ผ่าเทคนิคปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป


ผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายคนคงแปลกใจที่บรรดาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่างพากันค้นคิดผลิตรสชาติใหม่ๆออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากรสชาติพื้นๆอย่าง ซุปไก่ ต้มยำกุ้ง หรือเนื้อตุ๋นแล้ว ยังมีรสที่อินเทรนด์สุดๆอย่าง ชาเขียว โฮลวีต และบางรสชาติแปลกจนไม่น่าเชื่อว่าจะนำมาทำเป็นบะหมี่ ไม่ว่าจะเป็น บาบีคิว รสลาบ หรือแม้กระทั่งแกงส้ม ที่สำคัญแต่ละรสนั้นช่างทำได้เหมือนอาหารจานนั้นๆแบบไม่มีผิดเพี้ยน เขาทำได้อย่างไร! เราจะพาท่านไปบุกโรงงานบะหมี่เพื่อล้วงลึกเทคนิคการปรุง ว่า 'ทำอย่างไรให้เหมือน'

*บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองแรกของไทย

ใครต่อใครคงเคยลิ้มรสชาติเหนียวนุ่มของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พลางซดน้ำซุปรสชาติหอมหวานกลมกล่อมราวกับมีเนื้อหมูกุ้งไก่อยู่ในชาม ด้วยความสะดวกในการปรุงที่ใช้เวลาไม่มากกว่า 2-3 นาที รสชาติอันโอชะ และราคาแสนย่อมเยา ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว แต่จะมีใครรู้บ้างว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อไร

จากการพูดคุยกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายราย ทำให้ทราบว่า บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย)จำกัด นับเป็นเจ้าแรกที่บุกตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย โดยใช้ชื่อยี่ห้อว่า 'ยำยำ' ซึ่งตลอดระยะเวลา 33 ปียำยำมีบะหมี่รสชาติต่างๆ ออกมาแล้วกว่า 40 รส โดยซองแรกที่วางตลาดคือ ยำยำช้างน้อย รสซุปไก่ ซึ่งมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กๆ เป็นหลัก เพราะยังไม่แน่ใจว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเป็นที่ยอมรับของคนไทยหรือไม่ โดยยำยำที่ทำออกมาช่วงแรกมีทั้งที่ให้ใส่น้ำร้อนรับประทานแบบบะหมี่และที่ทำเป็นขนมให้รับประทานได้ทันที

หลังจากที่ยำยำช้างน้อยเป็นที่ยอมรับของตลาดแล้ว ทางบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ จึงออก ยำยำกุ๊กไก่ และยำยำแพนด้าซึ่งเป็นบะหมี่สำหรับเด็ก และยำยำเจ้าช้าง ยำยำเจ้าโต้ง และยำยำพี่หมี ซึ่งเป็นบะหมี่สำหรับผู้ใหญ่ตามมาเพื่อสร้างความหลากหลายให้สินค้า และตามด้วยยำยำรสชาติอื่นๆอีกมากมาย ตั้งแต่รสไก่โอชา รสเนื้อ รสต้มยำกุ้ง รสหมูสับ ฯลฯ

ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไวและมาม่านั้นออกวางตลาดหลังยำยำเล็กน้อย โดยระยะเวลาที่ไวไวและมาม่าเปิดกิจการมานั้นใกล้เคียงกับยำยำ คือประมาณ 33 ปีแล้ว สำหรับจุดเด่นของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไวอยู่ที่รสชาติอันเข้มข้นของเส้นบะหมี่ โดยรสชาติแรกที่ไวไวผลิตออกมาคือรสปรุงสำเร็จ ซึ่งรสชาตินี้ก็ยังคงอยู่ในตลาดมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่มาม่านั้นเปิดตัวรสซุปไก่ออกมาเป็นรสชาติแรก และก็เป็นรสชาติหนึ่งที่ยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคอยู่

สำหรับยอดขายในปัจจุบันนั้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่ามีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด รองลงมาคือไวไว และยำยำมาเป็นอันดับ 3 แต่ในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์และกลยุทธทางตลาดแล้ว ทั้ง 3 เจ้าไม่มีใครยอมใคร ต่างก็หากลยุทธ์ใหม่ๆมาแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา

*ออกรสชาติใหม่ หนึ่งในกลยุทธการตลาด

หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดบรรดาผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปจึงขยันออกบะหมี่รสชาติใหม่อย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่จะเป็นการนำอาหารจานต่างๆมาปรับให้เป็นรสชาติของบะหมี่ ไม่ว่าจะเป็น ต้มโคล้ง โป๊ะแตก สุกี้ แกงป่า รสลาบ หรือแม้กระทั่งรสต้มยำกุ้ง เราอาจตกใจถ้ารู้ว่าบะหมี่สำเร็จรูปแต่ละยี่ห้อออกบะหมี่รสชาติต่างๆมามากมายเพียงใด โดยตั้งแต่เริ่มผลิตจนถึงปัจจุบันบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยำยำผลิตบะหมี่รสชาติต่างๆออกมาแล้วถึง 40 รส ขณะที่มาม่าผลิตออกมาทั้งสิ้น 31 รส ส่วนไวไวผลิตออกมาวางตลาดประมาณ 30 รส

ซึ่งเรื่องนี้บรรดาผู้ผลิตต่างให้เหตุผลตรงกันว่าสาเหตุที่ต้องผลิตบะหมี่รสชาติใหม่ๆออกมาก็เพราะต้องการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น นอกจากรสชาติเดิมๆที่ติดตลาดและมียอดขายดีอยู่แล้ว หากรสชาติใหม่ๆที่ออกมาเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ผู้ผลิตก็จะมีรายได้เพิ่มจากยอดขายในส่วนนี้ และโดยปกติพฤติกรรมของผู้บริโภคก็ชอบลองอะไรใหม่ๆอยู่แล้ว ส่วนรสชาติใหม่ๆที่ออกมาจะอยู่ในตลาดได้นานเท่าใดนั้นก็ขึ้นกับเสียงตอบรับของผู้บริโภค

เพ็ญนภา ธนสารศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลิตบะหมี่สำเร็จรูปมาม่า ระบุว่า

" เราจำเป็นต้องออกบะหมี่รสชาติใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเบื่อ และถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการบริโภค บางตัวออกมาได้พักเดียวก็เลิกไปเพราะเสียงตอบรับไม่ค่อยดี หรือบางรสเรารู้อยู่แล้วว่าผลิตออกมาขายแค่ช่วงสั้นๆ เพื่อให้เข้ากับกระแสในช่วงนั้น อย่าง มาม่าเส้นชาเขียว ถึงตอนนี้จะยังผลิตอยู่แต่เชื่อว่าอีกหน่อยพอคนเบื่อชาเขียวตัวนี้ก็จะหายไป ของมาม่านี่สุดท้ายคนก็จะกลับมาหารสต้มยำกุ้งซึ่งเป็นรสที่เราขายดีที่สุด"

*เบื้องหลังก่อนจะออกรสชาติใหม่ๆ

ก่อนที่จะตัดสินใจผลิตบะหมี่สำเร็จรูปรสชาติใดออกสู่ตลาดนั้นผู้ผลิตต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค เทรนด์แฟชั่นของอาหารในช่วงนั้นๆ และความเป็นไปได้ในการผลิต โดยต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายการตลาด ฝ่ายฟูดไซน์ ซึ่งเรียกว่า R&D และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ซึ่งเมื่อทดลองผลิตออกมาแล้วก็ต้องผ่านการชิมเพื่อทดสอบรสชาติ โดยผู้ที่ทำการชิมมีทั้งฝ่ายฟูดไซน์ ฝ่ายการตลาดของบริษัท รวมทั้งนำไปให้ผู้บริโภคทดลองชิม จากนั้นจึงนำความเห็นดังกล่าวไปปรับปรุงให้ได้รสชาติตรงกับความต้องการ

มาโคโตะ มูราบายาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด บริษัทในเครืออายิโนะโมะโต๊ะ ซึ่งเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยำยำ เล่าถึงขั้นตอนก่อนที่จะทำการผลิตบะหมี่รสชาติใหม่ๆออกมาว่า

"อันดับแรกรสชาติที่เราคิดจะผลิตจะมาจากไอเดียของฝ่ายการตลาดและฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อน นอกจากนั้นก็ต้องดูถึงรสนิยมการกินของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องคำนึงถึงก็คือความต้องการของตลาด โดยเราจะทำการเทสต์กับผู้บริโภคในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตอบแบบสอบถาม ให้ชิมบะหมี่ ให้ดูแพกเกจ จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องชิมอีกครั้ง แล้วจึงผลิตรสชาตินั้นๆออกมาขาย"

*เทรนด์การบริโภคเป็นเรื่องสำคัญ

อาหารก็มีแฟชั่นหรือเทรนด์ของการบริโภคเช่นเดียวกับเสื้อผ้าหรือเครื่องใช้อื่น โดย เพ็ญนภา ผู้บริหารของบะหมี่สำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า เทรนด์ของอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป

" การที่จะผลิตรสชาติใดออกมานั้นมันเกิดจากเทรนด์ในช่วงนั้นๆ อย่างตอนนี้เทรนด์รักสุขภาพมาแรง เราก็เลยออกมาม่าโฮลวีตพริกไทยดำ หรือช่วงก่อนหน้านี้คนชอบกินต้มยำน้ำข้นกันมากขึ้น เราก็ออกมาม่าต้มยำน้ำข้นออกมา ช่วงเทศกาลเจ เราก็จะมีบะหมี่เจรสชาติต่างๆออกมา หรือช่วงนี้ชาเขียวมาแรง ก็มาคิดกันว่าเราเอาชาเขียวมาทำอะไรได้บ้าง เอามาทำผงปรุงรสคงไม่ได้ ก็เออ..เอามาทำที่เส้น เป็นเส้นชาเขียว นอกจากนั้นเรายังทำการวิจัยตลาดโดยสอบถามความเห็นของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลาว่าอยากให้มีบะหมี่รสชาติใดออกมาอีก

แต่ก่อนจะออกรสไหนมาเราต้องส่งทีมงานไปชิมร้านที่อร่อยที่สุด แต่ละตัวนั้นไม่ใช่ว่าพอคิดจะทำรสนี้เราก็คิดสูตรเอง ต้องไปกินร้านที่อร่อยที่สุดก่อน แล้วก็นำตรงนั้นมาพัฒนาต่อ ก็ต้องหาว่าร้านก๋วยเตี๋ยวหมู เป็ดพะโล้ที่ขึ้นชื่อนั้นอยู่ที่ไหนบ้าง เรียกว่าตระเวนชิมกันทั่วประเทศทีเดียว แล้วก็มาวิเคราะห์ว่าทางร้านน่าจะใส่ส่วนประกอบอะไรบ้าง แล้วก็นำมาปรับให้เข้ากับบะหมี่สำเร็จรูปของเรา"

ด้าน สุนัย ตันติยาสวัสดิกุล ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสด้านการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปไวไว กล่าวว่า

"เราต้องดูเทรนด์หรือแนวโน้มการบริโภคในช่วงนั้นๆ และดูว่าเมนูนั้นๆจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นบะหมี่สำเร็จรูปได้ไหม หรือบางครั้งซัปพลายเออร์ซึ่งผลิตส่วนผสมในเครื่องปรุงรสต่างๆแจ้งมาว่ามีสินค้ารสชาติใหม่ออกมา เช่น กลิ่นมะนาว กลิ่นมันกุ้ง เราก็มาลองคิดว่าจะนำมาผลิตเป็นบะหมี่รสชาติใหม่ๆอย่างไรได้บ้าง แล้วก็ทดลองผลิตดู จากนั้นก็ลองให้ผู้บริโภคชิมดูก่อนว่ารสชาติที่ผลิตออกมาเป็นที่ยอมรับไหม ก่อนที่จะออกสู่ตลาดจริง"

*ทำยังไงให้เหมือน

แม้การออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติใหม่ๆจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งของบะหมี่สำเร็จรูป แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือทำอย่างไรให้บะหมี่ที่ผลิตออกมามีรสชาติเหมือนกับได้กินอาหารจานนั้นจริงๆ ซึ่งนอกจากเส้นบะหมี่สำเร็จรูปที่สามารถกลายเป็นบะหมี่ที่เหนียวนุ่มได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่เติมน้ำเดือดแล้วทิ้งไว้ 2-3 นาทีแล้ว หัวใจสำคัญที่สุดที่จะทำให้บะหมี่ซองนั้นมีรสชาติเหมือนกับอาหารจานต้นตำรับก็คือเครื่องปรุงรสที่มาพร้อมกับซองบะหมี่นั้นเอง

เพ็ญนภา ผู้บริหารของมาม่า เปิดเผยถึงเทคนิคในการปรุงบะหมี่สำเร็จรูปให้มีรสชาติที่เหมือนจริงว่า

"การจะทำให้รสชาติบะหมี่ซองนั้นๆออกมาเหมือนกับกินก๋วยเตี๋ยวในร้านนั้น เครื่องปรุงที่อยู่ในซองนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เราก็ดูว่าเครื่องปรุงที่เราจะนำมาใช้เป็นผงปรุงรสของบะหมี่รสชาตินั้นๆจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ต้องใส่พริกไทย เกลือ พริกป่น น้ำพริกเผา หรือน้ำมันเจียวหอม ซึ่งเครื่องปรุงบางตัวทางบริษัทจะสั่งจากซัปพลายเออร์ แต่บางตัวเราก็ผลิตเอง เช่น พริกไทยขาว พริกไทยดำ ขิงอบ โดยเราเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ

หลังจากเราได้บะหมี่ที่มีรสชาติถูกใจฝ่ายฟูดไซน์และฝ่ายตลาดของเราแล้ว เราก็นำออกไปเทสต์กับผู้บริโภคว่าเรารู้สึกว่ารสชาติที่ออกมาเหมือนของจริงไหม โดยเราจะไม่บอกว่าที่ให้เขาชิมนี่รสอะไร แต่จะให้เขาบอกตามความรู้สึกว่าบะหมี่ที่ชิมนั้นมีรสชาติอย่างไร ถ้ากินปุ๊บเขารู้เลยว่านี่เป็นเป็ดพะโล้ เป็นต้มยำน้ำข้น เขาพูดออกมาเองเลย ก็แสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้าให้ชิมแล้วเขานึกไม่ออกว่ารสอะไร หรือบอกผิดไปจากรสที่เราตั้งใจทำ อันนั้นก็ไม่ได้ ต้องกลับมาปรุงใหม่"

จริงๆแล้วบะหมี่สำเร็จรูปรสชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รสหมู เนื้อ เป็ด ไก่ กุ้ง หรือรสอาหารทะเล นั้นไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ใดๆอยู่เลย แต่ผงปรุงรสที่อยู่ในซองนั้นเป็นสารสังเคราะห์ที่ผลิตให้มีกลิ่นและรสใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ

ด้าน สุนัย ผู้บริหารของไวไว เล่าถึงขั้นตอนในการผลิตผงปรุงรสเหล่านี้ว่า

"ปกติเราจะมีซัปพลายเออร์ที่ผลิตพวกเฟเวอร์หรือผงเครื่องปรุงกลิ่นต่างๆ เช่น กลิ่นหมู ไก่ กุ้ง กลิ่นกระเทียม ซึ่งก็มีทั้งเครื่องปรุงที่มีการผสมมาแล้วเกือบจะสำเร็จรูป แล้วเรานำมาปรุงรสเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย และที่เรานำผงเครื่องปรุงมาผสมเองใหม่หมด ฝ่ายฟู้ดไซน์ของเราก็ดูว่ากลิ่นที่ซัปพลายเออร์มีนั้นสามารถนำมาปรุงเป็นอะไรได้บ้าง ซึ่งซัปพลายเออร์แต่ละเจ้าก็จะมีความถนัดไม่เหมือนกัน บางเจ้าจะถนัดพวกเครื่องเทศ อย่าง อบเชย ตะไคร้ ใบมะกรูด บางเจ้าถนัดผลิตกลิ่นเนื้อสัตว์ ขณะที่บางเจ้าถนัดเรื่องกลิ่นพืชผักผลไม้ เช่น มะนาว เราก็จะดูว่าเครื่องปรุงของรสชาติที่เราจะผลิตต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

รสชาติที่เราได้รับการยอมรับว่าผลิตได้เหมือนที่สุดในตอนนี้คือรสหมูต้มยำ ซึ่งผู้บริโภคบอกว่า เหมือนก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำมากๆ เพราะมันมีกลิ่นมะนาวอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังมีถั่วป่นที่เรามีเทคนิคการผลิตและการบรรจุหีบห่อที่สามารถป้องกันไม่ให้ถั่วมีกลิ่นหืนหรือขึ้นรา ผู้บริโภคเลยรู้สึกว่าเหมือนได้กินก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำจริงๆ ซึ่งรสนี้เราใช้เวลาคิดค้นและพัฒนาเป็นปีกว่าจะได้ออกมาอย่างที่เห็น ซึ่งเราโชคดีที่ได้คุณหมึกแดงมาช่วยในการคิดค้นและพัฒนารสชาติ อย่างหมูสับต้มยำนี่ถือเป็นตัวแรกที่คุณหมึกแดงเข้ามาร่วมทำงานกับเรา "

*รสแปลก รสใหม่ รสที่หายไป

บางรสชาติที่ออกมานั้นสร้างความแปลกใหม่ให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และบางรสก็ไม่น่าเชื่อว่าจะนำมาทำเป็นบะหมี่ได้ อาทิ รสลาบ รสแกงส้ม รสสุกี้ รสต้มแซ่บ รสบาร์บีคิว ของยำยำ , รสชาเขียว รสแกงป่า ของมาม่า , รสต้มโคล้ง ของไวไว แต่ก็มีบางรสที่ออกมาแล้วยอดขายไม่ดีเท่าที่ควร หรือขายดีเฉพาะในช่วงแรกๆ ผู้ผลิตจึงเลิกผลิตไปในที่สุด เช่น รสต้มแซ่บ รสหมูแดง รสแกงส้ม ของยำยำ ,รสสาหร่าย รสโป๊ะแตก รสแกงป่า รสข้าวซอย บะหมี่หยกเป็ดย่าง บะหมี่ฮกเกี้ยน ของมาม่า,

'ปุ้ย' ชลิดา สิงห์วัฒนไพจิตร พนักงานบริษัท สะท้อนมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปรสชาติใหม่ออกสู่ตลาดว่า

"การที่มีบะหมี่รสชาติใหม่ๆออกมาก็ชอบนะ อยากให้มีรสใหม่ๆออกมาเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่าทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้น เวลามีรสใหม่ๆออกมาก็จะลองกินหมด อยากลองดูว่าจะอร่อยไหม รสชาติเหมือนก๋วยเตี๋ยวหมู ก๋วยเตี๋ยวเนื้ออย่างที่ระบุไว้หน้าซองไหม ถ้าเหมือนหรืออร่อย วันหลังจะได้ซื้อมากินอีก แต่ถ้าไม่อร่อย หนเดียวเลิกเลย

แต่ส่วนใหญ่รสชาติที่ออกมาใหม่ในช่วงหลังๆนี่ไม่ค่อยเหมือนนะ ที่เหมือนที่สุดเห็นจะเป็นรสต้มยำกุ้ง คือกินแล้วมันเหมือนกินต้มยำกุ้ง เลยชอบรสนี้มากที่สุด ส่วนรสอื่นๆมันเหมือนแต่กลิ่นนะ รสชาติไม่เหมือน รสที่ไม่เหมือนนี่ถ้าเอาหมูเอาผักมาใส่ถึงจะอร่อย"

ขณะที่ผู้ผลิตอย่าง มาโคโตะ ผู้บริหารของยำยำ ระบุว่า " ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะชื่นชอบรสชาติที่ออกมาใหม่ๆแค่ช่วงแรกๆเท่านั้น สุดท้ายก็จะกลับไปหารสดั้งเดิม อย่างรสลาบนี่ออกมาช่วง 2 ปีแรกขายดีมาก แต่ตอนนี้ยอดขายตกลง แต่ก็ยังวางขายอยู่เพราะผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ยังชอบรสนี้ ก็มีเสียงบ่นมาเหมือนกันว่าหาซื้อยาก ซึ่งก็คงเป็นเพราะถ้าบะหมี่รสไหนขายดี ห้างสรรพสินค้าก็จะสั่งมาวางขายเยอะ แต่ถ้ารสไหนยอดขายน้อยเขาก็ไม่สั่งเลย เลยเป็นสาเหตุให้บะหมี่รสนั้นหายไปจากตลาดโดยปริยาย "

สุนัย ผู้บริหารของไวไว บอกว่า หากบะหมี่รสชาติไหนผู้บริโภครู้สึกว่าขั้นตอนการปรุงยุ่งยากซับซ้อน รสชาตินั้นก็มักจะหายไปจากท้องตลาด " อย่างพวกบะหมี่แห้งนี่ การทำมันยุ่งยาก ใส่น้ำร้อนให้เส้นพองแล้วจากนั้นจึงรินน้ำออก แล้วถึงจะใส่เครื่องปรุง คนกินจะรู้สึกว่ามันยุ่งยาก ขี้เกียจทำ เลยไม่นิยมซื้อ หรือจำพวกน้ำขลุกขลิกนี่ ผู้บริโภคบางคนไม่รู้ว่าต้องรินน้ำออกไปส่วนหนึ่งแล้วค่อยใส่เครื่องปรุง พอเส้นพองปุ๊บเขาก็ใส่เครื่องปรุงไปเลย ก็เลยรู้สึกว่ารสชาติมันไม่เข้มข้น ไม่อร่อย รสชาติพวกนี้ก็เลยไม่เป็นที่นิยมและหายไปจากตลาดในที่สุด"

*บะหมี่เส้นสด พร้อมเนื้อสัตว์-ผักสดมาแรง

อย่างไรก็ดีบรรดาผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปก็ยังคงคิดค้นรสชาติใหม่ๆออกมาเรื่อยๆ ซึ่งจากการประเมินแนวโน้มในการบริโภคบะหมี่สำเร็จรูปพบว่า ในอนาคตเส้นบะหมี่สด(บะหมี่สำเร็จรูปที่ปรุงด้วยวิธีการต้ม ไม่ใช่ใส่น้ำเดือดแล้วปิดฝาเพื่อให้เส้นพอง) บะหมี่สำเร็จรูปที่มีรสชาติเฉพาะถิ่น เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฯลฯ และบะหมี่สำเร็จรูปที่มาพร้อมกับเนื้อสัตว์และผักสดจริงๆ จะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคจะมีความพิถีพิถันในการกินมากขึ้น แม้จะต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้นก็ตาม

จะเห็นได้ว่าขณะนี้บรรดาผู้ผลิตบะหมี่สำเร็จรูปเริ่มนำบะหมี่ดังกล่าวออกสู่ตลาดแล้ว โดยในส่วนของยำยำนั้นล่าสุดได้ออกบะหมี่รสโอเรียนทอลต่างๆ ซึ่งเน้นถึงรสชาติท้องถิ่นของแต่ละประเทศ รวมทั้ง มาม่า super bowl ซึ่งเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มาพร้อมกับเนื้อสัตว์และผักสดซึ่งแพกอยู่ในซองสุญญากาศที่ช่วยรักษาความสดให้อาหารได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับยำยำที่มี premier bowl บะหมี่พร้อมเนื้อสัตว์และผักสดในลักษณะเดียวกับ super bowl ของมาม่าออกมาเช่นกัน

***************************

เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน
ภาพ - อาทิตย์ นันทพรพิพัฒน์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.