ธุรกิจให้เช่ารถยนต์ต้องคิดค่าเสื่อมอย่างไร

โดย สมเดช โรจน์คุรีเสถียร
ผู้จัดการรายสัปดาห์(25 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ประกอบการบางรายนอกจากจะทำธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการแล้ว มีธุรกิจบางประเภทที่สร้างรายได้ให้การประกอบธุรกิจค่อนข้างสูง ก็คือ ธุรกิจให้เช่าทรัพย์สิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจให้เช่ารถยนต์นั่งหรือรถเก๋งที่มีการเปิดแพร่หลายในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา หาดใหญ่ ที่ได้ทำธุรกิจให้นักท่องเที่ยวได้เช่ารถยนต์นั่งไปขับชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมไปถึงเช่ารถยนต์นั่งไปติดต่อธุรกิจเมื่อเดินทางมาถึงที่หมาย ธุรกิจให้เช่ารถยนต์นั่งจึงมีรายได้จากการให้เช่าทั้งรายวัน รายเดือนหรือรายปี

ผู้ประกอบการให้เช่ารถยนต์นั่งที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เมื่อได้ซื้อรถยนต์นั่งเข้ามาใช้ในกิจการเพื่อนำออกให้บุคคลหรือนิติบุคคลมาเช่ารถยนต์นั่งของตนเองจะต้องรู้จักความหมายของคำว่า "รถยนต์นั่ง" ตามประมวลรัษฎากรและพระราชบัญญัติสรรพสามิตดังนี้

"รถยนต์นั่ง" หมายถึง รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้นั่งเป็นปกติวิสัย และหมายรวมถึง รถยนต์ที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้าง/ด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่าง และมีที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด

เมื่อผู้ประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์นั่งได้ซื้อรถยนต์ดังกล่าวมาใช้ในกิจการเพื่อให้เช่า ถือเป็นทรัพย์สินของกิจการ ดังนั้นมีสิทธินำไปคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์นั่งซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายนำไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ปัญหาในการคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์นั่งตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 145 มาตรา 5 ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์นั่งให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท

เช่น บริษัทให้เช่ารถยนต์นั่งแห่งหนึ่งได้ซื้อรถยนต์นั่งมา 1 คันราคา 1,500,000 บาท ในทางภาษีอากรจะคิดค่าเสื่อมราคาไม่เกิน 20% ต่อปีในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ดังนั้นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำไปคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเป็นเงิน 200,000 บาท มูลค่าส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทก็คือ 500,000 บาทนั้นจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อได้จำหน่ายหรือขายออกไปตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 315 ได้กำหนดมูลค่าส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทไว้ดังนี้

มาตรา 4 รายจ่ายต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

(1) มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เกินคันละหนึ่งล้านบาท

(2) ค่าเช่าทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มี ที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เฉพาะส่วนที่เกินคันละสามหมื่นหกพันบาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือค่าเช่าส่วนที่เกินคันละหนึ่งพันสองร้อยบาทต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวัน เศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่าไม่ถึงหนึ่งวันให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่า ทั้งนี้ โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ด้วย

มาตรา 5 บทบัญญัติมาตรา 4(1) ไม่ใช้บังคับกับรายจ่ายที่เกิดจากการซื้อหรือการเช่าซื้อทรัพย์สินประเภทรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมาย ว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ในกรณีที่

(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจซื้อขายหรือให้เช่าซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อเป็นสินค้า หรือ

(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่ารถยนต์ มีรถยนต์ประเภทดังกล่าวไว้เพื่อการให้เช่า เฉพาะมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ปัญหาในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ซึ่งเป็นการให้เช่าทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น

การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น ให้คำนวณจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับรถยนต์แต่ละคันตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 และสำหรับมูลค่าต้นทุนคงเหลือหลังจากหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาและมูลค่าต้นทุนส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท

เมื่อขายทรัพย์สินดังกล่าวนั้นไปบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ (ที่ กค 0802/7035 ลงวันที่ 27 เมษายน 2536)

รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน มีข้อกฎหมายห้ามหลายฉบับด้วยกัน บางครั้งเราเรียกรถยนต์นี้ว่า "รถยนต์ต้องห้าม" เนื่องจากข้อห้ามของกฎหมายค่อนข้างมาก ดังนั้นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการมีรถยนต์นั่งให้เช่าจะต้องระมัดระวังเงื่อนไขดังกล่าว และหากเป็นไปได้ควรเลือกซื้อรถยนต์นั่งในราคาคันละไม่เกิน 1 ล้านจึงจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.