|
"ตลาดทุน"รับบทบาทผู้ช่วยมือขวารัฐ หน้าที่สำคัญเป็นมากกว่าแหล่งระดมเงิน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ดูเหมือว่าตลาดทุนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐในยุกโลกาภิวัตน์ไปแล้ว ด้วยบทบาทสำคัญที่ไม่ใช่เพียงแค่แหล่งระดมเงินเท่านั้น แต่รัฐยังได้หมายมั่นปั้นตลาดทุนให้แข็งแกร่ง ศักยภาพพร้อมเพื่อรองรับทุนระดับโลกที่เคลื่อนย้ายไปมาอย่างไร้สัญชาติในการเสาะแสวงหาตลาดที่น่าสนใจต่อการลงทุน ไม่เพียงเท่านั้นแนวคิดที่รัฐต้องการพัฒนาและเพิ่มความสำคัญของตลาดทุนเทียบเท่าตลาดเงิน เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้ประเทศ
ย้อนกลับไปในอดีตก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 บทบาทของตลาดทุนเมื่อเทียบกับตลาดเงินเหมือนคู่แข่งคนละชั้นกัน ในยุกนั้นตลาดเงินคือช่องทางสำคัญที่สุดทั้งของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งกู้เพื่อการลงทุนขยายกิจการ หรือฝากเพื่อกินดอกเบี้ยเพิ่มผลตอบแทน ทำให้ตลาดทุนเป็นแค่ช่องทางตัวลอง หรือทางเลือกที่ 2 ของภาคธุรกิจและประชาชนในข่ายนักลงทุนรายย่อย
แม้ที่ผ่านมาตลาดทุนจะมีการเติบโตขึ้นก็ตามแต่ก็เป็นไปตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของตลาดทุนเหมือนขาดสารอาหารบำรุงร่างกาย มีพัฒนาการแต่โตไม่เต็มที่ ไม่ได้รับการผลักดันบทบาทให้เท่าเทียมตลาดเงินทั้ง ๆ ที่ตลาดทุนก็เปิดมาแล้วถึง 30 ปี
ความไม่สมดุลของตลาดเงินและตลาดทุน อาจกระทบต่อเสถียรภาพประเทศได้เมื่อน้ำหนักของความสำคัญส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ตลาดเงิน และเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่วิกฤติเมื่อปี 40
ในตอนนั้นสถาบันการเงินได้ปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจเพื่อไปขยายกิจการ สินเชื่อที่ปล่อยนั้นเป็นเงินฝากประชาชนที่รัฐให้การค้ำประกัน ผลกระทบในตอนนั้นไม่อาจมีใครรู้ได้จนวันหนึ่งที่เศรษฐกิจดิ่งเหว ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ ไม่สามารถชำระหนี้ แบงก์ขาดรายได้ ประชาชนตกใจก็แห่ถอนเงินฝาก เมื่อแบงก์ไม่มีรัฐก็ต้องเข้ามาอุ้ม ล้มเป็นวงจรต่อเนื่องกันไป
หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไป การตระหนักถึงบทบาทสำคัญของตลาดทุนก็มีมากขึ้น ตลาดทุนกับตลาดเงินต้องสมดุลกัน การพัฒนาตลาดทุนให้มีบทบาทมากขึ้นก็เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับภาคธุรกิจ การระดมทุนในรูปแบบนี้ทำให้ภาครัฐไม่ต้องแบกรับภาระมากเหมือนที่ผ่านมา ภาคธุรกิจรู้จักบริหารความเสี่ยงเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสของนักลงทุนรายย่อยหรือประชาชนทั่วไปในการหาผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการฝากเงิน
ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ที่สำคัญในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาเร็วมาก การให้ความสำคัญที่ตลาดเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาและรักษาเสถียรภาพของประเทศในระยะยาว ต้องมีตลาดทุนเข้ามาเสริม และถ่วงให้เกิดความสมดุลอันเป็นประโยชน์ต่อการรักษาเสถียรภาพ
"ถึงทุกวันนี้ ยอมรับว่าตลาดทุนมีการพัฒนาขึ้นมาก เห็นได้จากตลาดหุ้นในอดีตที่ผ่านมาภาคการออมและการลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในขาตลาดเงิน เมื่อเทียบในช่วงก่อนวิกฤติ ขนาดของตลาดหุ้นมีสัดส่วนคิดเป็น 23%ของจีดีพี ปัจจุบันประมาณ 70%ของจีดีพี ขนาดที่ตลาดเงินจากสัดส่วน 120%มาเป็น70%"
ทนง บอกว่า แม้ตลาดจะมีการเติบโตในทิศทางที่ดี แต่ก็มีอีกหลายข้อที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อจูงใจนักลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มสถาบัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนแผนพัฒนาตลาดทุน 5 ปี โดยในรายละเอียดของแผนนั้นคาดว่าก่อนสิ้นปีจะมีความชัดเจนมากขึ้น
ตลาดหุ้นในยามนี้เหมือนพระเอกของภาครัฐก็ว่าได้ ด้วยบทบาทสำคัญที่มากกว่าแหล่งระดมทุน แต่เนื่องจากตลาดหุ้นไทยทุกวันนี้มีความผันผวนสูง เกิดจากการเล่นเก็งกำไรของรายย่อยที่ไม่ย่อยอย่างคิด
ทนง เชื่อว่า ทุกวันนี้รายย่อยเป็นตัวแปรที่ทำให้ตลาดผันผวน และเป็นรายย่อยที่มีอิธิพลสูงต่อการทำให้หุ้นขึ้นหรือลงได้เป็นการเข้ามาเล่นในลักษณะเก็งกำไร ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว การลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุนมากกว่า เนื่องจากการลงทุนหุ้นเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหาผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือการฝากแบงก์ ซื้อพันธบัตรเป็นต้น
ปัจจุบันสัดส่วนนักลงทุนรายย่อยมีถึง 63% จึงไม่แปลกใจที่รายย่อยจะมีอิทธิพลสูงต่อตลาดหุ้น ในขณะที่นักลงทุนสถาบันมีเพียงแค่ 10% นักลงทุนต่างประเทศ 27%
ทนง บอกว่า สัดส่วนของนักลงทุนสถาบันควรจะต้องมากกว่านี้เพื่อทำให้ตลาดมีเสถียรภาพไม่ผันผวนไปตามแรงซื้อขายที่เก็งกำไร เนื่องจากนักลงทุนสถาบันจะลงทุนระยะยาว
และจากความต้องการของรัฐที่อยากเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันให้มากกว่า กองทุนรวมจึงเป็นธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นตัวกลางในการดึงเม็ดเงินจากรายย่อยเพื่อไปลงทุนในตลาดหุ้น แต่ทั้งนี้ขุนคลังก็ได้ย้ำให้ธุรกิจกองทุนรวมมีการพัฒนาทั้งรูปแบบการให้บริการและสินค้าที่หลากหลายสนองความต้องการลูกค้ามากขึ้น เพื่อเป็นแม่เหล็กดูดรายย่อยให้เข้ามาลงทุนผ่านกองทุนรวม
การพัฒนาตลาดทุนให้แข็งแกร่ง ศักยภาพสูง มีเสถียรภาพ และความเป็นสากล ยังเป็นการรองรับกระแสทุนของโลกที่นับวันจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และทุนดังกล่าวมีการเคลื่อนย้ายอย่างอิสระไร้สัญชาติ เพื่อข้ามไปลงยังแหล่งที่น่าสนใจและคิดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาตลาดทุนนั้นก็เหมือนการแต่งตัวให้เป็นที่ดึงดูสายตานักลบงทุนต่างชาติ โดยหวังว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเข้ามาลงในตลาดทุนไทย
เพราะสำหรับภาครัฐแล้ว ณ เวลานี้ ถือว่ามีความต้องการเงินทุนจำนวนมาก ด้วยเหตุว่าต้องใช้เพื่อการลงทุนพัฒนาในโครงการขนาดใหญ่ และทุนไร้สัญชาติที่เคลื่อนย้ายไปมาในตลาดโลกก็เป็นที่จับตาต้องใจค่อนข้างมากในขณะนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐให้ความสำคัญกับตลาดทุนค่อนข้างมาก
ดังนั้น บทบาทของตลาดทุนไทยในวันนี้จึงเปรียบเสมือนผู้ช่วยมือขวาที่เป็นเครื่องมือสำคัญมากกว่าแหล่งระดมทุน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|