ธ.ไทยทนุ ส่งท้ายปีเก่าด้วยการจับมือ FIN1 และ 2 สถาบันใหญ่รับเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ
MCC ในการจัดโครงสร้างหุ้นกู้ 3,500 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 TRANCHES และ
TRANCHE แรกเสร็จสมบูรณ์แล้ว ด้วยการออกในรูปของหุ้นกู้ด้อยสิทธิจำนวน 500
ล้านบาท อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 เดือนสูงสุดของไทยทนุ บวก 1.25%
ใน 5 ปีแรกและบวก 2.50% ใน 5 ปีหลัง
เป็นเรื่องน่ายินดีที่เกิดขึ้นระหว่างภาวะซบเซาของตลาดการเงินในบ้านเรา
จากการที่ 4+1 สถาบันการเงินให้ได้โคจรมาร่วมงานกัน
ดีลนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของธนาคารไทยทนุและบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ที่จะแสดงผลงานที่เป็นรูปธรรมภายหลังจากการประกาศเป็นพันธมิตรทางธุรกิจไปเมื่อต้นปี
'95 ที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ผู้บริหารของทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการเจรจาวางแผนการดำเนินงานร่วมกันในสายงานหลัก
ๆ คือ ด้าน INVESTMENT BANKING งานด้าน TREASURY งานด้าน CREDIT และส่วนที่เกี่ยวกับ
HUMAN RESOURCE รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วย
"งานด้าน TREASURY และด้าน CREDIT ผู้บริหารของทั้ง 2 องค์กรก็ได้มีการ
WORK ร่วมกันไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากเป็นดีลที่ไม่ชัดเจนเท่ากับดีลที่อยู่ในส่วนของ
INVESTMENT BANKING จึงไม่ได้มีการประกาศให้ทราบกันทั่วไป แต่งานในส่วนของ
IB จะเห็นเป็นรูปธรรมมากกว่า เราจึงต้องประกาศให้รู้ว่า เราทำอะไรไปแล้วบ้าง"
นิติกร ตันติธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยทนุ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
พร้อมกับเล่าต่อไปว่า
"ภายหลังที่มีการจับมือกับ FIN1 แล้วเราก็พยายามที่จะ CREATE DEAL
ร่วมกัน และตั้งเป้าไว้ว่า ภายในสิ้นปี '95 เราจะต้องสร้างดีลให้ได้ และในที่สุดเราก็ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ
บงล.เอ็มซีซี โดยเอ็มซีซี มีความต้องการเงินทุนระยะยาวในลักษณะอัตราดอกเบี้ยลอยตัว
เพื่อใช้เป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 (TIER2) เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท"
จากโจทย์นี้เองก็เป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาทางการเงินที่จะต้องหาวิธีในการจัดโครงสร้างเงินก้อนนี้
ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าและภาวะตลาด ณ ขณะนั้นด้วย ซึ่งดีลนี้นอกจากจะมีไทยทนุกับ
FIN1 แล้วยังมี PHATRA กับ NPAT มาช่วยเป็นกำลังสำคัญอีกด้วย โดยทั้ง 4 สถาบันและเอ็มซีซีได้มีการทำงานร่วมกัน
จนในที่สุดเงินจำนวน 3,500 ล้านบาทนี้ก็ใช้วิธีการระดมทุนในรูปแบบของการออกเป็นตราสารหนี้
โดยแบ่งเป็น 3 TRANCHES
TRANCHES แรกออกเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ จำนวน 500 ล้านบาท อายุ 10 ปี มี CALL
OPTION ในปีที่ 5 อัตราดอกเบี้ยอิงกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนสูงสุดของธนาคารไทยทนุ
บวก 1.25% โดยจะมีการจ่ายดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือนและทุก ๆ เดือนที่ 3 ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยสำหรับ
3 เดือนต่อไป และหากสิ้นปีที่ 5 เอ็มซีซี ไม่มีการเรียกคืนหุ้นกู้ อัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนจะได้รับก็คือ
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนสูงสุดของธนาคารไทยทนุ บวก 2.50%
"ก้อนแรกนี้ เราจะจำหน่ายให้กับนักลงทุนประเภท PRIVATE BANKING CUSTOMER
หรือลูกค้าระดับ VIP ของธนาคารที่มีความต้องการตราสารหนี้ระยะยาวในอัตราผลตอบแทนที่ดีด้วย
เนื่องจากลูกค้าประเภทนี้จะมีความเคยชินกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ตัวนี้จะได้ผลตอบแทน
1.25% บวกกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนสูงสุดของธนาคาร ถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม
เนื่องจากเราพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจย้อนหลัง 4 ปีแล้วพบว่า อัตราดอกเบี้ยในปี
'95 อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าทุกปี ซึ่งก็น่าจะสูงพอแล้ว ต่อจากนี้ไปอัตราดอกเบี้ยก็อาจจะอ่อนตัวลงบ้าง
ซึ่งเราอาจจะคาดผิดก็ได้ แต่อัตราผิดตอบแทนของหุ้นกู้ตัวนี้จะมีทั้งลอยตัวและคงที่
ส่วนของลอยตัวก็คือ ลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนสูงสุดของธนาคารไทยทนุ
และส่วนที่คงที่ก็คือ บวก 1.25% ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นการรักษาผลตอบแทนให้กับนักลงทุนตลอด
5 ปีแรกของการถือหุ้นกู้ และเป็นการรับประกันว่า ไม่ว่าภาวะตลาดจะตึงตัวหรือซบเซาแค่ไหนนักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินกับ
BANK เสียอีก" นิติกรอธิบายถึงอัตราผ่ลตอบแทนที่น่าสนใจของหุ้นกู้ก้อนแรกของเอ็มซีซี
ซึ่งนอกจากไทยทนุกับ FIN1 จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว ทั้ง 2
สถาบันยังรับบทบาทเป็น UNDERWRITER ให้กับหุ้นกู้ก้อนนี้ด้วย
"แม้ว่าเราจะทำหน้าที่เป็น UNDERWRITER โดยตรงไม่ได้ เนื่องจากเรามีเพียงใบอนุญาตที่ปรึกษาทางการเงินเท่านั้น
เรายังไม่มีใบอนุญาตให้ทำธุรกิจ UNDERWRITE ได้ ดังนั้นเราจึงทำได้ในลักษณะของการเป็น
CO-ORDINATOR หรือผู้ประสานงานให้กับดีลนี้ ซึ่งก้อนแรกนี้เราต้องการขายให้กับนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่เป็น
PRIVATE BANKING CUSTOMER" นิติกรชี้แจง
ส่วนหุ้นก้อนที่ 2 ที่คาดว่าจะออกภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ไทยทนุและ FIN1
ก็ยังคงทำหน้าที่ไม่แตกต่างจากก้อนแรกโดยหุ้นกู้ก้อนนี้จะออกเป็นวงเงินประมาณ
1,500 ล้านบาท และในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ หุ้นกู้ก้อนที่ 3 ก็จะตามมาในวงเงินประมาณ
1,500 ล้านบาทเช่นเดียวกัน โดยมี PHATRA และ NPAT ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
และ LEAD UNDERWRITER ร่วมกับไทยทนุ และ FIN1 ด้วย ทั้งนี้ ใน 2 ก้อนแรก
PHATRA และ NPAT ก็ร่วมเป็น CO-UNDERWRITER ด้วย
ลักษณะและคุณสมบัติของหุ้นกู้ 2 ก้อนหลังนี้จะใกล้เคียงกับก้อนแรก เพียงแต่จะมีการใช้กระบวนการ
BOOK BUILD ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการนักลงทุน
และภาวะตลาดที่สุด
"ดีลนี้น่าจะเป็นดีลตัวอย่างที่ดีที่ทั้ง 4 สถาบันสามารถจับมือร่วมงานกันได้
และทุกฝ่ายก็ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน คือ ในแง่ของไทยทนุกับ FIN1 ก็ได้ทำงานร่วมกันเป็นทั้งที่ปรึกษาทางการเงินในดีลแรกและดีลที่
2
ส่วนทาง PHATRA และ NPAT ก็ได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในดีลที่ 3 นอกจากนั้น
ทั้ง 4 สถาบันยังร่วมเป็น UNDERWRITER และ CO-ORDINATOR ให้กับทั้ง 3 ดีล
ซึ่งผลประโยชน์ทั้งหมดนี้ก็ตกต่อลูกค้าเราก็คือ เอ็มซีซี ทำให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการระดมเงินเพื่อเสริมสร้างเงินกองทุนขั้นที่
2 ได้อย่างสมบูรณ์ โดยในปัจจุบันเอ็มซีซีมีเงินกองทุนรวมที่สูงอยู่แล้ว โดยมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเมื่อเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมาอยู่ที่
11% (เป็นตัวเลขเดียวกับ TIER1 เนื่องจาก MCC ไม่เคยออก SUB DEBT มาก่อน)
และเมื่อมีส่วนของ SUB DEBT จำนวน 500 ล้านบาทเข้าไปก็จะส่งผลให้อัตราส่วนดังกล่าวนี้สูงขึ้นเป็นประมาณ
12% นอกจากนั้น การระดมทุนด้วยวิธีนี้ยังช่วยกระจายฐานลูกค้าของเอ็มซีซีออกไปอีกด้วย"
นิติกรกล่าว
นับได้ว่า ไทยทนุกับ FIN1 สามารถแสดงผลงานจากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจได้อย่างงดงาม
ดีลนี้เป็นเพียงดีลเริ่มต้นของทั้ง 2 สถาบัน ซึ่งคิดว่ายังมิได้หยุดเพียงแค่นี้
"ในอนาคต เรากับ FIN1 ก็ยังคงทำงานเคียงคู่กันไป แต่ไม่ได้หมายความว่า
เราจะไม่ทำงานร่วมกับคนอื่น ไทยทนุเปิดกว้างเสมอ เพียงแต่ FIN1 จะเป็น PARTNER
ที่เราพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ" นิติกรกล่าว
สำหรับจุดแข็งที่ FIN1 จะเข้ามาเสริมให้สายงานวาณิชธนกิจของไทยทนุก็เป็นเรื่องของการจัดโครงสร้างของดีลและการกระจายการจำหน่าย
โดยเฉพาะส่วนของตราสารหนี้ ซึ่งนิติกรยอมรับว่า ไทยทนุยังไม่มีความชำนาญเพียงพอ
"การมีใบอนุญาตที่ปรึกษาทำให้ไทยทนุสามารถทำงานได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาในการออกตราสารหนี้
ตราสารทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ซึ่งแน่นอนความยากง่ายของแต่ละตราสารต้องประสบอยู่แล้ว
เราก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจพอสมควร เราคิดว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว
หนทางข้างหน้ายังสดใส ในอนาคตเราคงได้จับดีลที่ใหญ่กว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้
FIN1 หนึ่งใน BIG PLAYER ของตลาดตราสารหนี้บ้านเรามาเป็นกำลังสำคัญ เราเชื่อว่าเราทำได้ดีแน่นอน"
นิติกรกล่าวอย่างมั่นใจ
ไทยทนุประกาศปี 2000 เป็นแบงก์พาณิชย์ชั้นดี ติดอันดับ TOP FIVE ของเมืองไทย
"เมื่อปี 1994 ไททนุได้วาดฝันไว้ว่า เราจะต้องเป็นธนาคารขนาดเล็กที่ดีที่สุดให้ได้ภายในปี
1997 โดยในอดีตไทยทนุมีสินทรัพย์ประมาณ 50,000 ล้านบาท ในขณะที่เราตั้งเป้าไว้ที่
120,000 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นปีที่ผ่านมาปรากฏว่า ไทยทนุมีสินทรัพย์สูงถึงเป้าที่ตั้งไว้แล้ว
เท่ากับว่าแผนที่เราวางไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้นได้บรรลุผลสำเร็จเร็วกว่าระยะเวลาที่ตั้งไว้
1 ปี
นอกจากนั้น เรายังตั้งเป้าไว้ว่า คุณภาพของสินเชื่อเราต้องดี…นั่นคือสิ่งที่เราพูดไว้ตั้งแต่ปี
'94 ซึ่งก็สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังของปี '95 ที่ไม่ดีเท่าที่ควร
ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ชาวต่างชาติเริ่มมีการพูดถึงคุณภาพสินเชื่อ แต่เรากลับไม่กังวล
เพราะเราเตรียมการมาก่อนหน้านั้นแล้วด้วยการรักษาคุณภาพของสินเชื่อและสินทรัพย์ของเราให้อยู่ในระดับ
TOP3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งเราก็สามารถทำได้" ผู้บริหารหนุ่มกล่าวอย่างภูมิใจ
และเขาเชื่อว่า ณ วันนี้ ไทยทนุได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อปี 1995 แล้ว
"ก้าวต่อไปของไทยทนุจะไม่ได้เป็นการพูดถึงธนาคารขนาดเล็กที่ดีที่สุดอีกต่อไปแล้ว
แต่เรากำลังพูดถึงการเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศไทย ซึ่งแผนปี 2000
เรื่องขนาดจะไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไปแล้ว แต่เราจะก้าวเข้าสู่เรื่องของประสิทธิภาพในการทำงาน
เรื่องบุคลากร เรื่องเทคโนโลยีที่จะกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการให้บริการกับลูกค้าของเรา
ระบบโครงสร้างขององค์กรเราจะต้องกะทัดรัด และสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2000 ชื่อของธนาคารไทยทนุจะติดอันดับ
1 ใน 5 ของธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย" นี่คือแผนของธนาคารไทยทนุที่จะเดินต่อไปนับจากนี้
ทั้งนี้ ธนาคารไทยทนุได้มีการดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี
'95 เป็นต้นมา พร้อมทั้งล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ธนาคารได้ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก
910 ล้านบาท เป็น 2,550 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 164 ล้านหุ้น
มูลค่าหุ้นละ 10 บาท เพื่อจัดสรรให้แก่บุคคลและนักลงทุนประเภทสถาบันแบบเจาะจง
(PRIVATE PLACEMENT) จำนวน 34 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 140 บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น
4,760 ล้านบาท และจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมอีก 125 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน
1:1 ในราคาหุ้นละ 10 บาท พร้อมทั้งจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 5 ล้านหุ้นสำรองไว้สำหรับรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นของใบสำคัญแสดงสิทธิที่ออกให้แก่กรรมการและพนักงานของธนาคาร
"การเพิ่มทุนครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารไทยทนุมีเม็ดเงินเข้ามาประมาร 6,000
ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฐานกองทุนของธนาคารใหญ่ขึ้น และเป็นไปตามเป้าที่กล่าวข้างต้นนั้นเอง"
นิติกรชี้แจง พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า
"ผลการดำเนินงานในปีนี้จะต้องดีกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน เพราะเป็นผลพลอยได้จากการเพิ่มทุนในปีที่ผ่านมา
ซึ่งเราอาจไม่ต้องเพิ่มทุนอีกเลยใน 2 - 3 ปีข้างหน้า"
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ของปี '95 ที่ผ่านมา ปรากฎว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น
271.172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี '94 ที่อยู่ที่
224.883 ล้านบาท และมีขนาดของสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 114,876.121 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปี
'94 ที่อยู่ที่ 80,780.380 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 42.2%
ขณะที่มียอดสินเชื่อรวม 94,321.299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี
'94 ที่มียอดสินเชื่ออยู่ที่ 67,573.979 ล้านบาท และมียอดเงินฝากทั้งสิ้น
75,335.238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.6% จากไตรมาสเดียวกันของปี '94 ที่มียอดเงินฝากรวม
59,001.780 ล้านบาท
"สาเหตุที่ผลการดำเนินงานของเราค่อนข้างดีในช่วงปีที่ผ่านมาก็เนื่องจากว่า
เรามีการวางแผนจัดสำรองเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมทั้งในช่วงที่ภาวะตลาดปกติและผันผวน
โดยการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดนี้เองที่ทำให้ธนาคารมีเงินทุนมากเพียงพอต่อการขยายธุรกิจในปี
'97 ได้อย่างมั่นคง" ผู้บริหารหนุ่มแห่งไทยทนุกล่าวย้ำอย่างมั่นใจ