ่มทุน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 15 บาท เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2538 และราคาหุ้นได้ถูกปรับลงมาเหลือประมาณ 150 บาทตามสัดส่วน ข่าวลือต่าง ๆ ก็เงียบหายไปกับสายลม นับจากนั้นทุกอย่างก็เป็นไปตามภาวะของตลาดหลักทรัพย ์และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ราคาหุ้นของเอกธนกิจตกต่ำลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปี 2539 ราคารูดลงอย่างต่อเนื่อง

และแล้วกระแสข่าวเรื่องความไม่มั่นคงทางการเงินของบริษัทก็เริ่มถูกกระพือขึ้นมา นับแต่เดือนตุลาคม 2539 และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสลับกับการออกแถลงข่าวของผู้บริหารกลุ่มเอกธนกิจนาม ปิ่น จักกะพาก ซึ่งทุกครั้งจะยืนยันถึงสภาพคล่องของบริษัท ความมั่นคงทางการเงิน คุณภาพสินเชื่อ และอื่น ๆ ซึ่งดูเหมือนจะไร้ผล

29 มกราคม 2540 หุ้นเอกธนกิจถูกเทขาย จากโบรกเกอร์หลายแห่งด้วยเหตุผล คือ การขาดทุนมหาศาลจากอัตราแลกเปลี่ยน พอร์ตลงทุน และบริษัทมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง

ภายในเวลา 1 ปี ราคาหุ้นของเอกธนกิจตกลงกว่า 80% จาก 157 บาทต่อหุ้น เหลือเพียง 30 บาทเศษ ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีเช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เหลือเพียง 6 เท่ากว่า ๆ ต่ำกว่า P/E เฉลี่ยของกลุ่มที่ประมาณ 8 เท่ากว่า ๆ

แหล่งข่าวหลายกระแสยืนยันตรงกันว่า "เป็นการทุบหุ้นเพื่อช้อนซื้อของกลุ่มผู้ไม่หวังดีมากกว่า และข่าวลือเกี่ยวกับเอกธนกิจก็มีให้เห็นบ่อย ๆ จนนักลงทุนน่าจะเคยชินแล้ว แต่ก็ไม่วายยังหาประโยชน์ได้" อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่า ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ความสนใจกับกรณีดังกล่าวเช่นกัน เพราะหากเป็นการสร้างข่าวเพื่อทำราคาไม่ว่าจะในขาขึ้นหรือขาลงล้วนเข้าข่ายความผิดทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นไปได้สำหรับนักลงทุนในขณะนี้ คือ การพิจารณาซื้อหรือขายหลักทรัพย์ให้รอบคอบมากขึ้น เชื่อข้อเท็จจริงแทนที่จะตื่นตระหนกกับข่าวลือ

จากงบการเงินรวมปี 2539 ของเอกธนกิจ (ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี) พอจะยืนยันฐานะความมั่นคงของบริษัทได้ดี บริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 89.55 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนลดลง 29.55 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2538 ซึ่งขาดทุน 119.10 ล้านบาท

ในส่วนของพอร์ตลงทุนนั้น เอกธนกิจมีผลขาดทุนจากการลดลงของมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อยประมาณ 1,000 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจากหลักทรัพย์เพื่อลงทุนอีกประมาณ 1,450 ล้านบาท ซึ่งผลขาดทุนเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในกระแสเงินสดจริง จนกว่าบริษัทจะมีการขายเงินลงทุนเหล่านั้นออกไป

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้ว ผลขาดทุนทางบัญชีเหล่านี้ก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเอกธนกิจเคยกำไรจากพอร์ตลงทุนทางบัญชีอย่างมหาศาลจนเป็นจุดเด่นในการสร้างข่าวลือล่อเหยื่อมาซื้อหุ้น

การขาดทุนทางบัญชีครั้งนี้จะนำมาปรับลดเงินกองทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจาก 16,533 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 14,074 ล้านบาทเท่านั้น ไม่กระทบกับสภาพคล่องของบริษัท จนเป็นเหตุให้ฐานะการเงินสั่นคลอนแต่อย่างใด นอกจากนี้ เอกธนกิจยังมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 19.9% ขณะที่แบงก์ชาติกำหนดไว้เพียง 7.5% เท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ เริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงขั้นออกโรงสยบข่าวลือในเรื่องดังกล่าวด้วยตนเอง โดยยืนยันว่า ฐานะการเงินของเอกธนกิจไม่มีปัญหา กระแสข่าวเรื่องไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้แปลงสภาพที่เสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ (อีซีดี) ไม่มีมูลความจริง เพราะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อยเพียง 2.5 ล้านบาทเท่านั้น และเอกธนกิจก็ชำระเรียบร้อยแล้ว เรื่องการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เช่นกัน นอกจากนี้ การจัดชั้นหนี้สงสัยจะสูญ เอกธนกิจก็มีการตั้งสำรองอย่างครบถ้วน ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม เริงชัย ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีปัญหาในส่วนของบริษัทในเครือเอกธนกิจ ที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ควรจะแยกแยะในการพิจารณา และบริษัทในเครือที่ปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ใช่สถาบันการเงิน จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อบริษัทแม่

ทั้งนี้ บริษัทในเครือเอกธนกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง และตกแต่ง และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่ซบเซาอย่างมากในปัจจุบัน

แม้เอกธนกิจจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องต่าง ๆ ตามข่าวลือ แต่ผลประกอบการที่ตกต่ำลงโดยปี 2538 เอกธนกิจมีกำไรประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่สำหรับปี 2539 บริษัทมีกำไร 1,500 ล้านบาท รวมถึงภาวะทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ปริมาณธุรกิจที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลถึงราคาหุ้นในตลาดฯ

เอกธนกิจมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non performing loan) ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นจากปี 38 มีเพียง 2.5% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด แต่ในปี 39 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.8% ของพอร์ต หากแยกออกมาเฉพาะพอร์ตเช่าซื้อ จะมีสัดส่วน 5.9% ในปี 38 และ 7.6% ในปี 39 โดยมีสำรองหนี้สูญด้านเช่าซื้อ 4.4% ในปี 38 และ 6.6% ในปี 39

ทั้งนี้ ปิ่น จักกะพาก แถลงถึงนโยบายของบริษัทในภาวะชะลอตัวเช่นนี้ว่า "เราจะไม่เน้นการโตเร็ว ต้องมาเน้นที่คุณภาพและลดต้นทุน"

อย่างไรก็ดี การที่สินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามภาวะทางเศรษฐกิจที่การเงินค่อนข้างตึงตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกค้าลดลง

จากปัจจัยพื้นฐาน และแนวโน้มอนาคตของกลุ่มสถาบันการเงิน เอกธนกิจอาจจะไม่มีปัญหาในเรื่องฐานะการเงินและสภาพคล่อง แต่การทำกำไรย่อมลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นที่ตกต่ำลงอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีความสมเหตุสมผลในการซื้อหรือขายอย่างไร นักลงทุนควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

ข่าวลือในตลาดหุ้นบ้านเรามีให้เห็นอยู่แทบทุกวัน ผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือ คนที่หลงเชื่อไปซะทุกเรื่อง โดยไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริง ทั้งยังทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีทั้งหลายกระหยิ่มยิ้มย่องทุกครั้งที่สร้างข่าวออกมาป่วนตลาด เพราะสามารถทำกำไรได้มากมาย เอกธนกิจเป็นบริษัทที่มีข่าวลืออย่างสม่ำเสมอไม่ว่าในยามรุ่งเรืองหรือตกต่ำ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นักลงทุนควรจะระมัดระวังไว้บ้างเมื่อได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับ "กลุ่มเอก"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.