วาง5กรอบแก้หนี้เน่าแบงก์เฉพาะกิจ เตรียมเสนอคลังพิจารณาก่อนสิ้นปี48


ผู้จัดการรายวัน(28 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คณะทำงานกำกับแบงก์เฉพาะกิจ สรุปกรอบงาน 5 ด้าน ทั้งลดเอ็นพีแอล จัดทำกฎเกณฑ์กำกับดูแล ความจำเป็นในการเพิ่มทุน ยุทธศาสตร์ระยะยาว และประสานความร่วมมือระหว่างแบงก์รัฐ จี้เอสเอ็มอี แบงก์-บตท. ส่งแผนลดเอ็นพีแอลภายในสิ้นเดือน พ.ย. คาดได้ข้อสรุปเสนอ คลังปลายปีนี้ พร้อมมอบ สวค.ศึกษายุทธศาสตร์ระยะยาว-ประสานความร่วมมือด้านไอที

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุณทร์ ที่ปรึกษาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะประธานคณะทำงาน ย่อยประสานงานและกำกับการดูแล สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการทำงานของ คณะทำงานฯ ว่า ในการประชุมครั้ง แรกที่ประชุมได้สรุปขอบเขตงานไว้ 5 เรื่อง ประกอบด้วย

1.การเร่งลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่ง
2.การจัดทำกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลเพื่อสร้าง ความมั่นคง
3.การพิจารณาถึงความจำเป็น ในการเพิ่มทุน
4.การจัดทำแผน ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทางการตลาด
และ 5.การประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจในด้านต่างๆ เช่น ด้านไอที หรือสาขา เป็นต้น โดยจะต้องได้ข้อสรุปเป็นผลงานที่ชัดเจนเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ในช่วงสิ้นปี 2548 นี้

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะเร่งสรุป เรื่องแนวทางการลดเอ็นพีแอลเป็นอันดับแรก โดยได้สั่งให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งเตรียมข้อมูลเอ็นพีแอล 2 ส่วน คือ ตัวเลขเอ็นพีแอลตามเกณฑ์ในการจัดชั้นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตามเกณฑ์ภายในของสถาบันการเงินแต่ละแห่งเอง ซึ่งตัวเลขในส่วนนี้ยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำมาพิจารณา ว่า หากให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจนับเอ็นพีแอลตามเกณฑ์ของ ธปท. ทั้ง 100% จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง เช่น กระทบทุนเท่าไหร่ ต้องตั้งสำรองเพิ่มเท่าใด โดยให้สรุปตัวเลข ให้เรียบร้อยพร้อมกับเสนอแผนการ ลดเอ็นพีแอลให้อยู่ในช่วงระหว่าง 2% ถึงต่ำกว่า 10% ภายในสิ้นเดือน พฤศจิกายน 2548 และคณะทำงาน จะเรียกประชุมอีกครั้งในวันพฤหัสบดี ที่ 1 ธันวาคมนี้

"ให้เขาเสนอแผนการลดเอ็นพีแอลของตัวเองมาก่อน ก็อาจจะมีเรื่องของการโอนเอ็นพีแอลให้บริษัทบริหารสินทรัพย์บริหาร จัดการการปรับโครงสร้างหนี้ภายในและแนวทางอื่นๆ โดยจะต้องอยู่ในกรอบที่ รมว.คลังให้นโยบายไว้ คือ แต่ละแห่งต้องลดเอ็นพีแอลให้เหลือต่ำกว่า 10% ภายใน 3 ปี และกรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติที่ให้ธนาคารพาณิชย์ลดเอ็นพีแอลลงเหลือ 2% ในปี 2550 ดังนั้นเราจึงให้ กรอบไปว่า ให้ทำแผนลดเอ็นพีแอล ให้อยู่ในช่วง 2-10% ซึ่งในวันที่ 1 ธ.ค.นี้เราจะพิจารณาแผนการลดเอ็นพีแอลของธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาด ย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อ ที่อยู่อาศัย(บตท.) เป็น 2 แห่งแรกก่อน"

ลำดับต่อไป คือ เรื่องการจัดทำเกณฑ์ในการกำกับดูแลเพื่อสร้าง ความมั่นคงให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งจะต้องปรับให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจเฉพาะของสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่ง เนื่องจาก มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน คาดว่าน่าจะได้แนวทางสำหรับนำมา ใช้ในเดือนมกราคม 2549 สำหรับเรื่องการเพิ่มทุนจะต้องได้ข้อสรุป ที่ชัดเจนว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งใดบ้างที่จำเป็นต้องเพิ่มทุน และรัฐบาลต้องใส่เงินเข้าไปเพิ่มทุนจำนวนเท่าใด

ส่วนเรื่องการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวนั้น ทางสำนักวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) จะรับไปดำเนินการ โดยจะพิจารณาถึงการดำเนินงานของแต่ละแห่งในอนาคต พร้อมทั้งรับผิดชอบในเรื่องการประสานความร่วมมือทางด้านไอทีของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้าด้วยกันด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.