บนสังเวียนคอมพิวเตอร์ อย่าช้า อย่าเผลอ

โดย กุสุมา พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

"the network is the computer" หรือ "ระบบเครือข่าย คือ คอมพิวเตอร์" นับเป็นวิสัยทัศน์ที่ผู้บริหารบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ วางไว้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของบริษัทมากว่าทศวรรษ นับแต่ตลาดอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นได้ไม่นาน

แรกทีเดียว บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม ไมโครซอฟต์ อินเทล แอปเปิล ฮิลเลตต์แพคการ์ด ดิจิตอล และอื่น ๆ ต่างยังมองไม่เห็นว่า แนวคิดนี้จะเป็นผลให้เกิดการปฏิวัติในวงการคอมพิวเตอร์ครั้งใหญ่ในอนาคตได้อย่างไร ทุกคนยังคงสนุกอยู่กับการแสวงหากำไรภายใต้การดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ

ขณะที่ซันเชื่อมั่นมาตลอดว่า การทำงานของคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกับการทำงานของคน จำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันจึงจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวคิดของซันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาเมื่อภาษาจาวาถูกคิดค้นขึ้น และทำให้เป็นที่แพร่หลายด้วยการเปิดฟรีให้นักพัฒนาโปรแกรมทุกคนสามารถใช้ได้ ประกอบกับคุณสามบัติของภาษาจาวาเองที่ใช้จ่าย เข้าได้กับทุกระบบ และมีการรักษาความปลอดภัยที่ดี ทำให้ภาษานี้บูมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

การทำธุรกิจแบบเก่า ๆ ที่ต่างคนต่างทำงานบนคอมพิวเตอร์ส่วนตัวไม่มีการเกี่ยวข้องกัน ซึ่งไมโครซอฟท์ และอินเทล ครองตลาดทั่วดลกอยู่กว่า 80% กำลังถูกท้าทายด้วยซัน โดยมีอาวุธสำคัญ คือ จาวา บนสังเวียนที่เรียกว่า "อินเตอร์เน็ต"

ไตรรัตน์ ใจสำราญ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท ลอจิก จำกัด 1 ใน 2 ดีลเลอร์ของซันในประเทศไทย ให้ความเห็นว่า แนวโน้มของคอมพิวเตอร์ต่อไปจะมีการต่อระบบถึงกัน ซึ่งต้องเป็นระบบที่ถูก ดูแลรักษาไม่ยาก

"ทุกวันนี้ คนซื้อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพื่อจ่ายเงินให้ไมโครซอฟท์ และอินเทล ซึ่งตอนนี้เกือบ 100% ถูกผูกขาดโดย 2 เจ้านี้ ต่อมา 2 เจ้านี้ก็พยายามจะมากินตลาดเซิร์ฟเวอร์มากินยูนิกซ์ ก็ต้องมีการต่อสู้กัน ยูนิกซ์ก็พยายามสร้างเครื่องให้ราคาถูกลง และเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องให้หลากหลายขึ้น พวกนี้ก็ขึ้นไปกินมินิไปกินเมนเฟรมต่อไป" ไตรรัตน์เท้าความ

ครั้นตลาดอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น ซันจึงเกิดแนวคิดที่จะนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ปฏิวัติตัวเองขึ้นมา โดยการออกแบบระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขึ้นในลักษณะที่ว่า เครื่องลูกข่ายไม่จำเป็นต้องเก่ง หรือมีความจำที่มากจนเกินไป หากแต่สร้างเครื่องลูกข่ายเหล่านี้ให้มีความสามารถพอเหมาะกับความต้องการใช้งาน และมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ซึ่งเป็นเครื่องแม่ข่ายในการประสานงานและทำหน้าที่เก็บรวบรวมโปรแกรมหลาย ๆ อย่างไว้ด้วย เมื่อเครื่องลูกข่ายต้องการใช้งานก็จะดึงโปรแกรมมาจากเซิร์ฟเวอร์ได้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คอมพิวเตอร์ที่ต่อเชื่อมกันทั้งระบบโดยรวมมีราคาประหยัด และใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น มิใช่การใช้งานเพียงไม่ถึง 30% ของความสามารถทั้งหมดที่คอมพิวเตอร์มีอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำกันอยู่

ทั้งนี้ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ก็มิจำเป็นต้องเพิ่มที่ตัวเครื่องลูกข่ายแต่ละเครื่อง ซึ่งจะสิ้นเปลืองมาก ยิ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเครื่องเป็นพันเป็นหมื่นเครื่อง การอัพเกรดแต่ละครั้งจะต้องลงทุนมหาศาล หากแต่ในระบบเครือข่ายที่ซันออกแบบมาจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพที่ตัวจาวา สเตชั่น เซิร์ฟเวอร์เพียงตัวเดียวเท่านั้น

ไตรรัตน์ เล่าว่า "เมื่อซันเกิดแนวคิดที่จะใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตในการปฏิวัติตัวเอง ซันมองว่า คอมพิวเตอร์ของเราไม่ต้องเก่งเกินไป มีความจำมาก ๆ แต่เราสามารถดึงมาจากเซิร์ฟเวอร์มาทำงานเท่าที่ต้องการได้ ทำให้เราไม่ต้องผูกติดกับไมโครซอฟท์และอินเทลตลอดไป ดังนั้น ซันจึงสร้างภาษาจาวาขึ้นมาเพื่อรองรับคุณสมบัตินี้"

เกมการแข่งขันเริ่มขึ้นเมื่อออราเคิล และไอบีเอ็มชูประเด็นที่คล้าย ๆ กับซันขึ้นมา ขณะที่ไมโครซอฟท์ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยสนใจอินเตอร์เน็ต เริ่มเล็งเห็นแล้วว่าหากแนวคิดของซันเป็นผลสำเร็จขึ้นมา ต่อไปซันจะเป็นคู่แข่งขันที่อันตราย ไมโครซอฟท์จึงต้องพลิกตัวเองกลับมาเล่นในสนามนี้ด้วย โดยการจับมือกับอินเทล คอมแพค เดล และเดค

อย่างไรก็ตาม ไตรรัตน์ยอมรับว่า ซันคงไม่อาจหาญไปท้าแข่งกับยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์และอินเทล "ซันจะไปล้มไมโครซอฟท์คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราหวังแค่ว่าขอกินส่วนแบ่งตลาดของไมโครซอฟท์บ้างเท่านั้นเอง เพราะคอมพิวเตอร์ระดับล่าง (LOW END) ซันลงไปไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนระดับบนไมโครซอฟท์พยายามขึ้นมาโดยผ่านดิจิตอลและฮิวเลตต์แพคการ์ด แต่ทั้ง DEC และ HP เขาก็พยายามชิงความได้เปรียบให้ได้มากที่สุด"

ดังนั้น ซันจึงพยายามสร้างจาวาขึ้นมา และแสวงหาพันธมิตรเพื่อสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยกันเกื้อหนุนในด้านธุรกิจแล้ว การมีมิตรก็ย่อมดีกว่ามีศัตรูยิ่งในยามที่ซันยังตัวไม่ใหญ่นักเช่นนี้

ซันจับมือกับหลายค่าย โดยกระจายออกเป็นเรื่อง ๆ ไป แต่ในส่วนของอินเตอร์เน็ตนั้น สหายคู่ใจยามนี้ คือ เน็ตสเคป เพราะในแง่ของอินเตอร์เน็ตแล้ว เน็ตสเคปกับโลตัสนับเป็น 2 บริษัทสำคัญที่มีชื่อเสียงอยู่ แต่เมื่อไอบีเอ็มซื้อโลตัสไปแล้ว เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ซันก็มีทางเลือกน้อยลง

แม้ซันจะยืนยันว่าการที่ไอบีเอ็มซื้อโลตัสไปนั้น ไม่กระทบกระเทือนกับซันนัก เนื่องจากโลตัสเพิ่งเข้าตลาดอินเตอร์เน็ตได้ไม่นาน แม้จะมีชื่อเสียงอยู่บ้างก็ตามที แต่ซันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ขณะนี้เน็ตสเคปคือพันธมิตรที่สำคัญ หากเน็ตสเคปถูกซื้อไปอีกรายย่อมกระเทือนกับซันอย่างมาก นี่เองคือความเสี่ยงของการทำธุรกิจที่ยังไม่ครบวงจร แม้จะมีพันธมิตรแต่จะแน่ใจได้เพียงใดว่าจะเป็นมิตรกันไปนานแค่ไหน อย่างไร และจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้ความเป็นมิตรต้องจบลงอย่างไม่คาดฝันหรือไม่

ถ้าจะว่ากันไปแล้ว แนวทางของซันที่เริ่มต้นด้วยการหาพันธมิตรก่อนเพื่อการเติบโตนั้น จะเป็นผลดีในแง่การส่งเสริมธุรกิจในระยะที่ซันยังไม่ใหญ่โตนัก พร้อม ๆ กับป้องกันการถูกขัดขวางการเติบใหญ่ไปด้วยในตัว เพราะยังอยู่ในลักษณะที่บริษัทขนาดเล็กและกลางจำต้องพึ่งพิงกันจึงจะแข่งกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ แต่ในระยะยาวเมื่อซันเติบโตขึ้น พอที่จะมีเงินลงทุนให้ครบวงจรมากขึ้น ซันคงไม่รีรอที่จะลดความเสี่ยง และเพิ่มมาร์จินทางธุรกิจเช่นที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายทำกันอยู่เป็นแน่

แต่ในขณะนี้เกมต่าง ๆ ดูเหมือนเพิ่งเริ่มต้น ใครเร็วกว่า แรงดี และวิสัยทัศน์ยาวไกล ย่อมเป็นฝ่ายที่มีโอกาสอยู่รอดได้ในสังเวียนนี้ แม้ไมค์ ไทสัน ก็ยังแพ้ทีเคโอแก่อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ได้ในยก 11 หลายฝ่ายมองกันว่า เป็นผลจากการที่ไทสันประมาท ขณะที่โฮลีฟิลด์ฟิตซ้อมอย่างหนักมาตลอด ความพร้อมจึงต่างกัน ซันในยามนี้จึงเป็นบริษัทที่ใครประมาทไม่ได้เช่นกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.