สุดยอดแฟรนไชส์ปี 48 : 'อาหาร' ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ครองแชมป์ดาวรุ่งปี 48


ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

'ผู้จัดการรายสัปดาห์' ได้รวบรวมสุดยอดธุรกิจแฟรนไชส์ดาวเด่นในรอบปี 2548 โดยมองถึงความเคลื่อนไหวทั้งด้านการงทุน โอกาสและความท้าทายในอนาคต ที่จะนำเสนอจำนวน 5 ตอน 5 ธุรกิจ ต่อเนื่องนับตั้งแต่ฉบับนี้

'อาหาร' ครองแชมป์อันดับ 1

จากการจัดอันดับธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจอาหารยังคงได้รับความนิยมอันดับหนึ่งทั้งจำนวนแฟรนไชซอร์ จำนวนแฟรนไชซี ซึ่งสอดคล้องและตอบสนองชาวไทยที่นิยมการบริโภคมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย จีน อิตาเลี่ยน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่อาหารเวียดนามได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี ธุรกิจอาหาร ได้ขยายธุรกิจสู่รูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้นภายใต้การลงทุนที่ไม่สูงจนเกินไปเพื่อให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และเอสเอ็มอีไทย มองว่า ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหารที่ไม่รวมกลุ่มเบเกอรี่และเครื่องดื่มในขณะนี้มีแฟรนไชซอร์เกือบ 140 แบรนด์ หรือคิดเป็น 38% ของตลาดซึ่งยังถือเป็นอันดับหนึ่งของตลาด

สำหรับการเติบโตของจำนวนสาขาแฟรนไชส์อาหาร มีการเติบโตมาก หากเทียบกับปี 2544 มาถึงปี 2548 มีการเติบโตถึง 3 เท่าตัว ส่วนจำนวนเงินในการลงทุน มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้อัตราการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 200,000 บาท จากเดิมที่จะต่ำกว่าหลักแสนบาท เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดเล็กไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับแฟรนไชซีได้ จึงต้องมีการปรับปรุงในหลายๆ ด้าน เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันในตลาด เม็ดเงินการลงทุนจึงเพิ่มสูงขึ้น คาดอนาคตอันใกล้แฟรนไชส์อาหารที่มีเงินลงทุนต่ำกว่าแสนบาทและที่เป็นรถเข็นจะเริ่มลดตัวลงเรื่อยๆ

ด้าน สมจิตร ลิขิตสถาพร เลขาธิการสมาคมแฟรนไชส์ไทยและไลเซนส์ มองว่า กลุ่มแฟรนไชส์ขนาดเล็กกลับมีปริมาณที่มากและมีรายใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งก๋วยเตี๋ยว กาแฟ โจ๊ก ไอศกรีม และขนมจีน ฯลฯ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 90% ขณะที่แฟรนไชส์ขนาดใหญ่มีเพียง 10%

ซึ่งการลงทุนได้มีการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบของร้านเป็นคีออสมากขึ้น สำหรับปริมาณการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์อาหารในปีนี้มีทุกระดับโดยราคาระดับกลางเริ่มตั้งแต่หลักหมื่นบาท-10 ล้านบาท อย่างไรก็ดีระดับราคาที่ได้รับความนิยมในการลงทุนจะอยู่ที่ 30,000-50,000 บาท และข้ามไปที่หลักราคาแสนบาท

คีออส-รถเข็น ทางเลือกนักลงทุน

สำหรับการลงทุนร้านแฟรนไชส์อาหารนั้น พบว่า ลักษณะรถเข็นและคีออส จะได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ เพื่อลดข้อจำกัดด้านเงินลงทุน พนักงาน ทำเลและพื้นที่ ที่นับวันเป็นต้นทุนที่สูงมาก

จากข้อมูลพบว่าแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวมีลักษณะร้านแบบรถเข็นมากที่สุด และมีการลงทุนเริ่มต้นประมาณ 34,000 – 72,000 บาท ขณะที่ลงทุนในรูปแบบของร้านจะอยู่ที่ 95,000 ขึ้นไป ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ไม่สูงมากนักทำให้การขยายตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวแต่ละแบรนด์มีการตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 30 สาขาต่อปี จนทำให้บางแบรนด์สามารถขยายสาขาจนถึงปัจจุบันได้ไม่น้อยกว่า 200-300 สาขา

ภูริวิชญ์ บุญส่งกิจ เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวกระทุ่มแบน และรสเด็ด ให้ข้อมูลกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ไว้ว่า ในปี 2548 ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารมีการหันมาขยายในรูปแบบของรถเข็นมากขึ้นประมาณ 70% ของธุรกิจแฟรนไชส์อาหารทั้งหมด เนื่องจากทุกรายพบว่าช่วงเศรษฐกิจวิกฤต แฟรนไชส์มีการลงทุนสูงทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจช้าทำให้ธุรกิจขยายตัวยาก เพราะต้องมีการเช่าที่ การหาลูกน้อง ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจนานและไม่กล้าลงทุน โดยระดับราคาของการขายแฟรนไชส์รถเข็นทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 บาท

ด้วยปัจจัยเหล่านี้เองทำให้ ภูริวิชญ์ ต้องปรับธุรกิจจากร้านก๋วยเตี๋ยวกระทุ่มแบนที่เปิดในรูปแบบของร้านมาเป็นรูปแบบรถเข็นภายใต้แบรนด์ใหม่ 'รสเด็ด' เนื่องจากจำง่ายและเพื่อเป็นการสร้างความแตกต่างจากตัวร้าน

'อาหารญี่ปุ่น' ลงทุนต่ำ แข่งแบรนด์ยักษ์

แฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่นถือว่าเป็นแฟรนไชส์น้องใหม่ที่เปิดตัวมาได้ไม่นานแต่สามารถสร้างกระแสจนมีผู้ประกอบการหลายรายหันมาเปิดตัวแฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแฟรนไชซอร์เหล่านั้นมองว่าตลาดกระแสอาหารญี่ปุ่นกำลังเป็นที่นิยมของคนไทยในขณะที่อาหารญี่ปุ่นในไทยกลับมีเพียงแค่ 2 แบรนด์ใหญ่ คือ โออิชิ ราเมน กับฮะจิบัง ราเมน

แต่ด้วยเทรนด์อาหารญี่ปุ่นมาแรง ทำให้รายใหม่เข้าแจ้งเกิดในรูปแบบแฟรนไชส์ ล่าสุด ‘โอมาอิชิ’ รูปแบบรถเข็นเงินลงทุน 85,000 บาท อาศัยช่องว่างตลาดที่แบรนด์ใหญ่เน้นโลเคชั่นในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก ซึ่งตั้งเป้าภายในปี 2549 จะขยายสาขาแฟรนไชส์ไม่ต่ำกว่า 200 สาขา

แม้ว่าจะต้องตั้งราคาการจำหน่ายแฟรนไชส์และราคาอาหารไว้ไม่ให้สูงมาก แต่ไม่สามารถตั้งให้ต่ำเท่ากับการแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวหรือแฟรนไชส์อาหารแบบไทยๆ ได้ โดยจากการสำรวจพบว่าระดับราคาการจำหน่ายแฟรนไชส์ของอาหารญี่ปุ่นมีอยู่ที่ 700,000 บาทขึ้นไป ในขณะที่ราคาจำหน่ายอาหารจะอยู่ที่ 35 บาทขึ้นไป

'อิตาเลี่ยน' มาแรงแซงโค้งสิ้นปี

แม้ว่าอาหารอิตาเลี่ยนจะเป็นที่รู้จักของคนไทยมานานหลายปี และอยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์แต่ก็เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์จากต่างประเทศซึ่งต้องมีการลงทุนที่สูงทั้งนั้นคือไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ดังนั้นการที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์อาหารอิตาเลี่ยนจึงเป็นสิ่งที่ยากสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินลงทุนที่ไม่สูง

ทำให้ผู้ประกอบการไทยหลายรายที่พอจะมีความรู้เรื่องของอาหารอิตาเลี่ยนต่างหันมาพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ของคนไทยเพื่อพัฒนาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์จำหน่ายให้กับคนไทย อย่าง พาสต้า ชาลี, สะปิคคิโอ และพิซซ่า บอย โดยร้านอาหารอิตาเลี่ยนแบรนด์ไทยจะเน้นการขายแฟรนไชส์ที่ราคาไม่สูงมีตั้งแต่ 45,000-2,500,000 บาทซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่ต่ำกว่าแบรนด์จากต่างประเทศ

ปัจจุบันร้านอาหารอิตาเลี่ยนซึ่งเป็นแบรนด์จากต่างประเทศสามารถขยายสาขาในแต่ละปีได้ไม่น้อยกว่า 10-20 สาขา ส่วนร้านอาหารอิตาเลี่ยนแบรนด์ไทยซึ่งเป็นแบรนด์น้องใหม่กลับพุ่งเป้าการขยายสาขาตั้งแต่ 5-200 สาขา

ด้านปริมาณความนิยมในการทานอาหารอิตาเลี่ยนในตลาดนั้น ยงยุทธ นิลเปล่งแสง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สินสงวนวัฒนา จำกัด ผู้ให้บริการร้านอาหารอิตาเลี่ยนพาสต้า ชาลี ได้กล่าวกับ “ผู้จัดการายสัปดาห์” ไว้ว่า เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาตนได้เล็งเห็นช่องว่างและโอกาสการเติบโตของอาหารอิตาเลียนที่ส่วนใหญ่เปิดให้บริการจำนวนมากนั้นยังคงกระจุกตัวโดยเฉพาะย่านถนนหลังสวนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าระดับเอ และค่าใช้จ่ายต่อคนตัวหัวเฉลี่ย 500-600 บาท แต่ขณะที่การให้บริการในห้างสรรพสินค้าซึ่งจับกลุ่มลูกค้าระดับบียังไม่มีคู่แข่งโดยตรง และสามารถบริหารต้นทุนราคาใช้จ่ายต่อคนต่อหัว 160-180 บาทเท่านั้น

ชูกลยุทธ์เข้าถึงตัวผู้บริโภค

ส่วนอาหารจีน ที่ขยายสู่แฟรนไชส์ แบ่งได้เป็นติ่มซำและสุกี้ ซึ่งปีที่นี้เป็นปีที่แฟรนไชส์อาหารจีนมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการเป็นอาหารระดับหรูหราในภัตตาคารเข้ามาสู่การเป็นอาหารที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภค แต่ไม่สามารถปรับราคาการลงทุนให้ต่ำลงได้มาก
อย่าง 'โชคดีติ่มซำ' ปีนี้ก็มีการปรับกลยุทธ์การตลาดจากติ่มซำที่ไว้สำหรับทานเป็นอาหารว่างมาสู่อาหารมื้อหลัก พร้อมทั้งสร้างกระแสด้วยการเปิด 24 ชั่วโมงเพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้บริโภคให้คนไทยรับประทานเป็นอาหารหลักและไม่จำกัดช่วงเวลา

ด้าน 'นีโอสุกี้' ก็มีการปรับกลยุทธ์ให้เป็นทิศทางเดียวกันซึ่ง สกนธ์ กัปปิยจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ ไทย เรสเตอร์รองส์ จำกัด ผู้ให้บริการแฟรนไชส์นีโอสุกี้ ให้ข้อมูลกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ไว้ว่า ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้าใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการรับประทานสุกี้จากหม้อร้อนๆ ทำให้บริษัทต้องปรับรูปแบบการบริการใหญ่เป็นลักษณะเคาท์เตอร์บาร์ หรือในลักษณะสุกี้บาร์ ซึ่งการเปิดสุกี้บาร์มีข้อดีตรงที่สามารถลดข้อจำกัดด้านการหาทำเลที่ตั้งเนื่องจากสามารถครบคลุมได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า บริเวณอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ที่มีชุมชนอาศัยอยู่ และยังสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่าย

สำหรับระดับราคาของการลงทุนแฟรนไชส์อาหารจีนจากการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่าแฟรนไชส์อาหารจีนไม่สามารถกำหนดราคาที่ถูกได้จึงต้องกำหนดราคาขายไว้ให้อยู่ในระดับราคา 150,000-2,000,000 บาท โดยแต่แบรนด์ต่างเชื่อว่าการเข้าหาผู้บริโภคให้มากขึ้นน่าจะทำให้เกิดยอดขายทั้งรูปแบบแฟรนไชส์และการจำหน่ายสินค้าสูงขึ้นด้วย ด้านจำนวนสาขาคาดว่าถึงสิ้นปีนี้โชคดีติ่มซำจะมีสาขาถึง 15 สาขา และจะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขาในปี2549 ส่วนนีโอสุกี้ปีนี้ขอหาทำเลเปิดเป็นร้านต้นแบบจำนวน 3 สาขาก่อน เพื่อเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ต่อไปในอนาคต

เจาะตลาดคนรักสุขภาพ

ด้วยความที่เทรนด์รักสุขภาพมาแรงอย่างต่อเนื่องทำให้ในช่วงปีนี้ธุรกิจอาหารสุขภาพยังคงได้รับความนิยมจากตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาหารเวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเวียนนามที่เป็นแฟรนไชส์มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ

เขตสินธุ์ ติวุตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นแอนด์พี โฮลดิ้งค์ จำกัด ผู้ประกอบการร้านอาหารเวียดนาม 'เฝอ' กล่าวไว้ว่า

"ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มลูกค้าที่เข้ามารับประทานที่ร้านเริ่มเป็นกลุ่มที่ห่วงใย รักษาสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เด็กผู้ชาย มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเป็นกลุ่มใหม่ที่จะเติบโตต่อเนื่อง เป็นการขยายฐานลูกค้าจากเดิมที่เป็นกลุ่มผู้หญิง"

ทั้งนี้ มองว่าธุรกิจอาหารสุขภาพมีแนวโน้มขายตัวได้ดี เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามแฟชั่น แต่มาจากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

จากการรวบรวมข้อมูล พบว่าแม้ว่าอาหารเวียดนามจะได้รับความนิยมจากตลาด แต่การเปิดแฟรนไชส์อาหารเวียดนามต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากถึง 1.2-5 ล้านบาท ทำให้การขยายตัวอาจจะต้องใช้เวลา อย่างไรก็ดีในแต่ละปีธุรกิจแฟรนไชส์อาหารเวียดนามมีการเปิดสาขาอย่างน้อยแบรนด์ละ 3-4 สาขา

(ฉบับหน้าติดตามเกาะกระแสแฟรนไชส์ธุรกิจกาแฟในรอบปี 48)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.