แผนก้าวกระโดด “บางกอกแอร์เวย์” 5 ปีขอเป็นผู้นำเส้นทางบินแถบอินโดจีน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

รายได้รวมของธุรกิจประมาณกว่า 7,000 ล้านบาทภายในสิ้นปี 47 ที่เติบโตมากกว่าทุกปีสูงถึง 25% ส่งผลให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์ดูจะมั่นอกมั่นใจกับการเป็นผู้นำเส้นทางบินในแถบอินโดจีนในอีก 5 ปีที่จะถึง โดยเฉพาะเส้นทางทำเงินอย่างสมุยช่วงสามเดือนแรกของปีมีการเติบโตสูงถึง 45% ทีเดียว สามารถสร้างผลกำไรเข้าบริษัทได้กว่า 200 ล้านบาท

จากภาวะน้ำมันราคาแพง และ ไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดลง จึงถูกมองว่าในอนาคตธุรกิจการบินจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมเครื่องบินแบบใหม่ๆ ซึ่งในปี 2553 น่าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะ เครื่องบินจะถูกออกแบบโดยใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง ขณะที่ภายในจะต้องจุผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการสายการบินบางกอกแอร์เวย์จะหยิบนำมาใช้เป็นกลยุทธ์สู้ศึกธุรกิจการบินในอนาคตอันใกล้นี้

น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด กล่าวอย่างมั่นใจว่าอีก ไม่เกิน 2 ปีข้างหน้าสายการบินบางกอกแอร์เวย์จะมีเส้นทางในแถบอินโดจีนมากกว่าการบินไทย ด้วยความที่เป็นผู้นำร่องเส้นทางใหม่ๆในแถบนี้มาโดยตลอด

สอดคล้องกับแผนธุรกิจในเส้นทางตลาดอินโดจีนในปัจจุบันที่มีอยู่ 19 เส้นทาง โดยเน้นทำเส้นทางบินที่มีอยู่แล้วตามแหล่งท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ มาสร้างเป็นจุดแข็งจัดขายเป็นแพกเกจตั๋วเส้นทางท่องเที่ยวแบบเชื่องโยงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย สุโขทัย –หลวงพระบาง-นครวัด – กรุงเทพฯ เพิ่มระยะเวลาการเดินทางให้มีมากขึ้น สอดคล้องกับกิจกรรมสะสมไมล์ที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์เริ่มนำมาใช้เพื่อกระตุ้นตลาดให้มีจำนวนยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีแผนเพิ่มเส้นทางบินให้เชื่อมโยงครอบคลุมทุกเส้นทางที่เป็นเมืองท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย และเส้นทางระยะไกล โดยเฉพาะกำลังศึกษาการเปิดเส้นทางบินใหม่ๆในแถบยุโรป เช่น กรุงเทพ-ลอนดอน ปัจจุบันมีการเปิดเส้นทางบินระยะทางไกลภายในปี 2548 ถึง 3 เส้นทางบินคือ กรุงเทพ-เจิ้งโจว,กรุงเทพ-หางโจว,และสมุย-ฮ่องกง

“ฮิโรชิม่า”เส้นทางแรกไปญี่ปุ่น

ตัวเลขของการท่าอากาศยานสากลกรุงเทพฯพบว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย.) กลุ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาไทยประมาณ 480,000 คนเพิ่มขึ้น 5% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีการเดินทางประมาณ 5% หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย เพิ่มขึ้นปีละ 8-10%

สอดคล้องกับการเจรจาหน่วยงานขนส่งทางอากาศของญี่ปุ่นเพื่อขอเพิ่มความถี่การบินระหว่างไทยไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันสายการบินบางกอกแอร์เวย์มีโอกาสเปิดเส้นทางบินใหม่ไปกลับกรุงเทพ-ฮิโรชิม่าทันที แม้ว่าจะเป็นเมืองประวัติศาสตร์แต่ก็มีกลุ่มธุรกิจประกอบรถยนต์อย่าง มาสด้า สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองฮิโรชิม่า และน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกจับตามากที่สุด

“เราวางแผนการบินไว้สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ใช้เครื่องบินแอร์บัส 320 ขนาด 162 ที่นั่งโดยจะเปิดให้บริการประมาณวันที่ 2 ธันวาคมศกนี้และคาดหวังว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางช่วง 4 เดือนแรกประมาณกว่าร้อยละ 80 ”น.พ.ปราเสริฐ กล่าวพร้อมกับเสริมว่า

ขณะเดียวกันจุดเด่นของเส้นทางบินนี้จะทำให้ผู้ที่อยู่ในฮิโรชิม่าสามารถเดินทางบินตรงเข้ากรุงเทพได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพราะแต่เดิมถ้าจะเดินทางเข้ากรุงเทพผู้โดยสารต้องเดินทางด้วยรถไฟ หรือไม่ก็ใช้สายการบินภายในประเทศญี่ปุ่นบินไปลงในแถบเมืองอื่นๆจากนั้นถึงจะเดินทางบินเข้ากรุงเทพได้ด้วยสายการบินไทย คิดเป็นอัตราเฉลี่ยในการเดินทางกินเวลาเป็นวัน

“สำหรับเส้นทางใหม่ที่บางกอกแอร์เวย์บินระหว่าง กรุงเทพ-ฮิโรชิม่า ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมงเท่านั้น พร้อมกับได้รับบริการ Boutiaue Premier Service และเมนูอาหารที่เลือกได้ถึง 3 เมนู”น.พ.ปราเสริฐ กล่าว

ผลพลอยได้ที่บางกอกแอร์เวย์จะได้รับคือ เส้นทางระหว่าง กรุงเทพ-นาโงย่า ที่จะเปิดเป็นแบบ เดลี่ไฟล์ท ซึ่งปัจจุบัน การบินไทยบินอยู่ แล้ววันละ 2 ไฟล์ท แต่ยังไม่เพียงพอ นับเป็นโอกาสทองของบางกอกแอร์เวย์ที่จะได้เข้าไปในตลาดนี้โดยถ้าตกลงกันได้ก็สามารถเปิดให้บริการประมาณเมษายน 49

เพิ่มเครื่องบินรองรับตลาด

โครงการเช่าซื้อเครื่องบินโดยสารอีกจำนวน 10 ลำ ด้วยงบลงทุนรวมที่มีไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมารองรับแผนการขยายตัวของธุรกิจสายการบินบางกอกแอร์เวย์ โดยเฉพาะการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆที่มีทั้งในแถบเอเชียและยุโรป

น.พ.ปราเสริฐ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแผนลงทุนระยะ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ 2549-2553 ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการแข่งขันในธุรกิจการบิน และการปรับลดต้นทุนในการบริหารจัดการในยุดน้ำมันแพง

เบื้องต้นมีแผนการลงทุนใน 2 ส่วนหลัก รวมมูลค่าราว 25,000 ล้านบาท ได้แก่ 1. การก่อสร้าง งวงเชื่อมทางเดินระหว่างอาคารจอดกับเครื่องบิน โดยจะทำที่สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท เริ่มดำเนินการในปีหน้า ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานงานด้านบริการในสนามบินสุวรรณภูมิ และ 2. การสั่งเครื่องบินใหม่เข้ามาในปีหน้า 4 ลำ เป็นเครื่องขนาดกลาง 2 ลำ และเครื่องขนาดเล็ก 2 ลำ เพื่อรองรับการขยายเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศ และแผนในปี 2553 จะนำเข้าเครื่องบินอีก 6 ลำตกราคาเครื่องละประมาณ 4,000 ล้านบาท กำลังอยู่ระหว่างเจรจา ว่าจะใช้เครื่องแอร์บัส รุ่น 350 หรือโบอิ้ง รุ่น 787

ขณะที่การลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริการภาคพื้นดิน ขนส่งทางอากาศ และการบริการด้านอาหาร โดยจะลงทุนให้เสร็จภายใน 2 ปี ตั้งเป้ามีส่วนแบ่งทางการตลาด 20% ของมูลค่าการบริการทั้งหมดในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าการบินไทยมีส่วนแบ่งที่ 50% และสายการบินอื่นๆ 30%

“การนำเข้าเครื่องบินของบางกอกแอร์เวย์ จะเป็นในรูปแบบ leasing option to buyคือ เป็นเงื่อนไขคล้ายกับสัญญาเช่าซื้อ แต่มีเงื่อนไขพิเศษ คือ ถ้าพอใจก็จะซื้อขาด แต่ถ้าไม่พอใจก็คืนเครื่องกลับไปเมื่อหมดสัญญา ซึ่งบริษัทอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า”น.พ.ปราเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.