ไทยพาณิชย์ปรับทัพรับแข่งขันเดือด


ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไทยพาณิชย์ เร่งปรับโครงสร้างรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอนาคต วางเป้ารักษาอัตราการขยายตัวของรายได้และกำไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้สูงขึ้น ล่าสุด ประกาศแต่งตั้งผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อีก 4 สายงาน ด้านผู้บริหาร มั่นใจรับมือเกณฑ์บาเซิล 2 ได้สบาย โดยไม่ต้องมีการเพิ่มอีกรอบ แม้ต้องใช้เงินกันสำรองหนี้ตามความเสี่ยงอีก 4 - 5 พันล้านบาท

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึง ผลประกอบการของธนาคารในไตรมาส 4 ของปี 2548 ว่า ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และอยู่ในทิศทางเดียวกับไตรมาส 3 แม้ว่าในปีที่ผ่านมาธนาคารจะมีรายได้จากรายการพิเศษมาก แต่ในปีนี้ธนาคารหารายได้อื่นมาเสริม เช่น รายได้จากค่าธรรมเนียมการบริการ และรายได้ดอกเบี้ย โดยปัจจุบันรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 40% ของรายได้รวมมาจากการขยายฐานลูกค้าและบริการของธนาคาร

"ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายที่จะรักษาระดับการขยายตัวของรายได้ และผลกำไรทั้งของธนาคารและกลุ่มบริษัทในเครือให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการให้ผลตอบแทนต่อการลงทุน (อาร์โออี) ที่สูงขึ้นด้วย"

ปัจจุบัน ธนาคารได้เน้นให้ความสำคัญกับระดับของความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งสำรวจโดยบริษัทวิจัยข้อมูลระดับโลก หรือ Gallup ซึ่งจากผลการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าล่าสุดชี้ให้เห็นถึงระดับความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจัดเทียบเท่ามาตรฐานโลก

โดยส่วนสาขาของธนาคารนั้น ปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้นจำนวน 682 สาขา ซึ่งในปี 2548 ธนาคารได้เปิดสาขาเพิ่มอีกกว่า 120 สาขา โดยในจำนวนรวมดังกล่าวมีสาขาที่อยู่ในระดับมาตรฐานโลกแล้วกว่า 40 สาขาทั่วประเทศ และได้ขยายจุดเครื่องให้บริการเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) อีก 840 เครื่อง รวมเป็น 2,800 เครื่องทั่วประเทศ

นายวิชิต กล่าวว่า ธนาคารยึดนโยบายสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดได้แต่งตั้งผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่เพิ่มอีก 4 สายงาน ประกอบด้วย นายประเวศ สุทธิรัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือข่ายสาขากรุงเทพ นายอมฤต เหล่ารักพงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายประมวลผลเทคโนโลยีสารสนเทศ นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ซึ่งการเตรียมการดังกล่าวจะทำให้ธนาคารมีความพร้อมที่จะรับมือกับการแข่งขันในอนาคต

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมในการรองรับกับเกณฑ์การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) หรือบาเซิล 2 ที่จะนำมาใช้กับธนาคารพาณิชย์ให้มีมาตรฐานเดียวกันในระดับสากล ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับเกณฑ์ดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว และเชื่อว่าจะมีความพร้อมก่อนปี 2551 ซึ่งเป็นปีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ไทยใช้บราเซิล 2 ในปี 2551

ทั้งนี้ ธนาคารจะต้องใช้เงินประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท เพื่อใช้กันสำรองหนี้ตามความเสี่ยงด้านปฎิบัติการในเกณฑ์การดำรงเงินทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บาเซิล 2 ) ซึ่งธนาคารจะใช้เงินกองทุนของธนาคารที่ปัจจุบันมีอยู่ในระดับสูงประมาณ 15% และยืนยันว่าธนาคารไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนเงินกองทุนของธนาคารเพื่อรองรับระบบดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่บาเซิล 2 ธนาคารจะได้ประโยชน์ด้านสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเคหะที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 30% ของพอร์ตสินเชื่อ ของธนาคาร ที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำโดยธปท.ให้น้ำหนักความเสียงที่ 35 % จากเดิน50% ประกอบกับมีหลักประกันสินเชื่อ ทำให้ต้องกันสำรองตามกฎเกณฑ์ใหม่น้อยกว่าปัจจุบัน

นอกจากนี้ การเข้าสู่เกณฑ์บาเซิล 2 จะทำให้ระบบสถาบันการเงินของประเทศมีความแข็งแกร่ง มีความเสี่ยงในการดำเนินงานน้อยลง และสามารถเผชิญกับความผันผวนในระบบเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญธนาคารจะมีระบบการอนุมัติสินเชื่อที่มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการลูกค้าด้วย ดังนั้นบาเซิล 2 จึงไม่ใช่เพียงการดูแลความเสี่ยง แต่จะเป็นเครื่องมือในการกำหนดกลยุทธ์ และการหาลูกค้า รวมทั้งการปรับพอร์ตสินเชื่อของูธนาคารพาณิชย์ในช่วงต่อไปว่าจะเจาะลูกค้ากลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มดี

ด้านนายหยกพร ตันติเศวตรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริหารความเสี่ยง ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การดำเนินงานของสถาบันการเงินภายใต้เกณฑ์บาเซิล 2 ทำให้ธนาคารต้องดูแลเงินกองทุนให้เพียงพอ ซึ่งเป็นโอกาสในการยกระดับคุณภาพของธนาคารและจะทำให้เห็นความแต่งต่างด้านคุณภาพของแต่ละธนาคารอย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งธนาคารเองต้องพยายามดำรงเงินกองทุนให้ได้มากขึ้น ทั้งนี้ การดูแลความเสี่ยงจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์จัดสรรเงินกองทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับข้อเสียของการดูแลภายใต้เกณฑ์บาเซิล 2 คือ ระบบธนาคารของไทยจะดูเหมือนล้าหลังกว่าธนาคารของต่างประเทศ เนื่องจากในต่างประเทศได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าวก่อนประเทศไทย รวมทั้งแรงกดดันจากคู่แข่งที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่งมีผลดีต่อประชนผู้ใช้บริการ เช่น สามารถเลือกใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ตามคุณภาพที่ตนเห็นได้อย่างชัดเจน ลูกค้าบางประเภทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.