ก้าวใหม่ไทยพาณิชย์ ปีนี้ต้องเป็น LEARNING

โดย อนุสรา ทองอุไร
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ในปีนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ก็กลับมาชิงตำแหน่งธนาคารแห่งปี 2539 จากการจัดอันดับของวารสารทางการเงินการธนาคาร และถือได้ว่าเป็นการครองตำแหน่งนี้เป็นสมัยที่ 5 หลังจากที่เคยได้รับตำแหน่งไปเมื่อปี 2531-2534

การที่แบงก์ไทยพาณิชย์กลับมาทวงแชมป์ได้อีกครั้ง เป็นผลสืบเนื่องมาจากความสามารถด้านการตลาดและการจัดการทั่วไปที่เป็นอันดับ 1 ทั้ง 2 ด้าน โดยในแง่การตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์มีอัตราการขยายตัวของสาขาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีการขยายสาขาถึง 51 สาขา มากที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ นอกจากนั้น การติดตั้งเครื่องกดเงินอัตโนมัติ หรือเอทีเอ็ม ถือว่าเป็นอันดับสองรองจากธนาคารกรุงเทพโดยไทยพาณิชย์มี 123 เครื่อง ส่วนของธนาคารกรุงเทพมี 227 เครื่อง

นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังสามารถที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสาขาได้ ในแง่ปริมาณเงินฝากต่อสาขา เดิมเคยทำได้เฉลี่ย 74.44 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นเป็น 181.96 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 107%

ขณะเดียวกันในแง่สินเชื่อต่อสาขาเพิ่มจาก 122.46 ล้านบาท เป็น 204.99 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตถึง 67.37% ตัวเลขดังกล่าวเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า จุดขายหรือสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์มีเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลจากการปรับรูปแบบงานขององค์กรของธนาคารเป็นระบบ CBPM (CUSTOMER BASED BUSINESS PROCESS MANAGEMENT) ที่ยึดเอาลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ โดยสาขาแต่ละแห่งจะต้องเป็นผู้ที่กำหนด วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ที่รับผิดชอบ รวมถึงวิเคราะห์สินค้าผลิตภัณฑ์ที่จะตอบสนองกลุ่มลุกค้าและออกไปทำตลาดตามที่ได้วิเคราะห์ไว้

ในแง่การจัดการทั่วไป ธนาคารไทยพาณิชย์มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงองค์กรและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต

สำหรับผลประกอบการช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2538 ธนาคารไทยพาณิชย์สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2539 มีกำไรหลังหักภาษี 2,333.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมาจำนวน 339.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 17.03%

ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 6.13 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 16.98% สำหรับสินทรัพย์ที่เป็นเงินสดและเงินฝากกับสถาบันการเงินมีทั้งสิ้น 13,456 ล้านบาทเศษ

ซึ่งวิชิต อมรวิรัตน์สกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายงานเทคโนโลยี ของธนาคารไทยพาณิชย์เคยกล่าวกับผู้จัดการรายเดือนไว้ว่า

"ในแต่ละปีเราลงทุนเรื่องการพัฒนาคนและเทคโนโลยีสูงมาก โดยเฉพาะในระยะ 2-3 ปีมานี้ เราลงทุนในเรื่องการฝึกอบรมและเทคโนโลยีประมาณ 40% ของค่าใช้จ่ายรวม หรืออาจจะมากกว่า ซึ่งสูงมากนะครับ อาจจะมากที่สุดในกระบวนธนาคารทั้งหมดก็เป็นได้"

ทางด้านเป้าหมายสำคัญในอนาคตของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น ก็คือการปรับปรุงองค์กรให้เป็นรูปแบบของ LEARNING ORGANIZATION ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นองค์กรที่กระตุ้นการเรียนรู้ และเกิดการถ่ายทอดงานระหว่างบุคลากรในองค์กรอย่างที่ไม่มีสะดุด และทำให้เกิดองค์กรที่สามารถสร้างคน ขณะเดียวกันคนก็จะมาช่วยสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายงานเทคโนโลยี บอกว่า "ในความเป็นจริงแล้ว นี่ก็ถือว่าเป็นการรีเอ็นจิเนียริ่งอย่างหนึ่งเหมือนกันแต่วิธีการอาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดฯ

ทางด้านแนวคิดหรือรูปแบบของ LEARNING ORGANIZAITON นั้น ดร.โอฬารเคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่า ตนได้รับอิทธิพลมาจากแนวการคิดการบริหารของ ปีเตอร์ เซงกี้ ซึ่งปีเตอร์ เซงกี้นี้ถือได้ว่าเป็นศิษย์สถาบันเดียวกันกับ ไมเคิล แฮมเมอร์ ผู้เป็นต้นตำรับแนวคิดเรื่องรีเอ็นจิเนียริ่ง

"แต่ถึงแม้ทั้งปีเตอร์ เซงกี้ และไมเคิล แฮมเมอร์ จะจบการศึกษามาจากที่เดียวกันและเป็นผู้โด่งดังในฐานะเจ้าของแนวคิดทฤษฎีด้านการบรหารงานสมัยใหม่ด้วยกันทั้งคู่ แต่ว่ากระบวนการของการแปรสภาพองค์กรให้กลายเป็น LEARNING ORGANIZATION กับองค์กรที่ทำ RE-ENGINEERING นั้น ก็มีรากฐานและแนวความคิดและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่มาก"

แต่ว่าขณะนี้สถาบันการเงินในประเทศไทยได้นำแนวคิดทั้งสองรูปแบบมาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน โดยซีกของธนาคารกสิกรไทยก็นำเอาเรื่องรีเอ็นจิเนียริ่ง มาใช้จนถือว่าเป็นรายแรกในประเทศไทย ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ก็มาใช้เรื่องของ LEARNING ORGANIZATION เป็นอันดับแรก ๆ เช่นกัน ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารรายหนึ่ง กล่าวให้ฟังตอนหนึ่งถึงการสนทนากัน ในระหว่างผู้บริหารระดับสูงว่า

"สิ่งที่ธนาคารมุ่งเน้นที่สุดอีกเรื่องหนึ่งในปีหน้าก็คือ การเป็นธนาคารที่มีการบริหารการจัดการดีที่สุดในทุก ๆ ด้านทั้งบุคลากร เทคโนโลยี กำไร อัตราการเติบโต และวางเป้าหมายว่าพยายามรักษาระดับการเติบโตให้ได้เฉลี่ยปีละ 20%"

กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังกล่าวต่อไปถึงนโยบายที่จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ของพนักงานทั้งระดับปฏิบัติการ และระดับบริหารว่ามีด้วยกันอยู่หลายส่วน เช่น ล่าสุดได้มีการตกลงร่างสัญญาไปแล้วกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะเศรษฐศาสตร์และบัญชี เพื่อจะร่วมกันเปิดสอนทางด้านเอ็มบีเอในระดับบริหาร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในปีการศึกษาหน้า

สำหรับที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ คือ การร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ ที่เชียงใหม่เปิดสอนวิชาทางด้านการบริหาร-การเงิน

"โดยเราให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี และคอยเสนอแนะว่า ทางด้านการเงินตอนนี้ต้องการบุคลากรแบบไหน เพื่อเขาจะผลิตได้สอดคล้องกับตลาดแรงงานจริง ๆ บางทีเราไปเซ็ทวิชาที่จะสอนให้ด้วยโดยที่สถาบันไม่ต้องเสียอะไรเราออกให้ทุกอย่าง มหาวิทยาลัยก็เก็บค่าหน่วยกิตไปฟรี ๆ ส่วนนักศึกษาที่เรียนวิชานี้และใกล้จบเราจะรับสมัครมาทำงานที่ธนาคารเลย โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าทั่ว ๆ ไปประมาณ 10%"

นอกจากนั้น ก็ยังมีที่ส่งไปอบรมและดูงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง หลังจากที่ทำงานไปได้ระยะหนึ่ง และระดับบริหาร ซึ่งขณะนี้ทางธนาคารส่งเสริมที่จะให้พนักงานมีการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

สำหรับบทบาททางด้านการเป็นประธานสมาคมของสมาคมธนาคารไทยนั้น ในปีนี้ มีเรื่องที่จะมุ่งเน้นใน 2 ประการหลัก คือ เรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะระยะ 1-2 ปีมานี้ สาขาของธนาคารต่าง ๆ ถูกปล้นกันบ่อยมากและไม่สามารถจับผู้ร้ายได้ แม้ส่วนใหญ่จะมีโทรทัศน์วงจรปิดอยู่แต่ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก โดยที่สมาชิกสมาคมทั้งหมดจะหามาตรการร่วมกันเพื่อช่วยตัวเอง หรือลดความถี่ให้น้อยที่สุด

และอีกเรื่องก็คือ การส่งเสริมด้านความรู้และวิทยากรใหม่เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นการแชร์ความรู้เพื่อพัฒนาองค์กร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.