"ยาขม"ที่อาจเคลือบ"ยาพิษ"ถ้าส่งสัญญาณดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อพลาด!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สัญญาณจากธนาคารกลางสหรัฐหรือ "เฟด" และเสียงป่าวร้องขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากฝั่ง"บางขุนพรหม" ก่อนหน้านี้ เดินไปในทิศทางเดียวกันราวกับนัดหมายกันไว้ โดยหลักคือ ความพยายามควบคุมเงินเฟ้อ แต่สำนักวิเคราะห์บางแห่งกลับมองว่า การส่งสัญญาณที่ขาดความแม่นยำ อาจทำให้คนรับข้อมูลแปลงสัญญาณแบบผิดๆได้ โดยเฉพาะภาคครัวเรือน ผู้ประกอบการ และการลงทุนภาคเอกชน...

การกำหนดกรอบเงินเฟ้อด้วยการอัด "ยาขม" เพื่อควบคุมไม่ให้บานปลาย ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่เป็นระลอก เริ่มจะถูกจับตามองจากหลายสำนัก เพราะการอัดยาขมแรงๆอาจส่งผลที่ไม่คาดคิดต่อสภาพแวดล้อม

อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร(BT) ยังเชื่อว่า ในปี 2549 ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 1.0-1.5% โดยได้รับแรงกดดันจากสภาพคล่องในระบบที่มีแนวโน้มลดลง และจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

การขึ้นดอกเบี้ยแต่ละครั้งจึงหมายถึง การปราบเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ขณะเดียวกันก็ต้องการสกัดไม่ให้เงินทุนโยกไปลงทุนในต่างประเทศ
แต่การขยับขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้ง ก็ทำให้วิตกถึงปัญหาที่จะตามมา ถ้าการส่งสัญญาณดอกเบี้ยไม่แม่นยำหรือเกิดผิดพลาดขึ้นมา จาก "ยาขม" ก็จะกลายเป็น "ยาพิษ"ในทันที

ปฏิเสธได้ยากว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็คือ การพยายามลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ เพียงแต่ถ้าสังเกตให้ดี การขยายตัวของเงินเฟ้อเป็นผลมาจากดีมานด์น้ำมันในตลาด ไม่ใช่เศรษฐกิจร้อนแรงหรือฟองสบู่

" เงินเฟ้อเกิดจากแรงกดดันของซัพพลายไซส์ จากดีมานด์น้ำมันที่หลายประเทศมีความต้องการสูงมาก แต่ไม่ใช่ได้เกิดจากเศรษฐกิจฟองสบู่"

ดังนั้นทางการจึงต้องแม่นยำเรื่องข้อมูล ก่อนจะขยับดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง เพราะสัญญาณที่ผิดพลาดจะทำให้นักลงทุน การลงทุนภาคเอกชน หรือการก่อหนี้ครัวเรือนประเมินความเสี่ยงไม่ดีพอ

หากอัดยาขมหรือปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อปราบเงินเฟ้อแรงเกินไป ก็จะส่งผลลบต่อการจ้างงาน หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะคนจะชะลอการซื้อ ภาคธุรกิจอาจชะลอการลงทุน นอกจากนั้นการขยายการลงทุนและการปล่อยสินเชื่อภาคธนาคารพาณิชย์ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นด้วย

" การคาดการณ์ ไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ อาจส่งผลกับการลงทุนภาคเอกชน และภาคครัวเรือน ที่อาจจะก่อหนี้มากขึ้นหรือน้อยลงได้เช่นกัน ฉะนั้นการที่ทางการปรับประมาณการอยู่บ่อยๆ จึงต้องแสดงให้ได้ว่าข้อมูลต้องแม่นยำกว่าเดิม"

อนุสรณ์ บอกว่า การลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ปี 2549 ซึ่งมีวงเงินราว 2.9แสนล้านบาท จะทำหน้าที่ดูดซับสภาพคล่องในระบบ ซึ่งในที่สุดก็จะบีบให้ดอกเบี้ยวิ่งเร็วขึ้น ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับแหล่งเงินทุนด้วย โดยการเร่งระดมเงินออมในประเทศให้เพียงพอกับความต้องการส่งเสริมการลงทุนตรงจากต่างประเทศ

อนุสรณ์ ย้ำความสำคัญของแหล่งที่มาของเงินทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมทั้งในประเทศและต่างประเทศ สัดส่วนรวมกันกว่า 42% ของวงเงินทั้งหมด โดยการกู้เงินจากต่างประเทศจะมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะผลักให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น

ขณะที่การกู้ยืมในประเทศ ต้องคำนึงถึงความเพียงพอของเงินออม โดยการเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการออมควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้แก่งแย่งชิงทรัพยากรจนกระทบการลงทุนภาคเอกชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

อย่างไรก็ตาม สัญญาณหนึ่งที่เห็นได้ชัด ภายหลังอัตราดอกเบี้ยแบงก์พาณิชย์ต่างทยอยขยับขึ้น นั่นคือ ปริมาณเงินฝากไม่ได้ปรับตัวสูงมากนัก เพราะมีการเคลื่อนย้ายเงินจากตลาดเงินไปที่ตลาดทุน การระดมทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ รวมถึงการทยอยออกพันธบัตรประเภทต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ ที่ออกมาดูดซับสภาพคล่องไปเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธนาคารรัฐแทบทุกแห่ง ต่างก็ไม่ได้นิ่งอยู่เฉย มีการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับบัญชีเงินฝากหลายประเภท โดยส่วนใหญ่เป็นบัญชีวงเงินค่อนข้างสูงและพุ่งตรงไปที่การฝากระยะยาว จนมาระยะหลังมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะสั้น วงเงินไม่สูงมากนัก เพื่อดึงดูดให้เจ้าของเงิน นำเงินมากฝากเพิ่มมากขึ้น

ประธาน จิวจินดา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจ สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร คาดว่าอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ก็ยังคงได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวสูงตามแนวโน้มการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ

โดยเฉพาะเฟดยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.50-5% ในช่วงกลางปี 2549 ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป นอกจากนั้นความต้องการลงทุนในตราสารหนี้ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน
ยิ่งตลาดหุ้นผันผวนมากขึ้นเท่าไร นักลงทุนก็มักจะย้ายการลงทุนมาลงในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.