ทุนออสซี่ตบเท้าเข้าไทย เล็ง 6 ธุรกิจดาวรุ่ง-บีโอไอชี้ "ยานยนต์-เหมืองแร่"เด่น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ฑูตพาณิชย์ออสเตรเลีย ประจำไทย ระบุอานิสงส์เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย ดูดให้กองทัพนักลงทุนจากออสเตรเลีย เข้ามาลงทุนในไทย ชี้ 6 ธุรกิจดาวรุ่งที่ต้องการลงทุน ขณะเดียวกันเตรียมนำนักธุรกิจโรดโชว์ดึงคนไทยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม พร้อมเจาะตลาดสปา ด้านบีโอไอ แจงแนวโน้มทุนออสเตรเลียเข้าไทยมากขึ้นทั้งธุรกิจยานยนต์และเหมือนแร่

กรณีที่นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้ทำสัญญาเขตการค้าเสรีกับประเทศออสเตรเลีย ปรากฏว่านักลงทุนชาวออสเตรีเลียสนใจที่จะทำการค้าและการลงทุนกับไทยมากขึ้น เนื่องเพราะข้อตกลงการค้าเอฟทีเอระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ทำให้ผู้ประกอบการกิจการส่งออกของออสเตรเลียได้มาร์จินเพิ่มมากขึ้นจากการลดภาษี ดีกว่าที่จะไปบุกตลาด สหรัฐอเมริกาหรือยุโรปที่ต้องไปเจอกำแพงภาษีอีกมาก

ออสซี่ขนทุนไทย พันล้าน

โดยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่านักลงทุนออสเตรเลียได้สนใจเข้ามาลงทุนในเมืองไทยมากยิ่งขึ้น จากปี 2547 มีผู้สนใจเข้ามาลงทุน 14 ราย ขณะที่ปี 2548 ถึงไตรมาสที่3 นักลงทุนออสเตรเลียสนใจเข้ามาลงทุนและได้รับอนุมัติจากบีโอไอแล้ว 11 ราย และยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติอีกประมาณ 5 ราย ซึ่งการขอบีโอไอส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจเหมืองแร่และชิ้นส่วนรถยนต์

"ตัวเลขปี 48 มีเม็ดเงินจากออสเตรเลียในเมืองไทยประมาณ 1พันล้านบาท"

สาเหตุที่ทางออสเตรเลียเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจาก ข้อกำหนดเอฟทีเอซึ่งเป็นข้อกำหนดใหม่ให้นักลงทุนออสเตรเลียถือหุ้นได้มากขึ้นเป็น 61%

อีกทั้งรัฐบาลออสเตรเลีย ก็ให้การสนับสนุนการลงทุนในไทยใน6 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่, Airline catering, โรงแรม,ร้านอาหาร , ก่อสร้าง และการกลุ่มธุรกิจการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่นั้น ทางออสเตรเลียอยากเข้ามาลงทุนให้การทำเหมืองแร่ในเมืองไทยสามารถทำควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรมได้ โดยไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ก็มีผู้ที่สนใจหลายบริษัท โดยบริษัทออสเตรเลียที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทยแล้วก็คือบริษัท อัครา และเมื่อทำเอฟทีเอแล้วกลุ่มธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งคือ กลุ่มยานยนต์และ กลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ยังคงได้รับความสนใจเช่นเดิม

กลุ่มยานยนต์พาหนะธุรกิจดาวรุ่ง

มร. ฌอน ไรลีย์ อัครราชฑูตที่ปรึกษาประเทศออสเตรเลีย(ฝ่ายการพาณิชย์)และข้าหลวงพาณิชย์อาวุโส ประจำไทย ระบุว่า ธุรกิจดาวรุ่งที่นักธุรกิจออสเตเลียให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในเมืองไทย คือธุรกิจด้านยายยนต์ ล่าสุดมีบริษัทยานยนต์ของออสเตรเลียเข้ามาลงทุนในไทย 2 บริษัทด้วยกัน คือ บริษัท PBR automotive Thailand และบริษัท FMP GROUP ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างเป็นบริษัททำผ้าเบรกที่สนใจมาลงทุนในเมืองไทย กว่า 100 ล้าน

นอกจากนี้ ออสเตรเลียเองยังเน้นการส่งออกรถบรรจุผู้โดยสารขนาดใหญ่มายังเมืองไทย เช่น ยี่ห้อจีเอ็ม เป็นต้น ซึ่งออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงชิ้นส่วนอะไหล่และเครื่องตกแต่งรถยนต์มายังไทยด้วย ออสเตรเลียคาดว่าไทยจะมีการเติบโตจากการส่งออกรถยนต์มากขึ้นตามแผนการเป็นดีทรอยด์ออฟเอเชีย ดังนั้นด้วยการทำเอฟทีเอกับออสเตรเลีย ทำให้ออสเตรเลียได้เปรียบคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ เช่นญี่ปุ่นซึ่งยังไม่ได้ทำเอฟทีเอกับไทยในด้านรถยนต์ จึงคาดว่าจะมียอดนำเข้าอุปกรณ์และอะไหล่จากออสเตรเลียเพิ่มขึ้น

รวมไปถึงเรือยอร์ช เรื่อท่องเที่ยวขนาดใหญ่ต่างๆ ที่กำลังเพิ่มมากขึ้นตามชายทะเลในเมืองไทย ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของทางออสเตรเลียที่จะส่งออกมายังประเทศไทย โยเฉพาะที่ภูเก็ต และพัทยา ซึ่งมีจำนวนความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองไทย

ไทยนำเข้าสินค้าออสเตรเลียเพิ่ม 20%

อัครราชฑูตที่ปรึกษาประเทศออสเตรเลีย(ฝ่ายการพาณิชย์) กล่าวอีกว่านอกจากธุรกิจด้านยานยนต์ แล้วสินค้าออสเตรเลียที่เป็นดาวรุ่งเข้ามายังไทยยังมี 6 ชนิดด้วยกันคือ กลุ่มอาหาร ยานพาหนะ เครื่องอุปโภค สินค้าเกษตร ก่อสร้างและอุปกรณ์ก่อสร้าง และสินค้าทางการแพทย์ ทำให้ยอดส่งออกของออสเตรเลียมายังไทยเพิ่มขึ้น 20%

การเติบโตของสินค้าออสเตรเลียเกิดจาก กำแพงภาษีที่ลดลงทำให้ราคาสินค้านำเข้าของออสเตรเลียมีราคาลดลงตามไปด้วย อีกทั้งมีคนไทยไปเรียนหนังสือและท่องเที่ยวออสเตรเลียมากขึ้น ทำให้กลุ่มเหล่านั้นเคยชินในการรับประทานสินค้าจากประเทศออสเตรเลีย นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวออสเตรเลียที่เข้ามาในไทยก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการบริโภคสินค้าออสเตรเลียอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

"จะพบว่าตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำโดยทั่วไปจะมีสินค้าจากออสเตรเลียวางขายอยู่มาก โดยเฉพาะที่ วิลล่ามาร์เก็ต และที่ ท็อปส์ แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของชาวไทยที่ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์สินค้าจากออสเตรเลีย"

สินค้าอุปโภคบริโภคเตรียมเฮโลเข้าไทย

โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารนั้น จะมีการลดกำแพงภาษีลงจากเดิม ที่อยู่ที่ 20% จะลดลงมา สู่ 17% และลดลงไปเป็นช่วงๆจนกระทั้งเข้าสู่อัตรา 0% ในอีก 10 ปีข่างหน้า อีกทั้งมีความต้องการสินค้าเหล่านั้นจากไทยอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีสินค้าเกี่ยวกับอุปโภคบริโภคเตรียมเข้าไทยในหลายประเภทด้วยกัน เช่น เนื้อ ช็อกโกแล็ต พาสต้า น้ำตาล ซีเรียล ขนมปัง ไวน์และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงผักแลผลไม้ทั้งสดและแห้ง ตามฤดูกาล โยเฉพาะ องุ่นจากออสเตรเลีย นั้นถือได้ว่าเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมสำหรับคนไทยเป็นอย่างมาก และที่เป็นที่นิยมสูงสุดก็คือผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย เช่น ชีส นั้นก็เป็นที่นิยมอย่างมากในเมืองไทย สังเกตจากการเพิ่มเคาน์เตอร์ชีสในแต่ละซุปเปอร์มาร์เก็ตขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงคาดว่าในปี2549 ยอดจำนวนการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะตอนนี้มีนักธุรกิจออสเตรเลียสนใจในประเทศไทยมากขึ้น

ในด้านเครื่องอุปโภคนั้น ออสเตรเลียจะเน้นในด้านเครื่องสำอางซึ่งออสเตรเลียมีจุดเด่นที่เน้นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเป็นหลัก ที่เคยมีภาษีอยู่ที่ 20% จะลดลงมาที่ 16% และคาดว่าจะลดลงสู่ 0% ในอีกไม่รวมไปถึงการส่งออกในด้านจิวเวอร์รี่ เช่น โอปอล และเพชร และเครื่องนุ่งห่มที่กำแพงภาษีอยู่ที่ 30% จะลดลงมาเป็น 20% จะเข้ามาเจาะกลุ่มผู้บริโภคระดับสูง โดยยี่ห้อที่เข้ามาขายในเมืองไทยแล้วก็คือ ยี่ห้อMAMBO คาดว่าต่อไปจะมีเครื่องนุ่งห่มจากออสเตรเลียเข้ามาไทยหลากหลายมากยิ่งขึ้น

รุกผลิตภัณฑ์สปาทั่วไทย

ปัจจุบันออสเตรเลียยังเล็งเห็นการเพิ่มปริมาณธุรกิจสปาของไทย จึงทำให้ทางออสเตรเลียวางแผนบุกตลาดผลิตภัณฑ์สปาไทยมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดมีการแนะนำ 20 สินค้าสปา ที่จะเข้ามาในเมืองไทยกับสมาคมสปาไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการตอบรับจากเหล่าโรงแรม 5 ดาวและสถานบริการสปาที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เพราะผลิตภัณฑ์สปาในอนาคตจะมีการลดกำแพงภาษีลง เช่น essencial oil จากภาษี 5% จะเหลือ0% แชมพูจาก 20% จะเหลือ 16% เป็นต้น ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลียมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

" ต่อไปจะมีการ ROAD SHOW ผลิตภัณฑ์สปาจากออสเตรเลียไปที่ภูเก็ต และคาดว่าถ้าได้รับการตอบรับจากภูเก็ตอย่างกรุงเทพฯ คาดว่าจะมีการไปโรดโชว์ที่เชียงใหม่เพิ่มอีกแห่ง ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี เพราะผลิตภัณฑืสปาจากอสสเตรเลียมีจุดเด่นที่มีความเป็นธรรมชาติและสะอาดสูง"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.