'อินเด็กซ์' โมเดลวัฒนธรรมไดนามิก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

- ถอดทุกสลักความคิด กลไกการจัดการ "อินเด็กซ์ อีเวนต์ เอเจนซี่"
- เบ้าหลอมวัฒนธรรมแห่งการสร้างความตื่นตัว เร็ว แรง และแม่นยำเหมือนวิถีแห่งมิสไซส์
- สูตรความสำเร็จ วิธีคิดต้องมีเอกลักษณ์ สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง
- เปิดใจผู้นำแถวหน้า "เกรียงไกร กาญจนะโภคิน" ไม่เคยเชื่อว่าทำแล้วทุกอย่างคือดีที่สุด

เปิดกลไกการจัดการองค์กรที่ให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็นยิ่งกว่า 'จรวดมิสไซส์' ในการเหนี่ยวนำวิถีความสำเร็จมาให้ทั้งลูกค้าและตัวองค์กรเอง

"อินเด็กซ์ อีเวนต์ เอเจนซี่" ผงาดโมเดลวัฒนธรรมที่พร้อมรุก รบ และรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามา ณ วันนี้ผู้นำให้นิยามองค์กรแห่งนี้ว่าเป็น dynamic organization กับสไตล์การทำงานที่ฉับไว เร็วและแรงทุกสถานการณ์

สร้างเอกลักษณ์องค์กร

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ อีเวนต์ เอเจนซี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกิจกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงแนวทางการจัดวางวัฒนธรรมองค์กรว่า อินเด็กซ์มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง มีการวางทิศทางที่แตกต่างจากรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน จนกล่าวได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีความเป็นเอกลักษณ์มาก

โดยจุดเด่นขององค์กรแห่งนี้คือ บุคลิกพิเศษที่มีความตื่นตัวสูง มีความเร็วในการบริหารจัดการ "วิธีการคิดบางคนศิลปินสุดสุด แต่อินเด็กซ์ไม่ใช่ ทุกอย่างมาจบลงตรงการตลาดหมด เรามีโจทย์จากลูกค้า หรือหน่วยงานที่เราตั้งก็ไม่เหมือนใคร อย่างเช่น strategy event planer เราสร้างหน่วยงานที่เป็นรูปแบบใหม่ๆ หรือแผนก event designer ทิศทางของเราจึงเป็นอะไรที่พิเศษและปรับตัวตลอดเวลา"

เขากล่าวต่อว่า ตอนเริ่มธุรกิจอีเวนต์ มาร์เก็ตติ้งใหม่ๆ ไม่มีโมเดลให้เกาะ จึงต้องคิดขึ้นมาเอง มีการปรับเปลี่ยน หล่อหลอมจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์องค์กร โดยที่ไม่ได้ไปลอกเลียนแบบใครมา "แม้แต่หยิบยืมไอเดียเราก็ไม่รู้ว่าจะไปเอาของใครมา เพราะทิศทางองค์กรที่พิเศษ เราก็เลยมีความพิเศษ เป็นตัวเองค่อนข้างสูง และพอลงมือทำงานเราก็พิสูจน์ได้ว่าเราประสบความสำเร็จ เราก็เชื่อมั่นว่าโครงสร้างธุรกิจแบบนี้เดินไปได้ 16-17 ปีที่ผ่านมาอินเด็กซ์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีเศรษฐกิจ แต่จุดยืนหลักยังคงไม่เปลี่ยนคือ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในเชิงการตลาด"

นวัตกรรมใหม่ๆ ของธุรกิจประเภทนี้ สิ่งหนึ่งที่อินเด็กซ์ภูมิใจคือ การสร้างหน่วยงานใหม่ๆ รองรับทิศทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเช่น แผนก strategic event planer ที่เพิ่งเริ่มก่อตัวมาได้เพียงปีเศษ เป็นการตอบโจทย์รูปแบบการทำงานใหม่ๆ แนวโน้มใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ ตำแหน่ง Account Executive ที่เป็นภารกิจหลักในหลายองค์กร แต่ที่อินเด็กซ์จะไม่มีตำแหน่งงานลักษณะนี้ เพราะรูปแบบงานของอีเวนต์จะเป็นลักษณะโครงการ ชื่อตำแหน่งก็ควรจะเปลี่ยนเป็น project management ซึ่งมีความลึกของเนื้องานมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ชื่อ

"วิธีการคิดของเราเปลี่ยน ไปมาก กลุ่มงานหลายส่วนจะแยกไปตามหน้าที่การทำงาน แต่เราจะแบ่งใหม่เป็นลักษณะตำแหน่งงานเชี่ยวชาญเฉพาะทางไล่แต่ละแผนกไปเลย ให้ทุกคนเก่งไปคนละด้านและมีขอบเขตงานที่ตัวเองถนัดสร้างเป็นผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็น core brand value ของอินเด็กซ์

เราเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ดังนั้นบนพื้นฐานของความเป็นผู้เชี่ยวชาญเราะจะไม่ไปทำอะไรที่มีโมเดลอยู่ก่อนแล้ว หรือไปหยิบยืมใครมา บางคนนิยมการก็อปปี้ ซึ่งไม่ใช่ผิดหรือถูก แต่ไม่ใช่วิถีทางของเราเท่านั้นเอง"

โครงสร้างบริหาร

เกรียงไกรกล่าวว่า โมเดลการจัดการองค์กรของอินเด็กซ์ สิ่งที่เหมือนกันกับธุรกิจต่างชาติคือ เน้นความเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่สปีดของเมืองนอกเร็วสู้คนไทยไม่ได้ เพราะค่าตัวคนทำงานเมืองนอกสูง และใช้เวลาทำงานนานกว่าคนไทย เพราะแต่ละหน่วยธุรกิจเน้นคนไม่เยอะ พอคนไม่เยอะสิ่งที่เกิดขึ้นคือหนึ่งคนหนึ่งงานกว่าจะทำเสร็จได้ต้องใช้เวลา

"อย่างบริษัทในยุโรปคนจะไม่เยอะมากสิบกว่าคนเอง ทุกอย่างจะกระจายให้บริษัทข้างนอกทำหมด และไปจ้างแต่ละบริษัทและเลือกเป็นคนๆ ไป ส่วนใหญ่จะเน้นครีเอทีฟกับบริหารเท่านั้น หรือไม่ก็ใช้คนข้ามชาติไปเลย ไม่เหมือนบ้านเราต้องเก่งทุกอย่าง

ข้อดีแบบฝรั่งถือได้ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ข้อเสียถ้าทำแบบนี้ในบ้านเราลูกค้าไม่มีปัญญาจ้าง ผมทำงานกับฝรั่งหนึ่งงานไม่รู้มาจากกี่ประเทศ ใหญ่สุดก็คือ event director ก็มีปัญหาบ้างเพราะแต่ละคนก็เก่ง แต่ก็เป็นธรรมชาติของธุรกิจรับจัดงานเมืองนอกเป็นแบบนี้"

โครงสร้างการจัดการของอินเด็กซ์ จะยืนอยู่บนพื้นฐานเดียวกับฝรั่ง ไม่ได้เน้นจ้างคนนอกมาทำ แต่สร้างคนในให้เป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ละแผนก ขณะที่โครงสร้างอินเด็กซ์กรุ๊ปซึ่งมีหลากหลายธุรกิจในเครือ ก็เน้นยุทธศาสตร์เดียวกันคือสร้างเชี่ยวชาญเฉพาะแต่ละด้าน ไม่มีใครพิเศษหรือเก่งอย่างเดียวทุกอย่าง

"เราแยกเพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน ไม่งั้นทำงานแล้วลำบากเหนื่อย การพัฒนาคนในองค์กรเราก็จะรักษาให้อยู่ระดับนี้เหมือนกันหมด สร้างให้เก่งแต่ละเรื่อง และสร้างแผนกย่อยเยอะๆ เวลาเอามารวมกันแล้วเราจะได้คนที่ดีที่สุด แล้วหยิบมาใช้งาน

เหมือนมีงานเข้ามาหนึ่งโครงการ ใครควรจะเป็นครีเอทีฟ ใครควรจะบริหารโครงการ ใครควรจะเป็น event designer ใครควรที่จะเป็น multimedia แต่เป็นการหยิบคนมาจากภายในองค์กร ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับเมืองนอก เราไม่เป็นกรุ๊ปที่เน้นความรู้เชิงกว้างไปหมด แต่จะมองในมุมที่เชี่ยวชาญที่สุดเสมอ"

เขาอธิบายต่อว่า ความแตกต่างของอินเด็กซ์กับบริษัทอีเวนต์ มาร์เก็ตติ้งอื่นๆ ลักษณะงานครีเอทีฟจะมีวิธีคิดเชิงกลยุทธ์เหมือนกัน แต่สไตล์บริษัทไม่เหมือนกัน บางบริษัทในกลุ่ม event company อาจจะเน้นงานอาร์ตมากๆ แฟชั่นโชว์ แล้วแต่ความถนัด ขณะที่อินเด็กซ์จะเน้นความคิดสร้างสรรค์ แต่ต้องเป็นเชิงกลยุทธ์ด้วย

ถือเป็นการคิดงานเชิงกลยุทธ์ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์แปลกๆ รูปแบบใหม่ๆ วิธีการคิดแบบใหม่ แต่ต้องมีไอเดียทางการตลาดด้วยเสมอ นั่นคือจุดยืนทางธุรกิจที่นำไปสู่การให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น event marketing expert

อีเวนต์งานของจรวดมิสไซส์

เขาวิเคราะห์ว่า โดยพื้นฐานของธุรกิจอีเวนต์ถ้าเทียบกับบริษัทโฆษณา ขอบเขตการทำงานในบริษัทโฆษณาจะกว้างกว่าบริษัทรับจัดงานอีเวนต์ เพราะว่าทำครอบคลุมหลายด้าน แต่อินเด็กซ์จะโฟกัสเฉพาะงานอีเวนต์ เพราะฉะนั้นจะต้องมองให้ขาดว่า จะคิดงานอย่างไรให้เกิดผลกระทบมากที่สุด

"เวลาเราคิดผลลัพธ์กลับมาเรามี ROI : Return Of Investment กลับมา โดยวัดตามวัตถุประสงค์ของลูกค้า จำนวนคนมาร่วมงานและกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับงานหรือไม่? วัตถุประสงค์ของลูกค้าจะพูดถึงยอดขายด้วย หรือเชิงพีอาร์สามารถวัดออกมาได้ว่างานที่จัดวัดผลออกมาทางหน้าหนังสือพิมพ์ ผลลัพธ์กลับมาเป็นอย่างไร? หรือวัดจากการตระหนักรับรู้ของคนที่เข้ามาร่วมงานในแง่มุมต่างๆ"

เกรียงไกรเล่าว่า อีเวนต์เป็นการสื่อสารที่จับต้องได้ชัดเจน เดิมงานโฆษณาเหมือนเป็นกองทัพอากาศ บินไปแล้วก็บอมส์แบบสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเรียกกันว่าระเบิดหน้าโง่ ปูพรมไปทั่วตามท้องไร่ท้องนา บ้านเรือน ศัตรูบ้าง คนของตัวเองบ้าง นั่นคือวิธีการใช้เครื่องบินแบบ mass media

ซึ่งเมื่อเทียบกับอีเวนต์ บางคนบอกว่าเหมือนทหารราบ แต่เขากลับมองว่านั่นเป็นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ที่เอาทหารราบไปยึดพื้นที่ อีเวนต์จริงๆ แล้วคือ จรวดมิสไซส์ ที่วันนี้ฉลาดพอที่จะยิงให้ตรงตัวกลุ่มเป้าหมาย "อย่างบ้านซัดดัมก็ไม่ต้องเปลืองจรวดหลายลูก ลูกเดียวลงบ้านซัดดัม และที่ฉลาดไปอีกคือติดกล้องจับภาพด้วย เอาไปขยายผลต่อได้อีก"

เขาบอกว่า อีเวนต์มาร์เก็ตติ้งฉลาดขนาดนั้น เพราะถ้าไม่ไปสร้างการรับรู้ให้แตกตัวออกไปคนจะรู้ไหม? คนก็ไม่รู้ ก็ต้องถ่ายทอดตั้งแต่จรวดวิ่งจากฐานไปถึงบ้านซัดดัม และติดตั้งกล้องเพื่อเอาภาพไปเผยแพร่ นี่คืออีเวนต์ ไม่ใช่แค่ทหารราบแต่เป็นมิสไซส์ เป็นสมาร์ทบอมส์ที่สามารถรายงานผลออกมาได้ด้วย

"วันนี้คุณต้องคิดเยอะๆ ฉลาดๆ แล้วยิงจรวดทีเดียว ทีนี้จะทำอย่างไร?ไม่ผิดเป้า ต้องยิงแล้วขยายผลเอาไปโม้ต่อได้ ว่ายิงอย่างไร? จรวดเข้าไปได้อย่างไร?"

เป็นแชมป์เพียงแค่ขยันซ้อม

บทบาทของอินเด็กซ์ในฐานะพี่เบิ้มของธุรกิจ ความยากง่ายของการจัดการผู้นำคือ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา 17 ปีของการทำธุรกิจอีเวนต์ มาร์เก็ตติ้ง เพราะทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอดเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจทั้งโลก และฐานลูกค้าที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแส

"ลูกค้าเรามีการเปลี่ยนแปลงทุก 2-3 ปีเสมอ เพราะกระแสธุรกิจเปลี่ยน ก่อนหน้านี้เบอร์ต้นๆ ของธุรกิจที่มีการใช้จ่ายอีเวนต์ มาร์เก็ตติ้งมากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม แต่วันนี้รูปแบบที่เล่นจะเป็นรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมการขายมากกว่า วันนี้คนที่จะมาเล่นในธุรกิจอีเวนต์ มาร์เก็ตติ้งก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว เราอยู่ในธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้ สิ่งหนึ่งที่ยากมากคือจะทำอย่างไรให้ปรับตัวให้อยู่ในกระแสธุรกิจนี้ได้ตลอดเวลา"

เขายืนกรานว่า เป้าหมายของอินเด็กซ์ไม่ได้มองเรื่องแชมป์ เพราะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องแข่งกับใคร แค่ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบริษัทก็เพียงพอ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจ ถ้าคิดว่าจะแข่งกับคนอื่น ก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ต้องไปนั่งดูคู่แข่งอยู่เรื่อยๆ ถือเป็นการมองที่แคบ

เพราะเมื่อไหร่มัวแต่ไปโฟกัสคู่แข่ง บางทีคู่แข่งอาจจะโง่ก็ได้ ในขณะที่คู่แข่งกำลังจะคิดเปลี่ยนยุทธศาสตร์ แต่เรากำลังไปก๊อปปี้เขา ทุกอย่างก็ช้าเกินการณ์ สิ่งที่อินเด็กซ์พยายามทำจริงๆ คือปรับตัว สร้างทิศทางที่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ เป็นไปตามลักษณะรูปแบบธุรกิจว่า ในอนาคตธุรกิจประเภทนี้น่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป ควรจะปรับองค์กรเป็นแบบไหน? ควรจะเป็นรูปแบบนั้นมากกว่า

"คือวิธีการคิดที่จะพัฒนาองค์กรให้สามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างเข้มแข็ง มากกว่าที่เราต้องการจะเป็นที่ 1 ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไรเลย สำหรับผม เฉยๆ คนอาจจะบอกว่าโอโห รักษาแชมป์ไว้ได้ แต่จริงๆ รักษาแชมป์ก็แค่ขยันซ้อม ถ้าคุณคิดว่า คุณไม่ได้รักษาแชมป์แต่ต้องการทำสิ่งที่ดีกว่าวันนี้มันก็เปลี่ยนวิธีการคิดแล้ว เช่น ถ้าผมอยากเป็นแค่ที่หนึ่ง ผมคงไม่ต้องออกไปฝ่าฟันตลาดเมืองนอกมั้ง ทำตลาดเมืองนอกไม่ใช่ต้องการเป็นที่หนึ่ง แต่เป็นเพราะว่ามีโอกาสรออยู่ข้างหน้า จะเห็นเลยว่าวิธีการคิดมันต่างกัน"

บทบาทผู้นำสร้างการตื่นตัว

อินเด็กซ์ออกแบบองค์กรให้เป็น dynamic company เพราะฉะนั้นบริษัทจึงเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า สิ่งที่ทำ ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด พอเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด ก็ถือว่าเปิดใจแล้ว เพราะถ้ามัวแต่คิดว่าสิ่งนี้ดีสุด แจ๋วสุด ก็คงยึดติดกับตรงนี้ เพราะฉะนั้นองค์กรที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เร็วต้องอยู่บนพื้นฐานว่า ไม่เคยเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

"ผมก็ไม่เคยเชื่อว่าอะไรที่ทำแล้วจะดีที่สุด พอเราเปิดใจก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะฟังคนมากขึ้น วันนี้เราต้องเรียนรู้และฟังคนมากขึ้น เราถึงจะรู้ว่าโลกเปลี่ยนอย่างไร? ถ้าเราจะไปเราจะไปแบบไหน? ตรงนี้เป็นประเด็นมากกว่า"

สไตล์การบริหารในโมเดลของเกรียงไกร เขาบอกว่า 1. เน้นกระจายอำนาจ 2. อบรมคนให้ เก่งที่สุด และ 3. ไปสร้างแรงบันดาลใจ ถือเป็น 3 เรื่องที่ต้องดูแลองค์กรในฐานะผู้นำ ทำอย่างไรให้พนักงานรู้สึกว่างานที่ทำเป็นอะไรที่ต้องตื่นตัวตลอดเวลา และไม่เคยมีวิธีการอะไรที่ถูกต้องและดีที่สุดเสมอ ดีที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งไม่ได้แปลว่าวันรุ่งขึ้นมันจะยังคงดี ทุกคนต้องช่วยกันพัฒนาและสร้างนวัตกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

"ผมเป็นคนที่ไม่มีโทรศัพท์เข้าตลอดเวลา เพราะอะไร? มาจากการกระจายอำนาจ ให้สิทธิ์ในการจัดการ ในการตัดสินใจ เราเพียงแต่ดูภาพรวมของธุรกิจ ดูวิธีการ ดูการฝึกอบรม สำคัญคือ ฝึกคนให้เก่งและเร็วที่สุด ให้เขาทำเองและเขาจะภูมิใจในงานที่ทำ"

ทุกวันนี้อินเด็กซ์พัฒนาองค์กรก้าวไกลสู่ความเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ จากการมองว่าใน 3 ปัจจัยหลักคือ ทักษะ โนว์ฮาว และครีเอทีฟ อย่างหลังสุดเป็นอะไรที่หยุดไม่ได้ จึงต้องพัฒนาให้เป็นองค์กรที่มี knowledge map ไม่ว่าจะเป็นเด็กเพิ่งจบหรือเคยทำงานมาจากไหน? จะต้องผ่านการเรียนรู้ที่รวดเร็วและพร้อมใช้งาน จากเดิมกว่าจะฝึกคนให้มาทำงานด้านนี้ได้ต้องใช้เวลาเป็นปี ตอนนี้ลดลงเหลือ 6 เดือนแล้วมา 3 เดือน เป็นเพราะการฝึกอบรมที่เน้นเรื่องโนว์ฮาวการจัดการ

"ความรู้ของคนมาทำธุรกิจอีเวนต์ จะใช้ความรู้หลากหลายมากๆ เช่น ทางด้านการตลาด งานสื่อสาร ดีไซน์ วิศวกร ศิลปิน หรือทางด้านบริหารจัดการเข้าใจทุกอย่าง องค์ประกอบของหนึ่งองค์กรอย่างเมืองนอกไม่สามารถรวบรวมกลุ่มคนที่มีลักษณะเหล่านี้ได้ แต่อินเด็กซ์ทำได้ภายในหนึ่งเดียว และไปมุ่งสร้างแต่ละแผนกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่นี่คนทำงานจบหลายสาขามาก ขึ้นกับว่าจะเหมาะสมหน่วยงานแบบไหนมากกว่า

ความสำเร็จของเราเพราะเราไม่หยุดนิ่ง ทุกคนมีสิทธิ์พูดว่าประสบความสำเร็จเหมือนการแข่งขันกีฬา ต้องมีคนตัดสิน ถามว่าวันนี้อินเด็กซ์ประสบความสำเร็จไหม? ส่วนตัวก็ยังเฉยๆ แต่ถามว่าเราอยู่ตำแหน่งตรงนี้ได้แล้วประสบความสำเร็จ เป็นเพราะเราไม่หยุดนิ่ง เราเหนื่อยตลอดเวลา ผมไม่เคยรู้สึกว่าได้พักเลย ตลอดการทำงาน 17 ปี"

เขาทิ้งท้ายว่า ธรรมชาติของธุรกิจเมืองไทย ส่วนใหญ่สำเร็จได้ด้วยการนำของคนๆ เดียว วันนี้อาจจะใช่อยู่ แต่ต่อไปจะอยู่ที่ความสามารถในการบริหารแล้วว่า ผู้บริหารคนนั้นสามารถสร้างแถวสองแถวสามขึ้นมาได้หรือไม่? ในส่วนตัวเขาเองตั้งความหวังไว้ว่า องค์กรต้องอยู่ต่อไปแล้วหาเบอร์สอง เบอร์สาม มองโอกาสการเติบโตทางธุรกิจและพัฒนาไปพร้อมๆ กับการสร้างคน

**************

5 Brand Value : ค่านิยมองค์กรอินเด็กซ์

I = Innovation เสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
N = No limit ให้บริการอย่างไม่มีข้อจำกัด เวลาลูกค้าเรียกร้องก็ yes ไว้ก่อนแล้วทำให้เป็นจริง
D= Do it right now คิดแล้วต้องทำ ทำให้เกิดขึ้นจริง
E= Efficiency ทำองค์กรให้มีประสิทธิภาพทั้งในมุมขององค์กรและลูกค้า วัดผลได้ มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าศิลปะ
X= Expert สร้างทุกคนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ

"นี่เป็น 5 brand value ถือว่าเป็นลักษณะเด่นของอินเด็กซ์ และคนส่วนมากก็พูดว่าอินเด็กซ์มีสไตล์ของตัวเองสูงมาก มีวิธีทำงาน วิธีคิด และวัฒนธรรมที่เป็นของเราเอง"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.