การเติบโตของ ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ก้าวย่างไปพร้อม ๆ กับคอมพิวเตอร์ระบบเครือข่ายที่ผู้คนให้ความนิยมมากขึ้นเรื่อย
ๆ นักวิเคราะห์จาก IDC ให้ความเห็นว่า ระบบเครือข่ายจะไปได้เร็วแค่ไหนอยู่ที่การแพร่หลายของเทคโนโลยี
JAVA ซึ่งขณะนี้ ซันฯ เร่งปูพรมให้คนรู้จัก JAVA มากขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะแถบเอเชียใต้ซึ่งยอดขายพุ่งกระฉูดปีละ
2-3 เท่าตัว เป็นที่เชื่อกันว่าในปี 2543 มูลค่าตลาดรวมคอมพิวเตอร์เครือข่ายจะแซงหน้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
การปฎิวัติวงการคอมพิวเตอร์ของบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับระบบเครือข่ายมากขึ้น
ซันใช้ภาษาจาวาเป็นหัวหอกในการบุกทะลวงป้อมปราการของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
ซึ่งไมโครซอฟท์ และอินเทลครองตลาดอยู่กว่า 80% โดยตั้งความหวังในระยะเริ่มต้น
คือ ขอแค่แบ่งเค้กของ 2 ยักษ์ใหญ่นี้บ้างก็พอ แต่จะขอแบ่งไปเรื่อย ๆ จนไม่เหลือเค้กให้ใครหรือไม่นั้นยังเป็นอนาคต
เกมการแข่งขันในวงการคอมพิวเตอร์มีสีสันมากขึ้น เมื่อทุกฝ่ายเริ่มตื่นตัวและพร้อมจะเล่นเกมด้วย
ไมโครซอฟท์ อินเทล คอมแพค เดล และเดค จับมือกันประกาศขอลงสนามของคอมพิวเตอร์เครือข่าย
(Network Computer / NC) ด้วย โดยการประกาศถึงโครงการ NETPC หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครือข่ายราคาถูก
ซึ่งนับเป็นการพลิกตัวที่รวดเร็วไม่น้อย แต่สำหรับสินค้าที่จะออกมาอวดโฉมกันนั้น
ยังไม่มีการเปิดเผยเรื่องราคาและคุณสมบัติอื่น ๆ ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไป
ในขณะที่ ซัน ออราเคิล ไอบีเอ็ม และผู้ผลิตรายอื่นต่างก็อ้างว่าเครื่อง
NC ของตนมีจุดเด่นตรงที่ราคาถูกกว่า เสียค่าบำรุงรักษาน้อยกว่า และใช้งานง่ายกว่า
ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างผู้บริโภค คือ ผู้ตัดสินใจ
สำคัญที่จุดยืน
ไม่ว่าสนามของคอมพิวเตอร์เครือข่ายจะมีคนลงมาเล่นมากน้อยแค่ไหน จะเป็นลักษณะอย่างไร
จุดสำคัญคือเรื่องจุดยืน ความชำนาญและการฟิกซ้อมของแต่ละฝ่าย
นักกีฬา ย่อมมีเลือดนักกีฬาวันยังค่ำ แต่การเล่นกีฬาที่ถนัดย่อมมีโอกาสชนะคนที่ไม่ถนัดมากกว่า
วิถีทางเดียวที่นักฟุตบอลจะมาแข่งบาสเกตให้ชนะ คือ การฟิตซ้อมให้มากกว่าเจ้าสนามเดิมและมีทีมเวิร์กที่ดี
แต่ก็ต้องระวังเสียแชมป์ในกีฬาที่ตนมีเวลาเอาใจใส่น้อยลงด้วย การทุ่มงบวิจัยและพัฒนาของบริษัทคอมพิวเตอร์แต่ละแห่งคงจะพอตอบคำถามได้ว่า
บริษัทเหล่านี้ตั้งใจพัฒนาฝีมือกันแค่ไหน
ย้อนกลับมาดูที่ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ตลอดเวลา 14 ปีที่ผ่านมา นับแต่การก่อตั้งบริษัท
ซัน ประกาศวิสัยทัศน์ว่า "ระบบเครือข่าย คือ คอมพิวเตอร์" โดยเชื่อมั่นว่า
การทำงานของคอมพิวเตอร์ควรจะติดต่อสือ่สารกันได้โดยตรง เหมือนกับการทำงานของมนุษย์ผู้ที่นั่งควบคุมอยู่หน้าจอของมัน
แต่หากดูไปให้ลึกอีกสักนิดจะพบว่า สินค้าที่ซันมีอยู่ 5 ชนิด คือ เวิร์คสเตชั่น
เซิร์ฟเวอร์ สินค้าบริการ ซอฟต์แวร์ และสปาร์ค เทคโนโลยี สินค้าเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายทั้งสิ้น
วิสัยทัศน์ทำให้เกิดสินค้า หรือสินค้าคือที่มาของวิสัยทัศน์คงไม่สำคัญนัก
แต่เมื่อมีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องและมีการพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกัน นั่นคือเป้าหมายและจุดยืนว่าซันกำลังอยู่ในสนามอะไร
เล่นกีฬาอะไร
หลังเปิดตัวจาวา ซันยอดขายพุ่งกว่า 30%
จากงบการเงินของซัน ไมโครซิสเต็มส์ พบว่า ซันมียอดขายในปีงบประมาณ (1 ก.ค.
- 30 มิ.ย.) ของปี 2537 2538 และ 2539 เท่ากับ 4,690 5,902 และ 7,905 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ
หรือคิดเทียบกันปีต่อปีแล้ว ซันมีอัตราการเติบโตในปี 2538 เท่ากับ 26% และปี
2539 เท่ากับ 34% โดยมีส่วนต่างของกำไรสุทธิต่อยอดขาย (Net profit margin)
เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก 4.2% ในปี 2537 เป็น 6.0% และ 6.7% ในปีต่อ ๆ มา
และสำหรับไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2540 (ก.ค. - ก.ย. 39) ซันมียอดขาย 1,859
ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าในไตรมาส 1 ปี 2539 เท่ากับ 25% โดยมีกำไรต่อหุ้น
(Earning per share) เท่ากับ 0.63 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น
ซันมีตัวเลขยอดขายที่เติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีเพิ่มขึ้นค่อนข้างต่อเนื่องเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2539 ซันมียอดขายที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบูมของภาษาจาวา
ซึ่งเป็ตจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ให้เข้ามาสู่ระบบเครือข่ายมากขึ้น
ทั้งนี้หลังจากการประกาศตัวของจาวาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 มานั้น ราคาหุ้นของซันได้ทะยานขึ้นกว่า
3 เท่าตัวแล้ว
ปัจจุบันโปรแกรมเมอร์กว่า 300,000 คน กำลังขะมักเขม้นในการสร้างและพัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาจาวา
ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 3 เดือนก่อนถึง 100% ในสหรัฐอเมริกา มีหนังสือเกี่ยวกับจาวากว่า
150 ไตเติ้ลวางขายอยู่ในตลาดขณะนี้ เหตุที่ผู้คนให้ความสนใจกับภาษาจาวามาก
เนื่องจากเป็นภาษาที่ง่าย และค่อนข้างปลอดภัยนั่นเอง
สำหรับยอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกขณะนี้มีอยู่ประมาณ 128 ล้านคน และมีอัตราการขยายตัวถึงปีละ
128 ล้านคน และมีอัตราการขยายตัวถึงปีละ 42% โดยมีการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์มากกว่า
12.8 ล้านเครื่องใน 175 ประมาณทั่วโลก
ซันลุยเอเชียใต้ ปูพรมให้คนรู้จักจาวาก่อน
ตลาดที่กำลังโตอย่างเอเชีย ดูเหมือนจะเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก
โดยเฉพาะจากซีกโลกตะวันตก ซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในขั้นอิ่มตัวแล้ว คนเหล่านี้ต่างนำธุรกิจมากกมายและเทคโนโลยีใหม่
ๆ เข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชีย และแน่นอนธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน
ไลโอเนล ลิม กรรมการผู้จัดการซัน ไมโครซิสเต็มส์ ประจำภูมิภาคเอเชียใต้
กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้มีอัตราการเติบโตที่สูงมากอย่างต่อเนื่องและคาดว่าในปี
2540 นี้ ยอดขายในส่วนของเอเชียใต้จะเติบโตประมาณ 2-3 เท่าตัว
ลิม กล่าวว่า การขยายตัวของยอดขายเฉพาะในภูมิภาคนี้สำหรับปีงบประมาณ 2539
เทียบกับปีงบประมาณ 2538 เพิ่มขึ้นถึง 69% โดยเป็นส่วนของเอ็นเตอร์ไพร์ส
เซิร์ฟเวอร์เติบโต 40% และเน็ตตร้าอินเตอร์เน็ต เซิร์ฟเวอร์ ยูนิตเติบโตขึ้น
130%
เขามองว่า สินค้าสำคัญที่จะสามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อไปในภูมิภาคนี้คือ
เอ็นเตอร์ไพร์ส เซิร์ฟเวอร์ระดับสูง เน็ตตร้า อินเตอร์เน็ต เซิร์ฟเวอร์ และจาวาสเตชั่น
พร้อมทั้งตั้งเป้าว่า ในปี 2543 ซันจะมีอัตราการเติบโตของยอดขายโดยเฉลี่ยประมาณ
50% และสามารถทำรายได้จากภูมิภาคเอเชียใต้ได้ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของซันแบ่งตามภูมิภาคจะมาจากสหรัฐอเมริกาประมาณ
45% ยุโรป 23% ภูมิภาคอื่น ๆ อีก 32%
จากการวิจัยของอินเตอร์เนชั่นแนลดาต้า คอร์เปอร์เรชั่น (IDC) พบว่า มูลค่าตลาดไอทีรวมในภูมิภาคเอเชีย/แปซิฟิก
ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นมีการขยายตัวที่รวดเร็วมาก และคาดการณ์ว่าในปี 2540 มูลค่าตลาดรวมไอทีจะประมาณ
51,900 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2543 จะโตเป็น 86,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี
2539 นี้คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น หรือเทียบเป็นอัตราการขยายตัวต่อปีเฉลี่ยตั้งแต่ปี
2538 - 2543 เท่ากับ 20.3%
เดนนิส ฟิลบิน รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการของ IDC เอเชีย/แปซิฟิก
กล่าวถึงแนวโน้มสำคัญของภูมิภาคนี้ในช่วง 2540 - 2543 ว่า ตลาดจะยังเป็นของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและเซิร์ฟเวอร์
ส่วนโอกาสของตลาดอินเตอร์เน็ตจะเริ่มเข้ามาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นไป
เขามองว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาด PC นับตั้งแต่ปี 2538 - 2543 จะเท่ากับ
23.5% โดยในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 27.6% และในปี 2543 โครงสร้างของตลาด PC
จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยกระจายตัวไปตามบ้านเรือนมากขึ้น ซึ่งอาจจะแบ่งโครงสร้างได้เป็นครัวเรือน
30% ธุรกิจขนาดกลาง 21% ธุรกิจขนาดใหญ่ 17% ธุรกิจขนาดเล็ก 14% ภาคการศึกษา
7% ภาคราชการ 6% และบริษัทขนาดเล็ก 5%
ลิม กล่าวถึงการขยายตัวของซันในภูมิภาคเอเชียใต้ว่า "สิงคโปร์มีอัตราการเติบโตถึง
110% รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ 100% มาเลเซีย 65% ส่วนไทยโต 45% ซึ่งเป็นสองเท่าของตลาดไอทีรวมในประเทศไทยที่โตขึ้น"
ประเทศที่ลิมสนใจอยู่ในขณะนี้ คือ เวียดนาม ซึ่งซันเพิ่งเข้ามาเปิดตลาดไปได้ไม่นานนัก
เหตุผลสำคัญ คือ เวียดนาม เป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 2538 รายได้ประชาชาติของเวียดนามขยายตัวถึง
10% ส่วนในปีนี้มีการปรับตัวลดลงบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในระดับ 8 - 10%
อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีปัญหาในเรื่องสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นเนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามมีโครงการขยายถนนหลายสาย
สร้างท่าเรือ และระบบโทรคมนาคม ซึ่งโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการเหล่านี้จะเป็นส่วนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เวียดนามได้มากในอนาคต
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ยังคงติดปัญหาในเรื่องของค่าบริการอินเตอร์เน็ตซึ่งค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม ลิมเชื่อว่าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในไทย (ISP) จะมีการผลักดันให้ภาครัฐลดค่าบริการลงได้ในไม่ช้านี้
ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มยอดขายของซันในเมืองไทยต่อไป
สิ่งสำคัญที่เขาต้องเร่งทำในขณะนี้ก็คือ การประชาสัมพันธ์ให้คนในภูมิภาคเอเชียรู้จักเทคโนโลยีของจาวา
"ในปีนี้ IDC พูดกันมากถึงการเติบโตของตลาด PC ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ปี
2523 ขณะที่เห็นว่าตลาดเมนเฟรมกำลังตายลง ผมเชื่อว่า คนที่จะเข้ามาแข่งขันต่อไปจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยี
เช่น เทคโนโลยีของจาวา ยิ่งเราทำให้คนทั่วไปรู้จักเทคโนโลยีของจาวาเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น"
ลิมสรุป
แน่นอนการเผยแพร่ให้ผู้คนรู้จักเทคโนโลยีของจาวานั้น ซันทำมาโดยตลอดนับแต่วันแรกที่ประกาศภาษาจาวาให้ทั่วโลกได้รู้จัก
แต่แนวทางสำคัญที่ซันจะทำในอนาคต คือ การสร้างศูนย์ข้อมูลในการเผยแพร่เทคโนโลยีนี้ด้วย
การเผยแพร่ข้อมูลจะเป็นการดึงดูดให้คนเข้ามาใช้เทคโนโลยีของจาวา ซึ่งก็หมายถึงการขายสินค้าได้มากขึ้น
เพิ่มยอดขาย และผลกำไรให้แก่บริษัทในที่สุด
สำหรับเทคโนโลยีของจาวาที่ประกาศเปิดตัวมาอย่างต่อเนื่องนั้น โดยมีภาษาจาวาเป็นหัวหอกตามด้วย
ระบบปฏิบัติการจาวา (จาวาโอเอส) จาวาชิพ จาวาเทรนนิ่ง จาวาเวิร์กชอฟ จาวาบีน
และที่เปิดตัวล่าสุด คือ จาวาสเตชั่น
ซันได้วางเป้าหมายว่า เทคโนโลยีของจาวาจะเข้าถึงผู้ใช้ประมาณ 25 ล้านคนในปี
2540 เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำในวงการคอมพิวเตอร์ โดยการยอมรับจาวาเป็นมาตรฐานภาษาโปรแกรม
เช่น แอปเปิล ฮิวเลตต์แพคการ์ด ฮิตาชิ ไอบีเอ็ม ไมโครซอฟต์ โนเวล ชิลิ คอนกราฟฟิก
ดิจิตอลอีควิปเมนท์คอร์เปอร์เรชั่น ออราเคิล เป็นต้น
ปี 2543 ระบบเครือข่ายจะชนะ PC
ปี พ.ศ. 2543 หรือปี ค.ศ. 2000 เป็นปีที่ธุรกิจแทบทุกชนิดตั้งเป้าถึงการเปลี่ยนแปลงมากมาย
สำหรับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจคอมพิวเตอร์ก็คงไม่แตกต่างเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน
ซัน ไมโครซิสเต็มส์ได้ประกาศเปิดตัวเครื่องคอมพิวเตอร์เครือข่าย หรือ NC
อย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา
สก็อตต์ แมคนิลลีย์ หัวหน้าคณะผู้บริหารของซัน กล่าวในงานแถลงข่าวว่า "วันนี้ล่ะ
ที่คุณจะได้เข้าใจว่าทำไมระบบเครือข่าย คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งมันเป็นมาตั้งแต่ปี
2527 แล้ว"
ซัน อ้างว่า ระบบ NC ของตนมีจุดเด่นที่ราคาถูก เสียค่าบำรุงรักษาน้อย และใช้งานได้ง่าย
จาวาสเตชั่นจะเริ่มวางตลาดในเดือนธันวาคมนี้โดยมีราคาต่ำสุดเพียง 742 เหรียญสหรัฐ
ซึ่งถูกกว่าเครื่อง PC โดยทั่วไปไม่น้อยกว่า 25%
ลิม อธิบายว่า "ขณะนี้คลื่นของจาวาสเตชั่นบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นแล้ว
โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ จากการสำรวจของเราพบว่า ในองค์กรใหญ่ ๆ มีการใช้
PC แต่ละเครื่องเพียง 10-20% ของความสามารถทั้งหมดของมันเท่านั้น"
เขายกตัวอย่างถึงพนักงานประจำเคาน์เตอร์ในธนาคาร (เทลเลอร์) ซึ่งจะใช้ PC
เพียงเพื่อตรวจเช็กข้อมูล และป้อนข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่
PC สามารถทำอะไรได้อีกมากมาย แต่ธนาคารทั้งหลายที่ต้องการระบบอัตโนมัติก็ไม่มีทางเลือก
จึงต้องซื้อเครื่อง PC ซึ่งมีราคาแพงมาใช้ในงานเหล่านี้ด้วย
"จาวาสเตชั่น คือ ทางเลือกใหม่" ลิม กล่าวสรุป
จาวาสเตชั่น หรือเครื่องลูกข่าย มีรูปร่างเป็นกล่องสีเทาดำ ขนาด 9x12 นิ้ว
ไม่มีช่องใส่แผ่นดิสก์ ฮาร์ดดิสก์ สลอตและอื่น ๆ การทำงานของมันจะใช้วิธีการดึงโปรแกรมผ่านระบบเครือข่ายภายใน
เช่น เซิร์ฟเวอร์ หรืออินเตอร์เน็ตมา
ระบบภายในของจาวาสเตชั่นจึงไม่ซับซ้อนนัก เพราะไม่จำเป็นต้องมีหน่วยความจำมาก
ๆ มีความสามารถสูง ๆ เนื่องจากทุกอย่างสามารถดึงมาจากเครือข่ายได้ การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องก็ทำเพียงจุดเดียวที่เซิร์ฟเวอร์เท่านั้น
จึงทำให้จาวาสเตชั่นมีราคาถูก อัพเกรดได้ง่าย
ซึ่งในจุดนี้เองทำให้องค์กรที่มีการแข่งขันสูง และจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย
มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีของตนให้ทันสมัยขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้จ่ายสูงนัก
ซันเองไม่ได้คาดหวังว่า จาวาสเตชั่นจะสามารถติดตลาดได้ในเร็ววัน แต่หากเชื่อว่าจะโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า
นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยข้อมูล IDC ในสหรัฐอเมริกามองว่า อาจจะใช้เวลาประมาณ
2 ปีในการตีตลาดเครื่อง PC พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอนาคตของเครื่อง NC
นี้ขึ้นอยู่กับการแพร่หลายของเทคโนโลยีจาวาด้วย
สิ่งที่ซันมองมิใช่เพียงการสร้างตลาด NC จากผู้ใช้คอมพิวเตอร์กลุ่มใหม่
ๆ เท่านั้น แต่ซัน มองไปถึงตลาดทดแทนด้วย
ไตรรัตน์ ใจสำราญ ผู้จัดการทั่วไปบริษัท ลอจิก จำกัด ดีลเลอร์ของซัน กล่าวว่า
เครื่อง เวิร์กสเตชั่น เซิร์ฟเวอร์ PC และดัมป์เทอร์มิเนล มากมายกำลังล้าสมัย
ซึ่งซันประเมินว่าจะมีประมาณ 30% ซึ่งรวม ๆ แล้วนับล้านเครื่องต่อปี "ซันไม่ได้หวังเอาทั้งหมดหรอก
ขอแค่ส่วนหนึ่งก็พอ"
จากคุณสมบัติของจาวาสเตชั่น ที่ว่าราคาถูก บำรุงรักษาง่าย ใช้ได้ง่าย ประกอบกับกระแสการต่อเชื่อมคอมพิวเตอร์ให้เป็นระบบเครือข่าย
ซึ่ง IDC คาดว่าจะเริ่มต้นอย่างจริง ๆ ในปี 2543 ทำให้ผู้บริหารของซันมองว่า
เมื่อเวลานั้นมาถึงตลาดจะเป็นของ NC มากกว่าที่จะเป็นของ PC อย่างทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปี 2543 ตลาดจะเปลี่ยนมาเป็นของ NC อย่างที่ใคร ๆ
คาดคิด แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าทั้งหมดหรือส่วนใหญ่จะเป็นตลาดของซัน ไมโครซิสเต็มส์
ณ วันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ต่างมองเห็นจุดนี้ด้วยกันทั้งนั้น
และทุกค่ายต่างเตรียมตัวที่จะเข้ามาแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดตรงนี้ ซันอาจจะได้เปรียบในแง่ของผู้ที่เห็นหนทางก่อน
และเดินนำหน้าไปแล้วพร้อมกับเทคโนโลยีจาวาซึ่งทำให้เดินได้เร็วขึ้น แต่มิได้หมายความว่า
ซันจะถึงเส้นชัยก่อนเสมอไป