|
พาณิชย์ดันแฟรนไชส์อาหารไทยไปจีน ชิงมูลค่าตลาด16 ล้านล้านบาทต่อปี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กระทรวงพาณิชย์ หนุนธุรกิจแฟรนไชส์ไทยไปจีนเต็มพิกัด โดยเฉพาะแฟรนไชส์ร้านอาหารไทยที่กระแสบริโภคสมุนไพรมาแรง และอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 13.5 ชิงมูลค่าตลาดรวมที่มีกว่า 3.9 แสน USD ต่อปี เชื่อบริการแบบนุ่มนวลแบบไทยเป็นจุดดึงดูดลูกค้า แต่ยอมรับมีอุปสรรคมาก ขณะที่เจ้าของร้านออมทองเตือน ระวังเจ็บตัวขายแฟรนไชส์ไปจีน
ประชากรกว่า 1,300 ล้านคนและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นที่น่าจับตามองที่สุด โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศได้มีการจับจ้องและหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในประเทศจีนกันเป็นจำนวนมาก ในหลายธุรกิจด้วยกัน ซึ่งธุรกิจแบบแฟรนไชส์ถือเป็นหนึ่งธุรกิจที่มีอนาคตสดในจีน...
คาดแฟรนไชส์ในจีนขยายตัวสูง
จันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่าจากการเข้าไปศึกษาเชิงลึกในประเทศจีนของกรมส่งเสริมการส่งออก พบว่า ระบบแฟรนไชส์เป็นระบบที่ช่วยในการขยายธุรกิจได้อย่างไม่สิ้นสุด โดยเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
สำหรับตลาดจีนมีธุรกิจแฟรนไชส์ไปเปิดในจีนแล้วกว่า 1,800 ธุรกิจ ขณะที่ความหนาแน่นของธุรกิจแฟรนไชส์ต่อประชากรจีนทุก ๆ 100,000 คน อยู่ที่ 0.14 เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ แคนาดา ออสเตรเลีย ที่มีความหนาแน่นอยู่ที่ 8.33,4.36,และ 3.89 ตามลำดับ จึงถือว่าธุรกิจแฟรนไชส์ยังขยายตัวในจีนได้อีกมาก
อีกทั้งประชากรจีนจำนวนมากมีระดับรายได้เพิ่มขึ้น จากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนและใช้แรงงานจีนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนมีมากขึ้น ซึ่งธุรกิจเกี่ยวกับแฟรนไชส์ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าความงาม และสปา เป็นธุรกิจที่คาดว่าจะมีการขยายตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น
“ความแปลกใหม่ทางวัฒนธรรมและสังคมของจีนที่เปลี่ยนไปเป็นแบบวัตถุนิยมมากขึ้นนี้ส่งผลให้ประชาชนจีนนิยมสินค้าแบรนด์เนมและอาหารจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น กระแสการรักษาสุขภาพด้วยวิธีธรรมชาติ ทำให้อาหารไทยมีโอกาสสูงที่จะเติบโตอย่างมากในตลาดจีน”
โดยมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจร้านอาหารในจีน มี 391,900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 16 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งมีอัตราเติบโตของธุรกิจเฉลี่ยแล้ว มากกว่าร้อยละ 13.5 ต่อปี ขณะที่ร้านอาหารไทยปัจจุบันมีอยู่เพียง 71 ร้านเท่านั้น โดยอุปนิสัยของชาวจีนยุคใหม่ได้มีการนิยมกินอาหารเย็นนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะคนฐานะดีมักนิยมรับประทานอาหารต่างชาติมากขึ้น ส่วนเด็กวัยรุ่นนิยมทานอาหารฟาสต์ฟูดมากขึ้นด้วย จุดเด่นของคนไทยคือการบริการที่นุ่มนวลเชื่อว่าจะดึงดูดลูกค้าได้ดี
ระวัง!อุปสรรคยังมาก
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจแฟรนไชส์โดยเฉพาะประเภทร้านอาหารนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีจุดอ่อนที่สำคัญอีกหลายจุดด้วยกัน คือการนำเข้าวัตถุดิบอาหารไทยมาใช้ปรุงอาหารยังมีการห้ามนำเข้าพืชผักบางประเภท ทำให้การปรุงอาหารไทยทำได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ขายแบรนด์สินค้า ซึ่งจีนยังมีปัญหาเรื่องการลอกเลียนแบบ ทำให้โอกาสที่ร้านอาหารไทยจะถูกลอกเลียนแบบมีสูง การควบคุมดูแลแบรนด์จึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งราชการและเอกชนของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้แม้ว่ากฎหมายด้านธุรกิจแฟรนไชส์ในจีนได้ปรับปรุงได้ดีมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัตผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านอาหารแม่แบบต่างประเทศก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมตามขั้นตอนทางกฎหมายหรือในศาลของจีนมากนัก อีกทั้งการที่ต่างชาติจะไปเปิดธุรกิจในจีนต้องเป็นลักษณะการร่วมทุนกับจีนเท่านั้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารต้องมีใบอนุญาตจากทางการจึงใช้เวลาในการขอเป็นเวลานาน
“ส่วนมากนักลงทุนต่างชาติจึงพยายามหาผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตอยู่แล้วมาเป็นหุ้นส่วน ซึ่งต้องมีความไว้วางใจกันมาก ตรงนี้คือจุดที่หายาก ทำให้การขยายธุรกิจไปจีนค่อนข้างมีข้อจำกัด”
อย่างไรก็ดี ทางกรมส่งเสริมการส่งออก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเป็น 3 หน่วยงานที่คอยช่วยเหลือผู้ประกอบการแฟรนไชส์ให้ไปขยายตัวในต่างประเทศ
วอนรัฐช่วยเอกชนเจรจาการค้า
ลักขณนาจ มารควัฒน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทออมทอง จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจร้านอาหารรายแรกที่เข้าไปขายแฟรนไชส์ในจีน กล่าวว่าบริษัทได้ขายแฟรนไชส์ให้คนชาวสิงคโปร์ที่อยู่ในประเทศจีนไปเปิดร้านออมทองที่เสินเจิ้น ในปี 2546 พบว่ามีอุปสรรคมาก โดยเฉพาะเรื่องของความแตกต่างของวัฒนธรรมของคนจีนที่ไม่กินเผ็ดขณะที่อาหารไทยมีจุดเด่นที่ความเผ็ด ขณะที่การเจรจาธุรกิจระหว่างเอกชนกับเอกชนเองนั้นก็พบว่าคนไทยมักจะเสียเปรียบคนจีนมาก
“เพื่อนนักธุรกิจส่วนใหญ่ที่ไปทำธุรกิจที่จีนส่วนใหญ่ผิดหวังกลับมา เพราะถึงแม้จะเป็นการร่วมทุนแบบ joint venture แต่คนไทยก็มักโดนเอาเปรียบ”
ในส่วนของบริษัทก็ถือว่าโชคร้ายมากที่ในช่วงของการขายแฟรนไชส์เป็นช่วงของการเกิดโรคซาร์สวิกฤตหนักที่สุดในจีนและฮ่องกง ทำให้บริษัทไม่สามารถเดินทางไปดูแลควบคุมคุณภาพของอาหารและร้านอาหารได้ตามร้านอาหารต้นแบบ ขณะที่คนที่ซื้อแฟรนไชส์ของบริษัทก็ไม่สามารถมาดูร้านต้นแบบที่เมืองไทยได้ ทำให้การทำธุรกิจครั้งนี้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
“คนที่ซื้อแฟรน์ไชส์ไปก็ไม่ได้ใช้พ่อครัวคนไทย แต่ใช้พ่อครัวที่ทำอยู่ในร้านอาหารไทยในเมืองจีน ซึ่งไม่ได้คุณภาพตามที่ร้านกำหนด ขณะเดียวกันสำหรับค่ารอยัลตี้ที่คนซื้อต้องจ่ายให้บริษัททุกเดือน เขาก็ถือว่าเขาไม่ได้ใช้กุ๊กเราเขาก็ไม่จ่ายให้”
ทั้งนี้จากประสบการณ์จึงเห็นว่าในเมื่อการเจรจาธุรกิจกับคนต่างชาติแล้วคนไทยเสียเปรียบ จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในการช่วยเหลือในการเจรจาให้มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการครัวไทยสู่โลก ไม่อยากให้เอาเงินไปทุ่มอยู่กับสถาบันทางวิชาการที่ไม่เคยทำธุรกิจร้านอาหารจริงๆ แต่อยากให้นำเงินส่วนนี้มาผลักดันให้ธุรกิจคนไทยประสบความสำเร็จในต่างประเทศจะดีกว่า
โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องการตลาด และการสืบประวัติคู่ค้าที่อยากให้ตรวจสอบให้ว่าเป็นนักธุรกิจที่ตั้งใจทำธุรกิจกับไทยเราจริงหรือเปล่า มีประวัติไม่ดีทางการค้าหรือไม่ โดยข้อมูลเหล่านี้หากนักธุรกิจไทยศึกษาเองก็ต้องไปจ้างบริษัทเอกชนของต่างชาติซึ่งแพงมาก
“รัฐบาลช่วยยังไม่เต็มที่ แม้จะทำทุกอย่างแต่ก็ยังไม่เบ็ดเสร็จ ซึ่งการทำแบบนี้ถือว่าผลักเขาไปแล้วก็ให้เขาไปตาย คนไทยเหมือนโดนหลอกไปลงทุนก็มาก”
23 ชนิดผลไม้ไทยที่จีนอนุญาตให้นำเข้า
1. ทุเรียน
2. ลำใย
3. มังคุด
4. กล้วย
5. ลิ้นจี่
6. มะพร้าว
7. มะละกอ
8. มะเฟือง
9. มะม่วง
10. ฝรั่ง
11. ชมพู่
12. เงาะ
13. สัปปะรด
14. ละมุด
15. เสาวรส
16. น้อยหน่า
17. มะขาม
18. ขนุน
19. สละ
20. ลองกอง
21. ส้มเขียวหวาน
22. ส้ม
23. ส้มโอ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|