ดร.โอฯ รายวัน รับปรึกษาทั่วราชอาณาจักร

โดย อนุสรา ทองอุไร
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นช่วงที่ผู้คนส่วนใหญ่ลงมติว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังถูกย่ำยีอย่างหนัก ภาพพจน์ของผู้นำประเทศติดลบลงเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันบทบาทของคน ๆ หนึ่งก็โดดเด่นขึ้นมาในช่วงนี้เอง "เด่น" จนหาตัวจับยาก ด้วยบทบาทที่สวมอยู่มากมายหลายด้าน เขาทำได้อย่างไร และทำได้ดีแค่ไหน หลายคนเตือนว่า ระวังจะเล่นผิดบท!! ดร.โอฬาร ไชยประวัติ!!

เล่นหลายบททั้งภาครัฐและเอกชน ระวังจะงงไปกันใหญ่

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ชื่อของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์จะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรการสำคัญ ๆ ในการช่วยเหลือเศรษฐกิจของทางการเกือบจะทุกเรื่อง บทบาทของเขาในระยะหลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมธนาคารฯ คนล่าสุดต่อจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ถ้าพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดนัก เพราะในเรื่องความรู้ความสามารถนั้นก็มีอย่างล้นเหลือ

แม้กระทั่งผู้เกี่ยวข้องทางการเงินอย่าง เอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยังเคยกล่าวอย่างจริงใจว่า

"ถ้าถามว่าตอนนี้ใครเก่งพร้อมทั้งเรื่องเศรษฐศาสตร์ การเงิน การธนาคาร และหุ้น ตอนนี้ผมรับประกันได้เลยว่า ดร.โอฬารติดหนึ่งใน 5 ของระดับเซียน"

นอกจากมีความรอบรู้เรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างดีแล้ว ถือว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่องการเมืองอย่างใกล้ชิดด้วย จึงมีข่าวอยู่เสมอ ๆ ว่า ได้ถูกเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของนักการเมืองคนนั้นพรรคการเมืองโน้นนี้อยู่บ่อย ๆ

จะว่าไปแล้ว ดร.โอฬาร มิได้เป็นเพียงที่พึ่งในยามยากที่เกิดภาวะวิกฤตหรือขาดความเชื่อมั่นเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในการผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อม

และเมื่อถึงรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ชื่อของ ดร.โอฬาร ก็ถูกเสนอเข้าเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี และควบเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บดี จุณณานนท์ ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าในขณะนั้น ซึ่งอยู่ในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อสูงถึง 7.4% อีกทั้งตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็ขยับมาที่ 8.1% ของจีดีพี

ทั้งที่ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมานั้น ถือว่าธนาคารแห่งประเทศไทยประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายการเงินคุมเข้ม รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ดี ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จาก 7.4% เมื่อปลายปี 2538 มาเหลือที่ 5.4% ในเดือน ก.ค. 2539

ในยามที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2539 ทำให้นโยบายการตรึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะกลายเป็นดาบสองคมไปในสายตาของนักธุรกิจ ซึ่งทางหนึ่งที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจพ้นวิกฤตโอเวอร์ฮีทไปได้ แต่ก็ทำให้ธุรกิจของประเทศประสบปัญหาแบกรับต้นทุนที่สูงจนส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะซบเซา

สถานการณ์ซบเซาของเศรษฐกิจที่กลายเป็นปัญหาการเมืองนี้เอง ที่ทำให้ข้อเสนอของ ดร.โอฬาร เริ่มเห็นผลมากขึ้น เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจาก ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย มาเป็น บดี จุณณานนท์ ดร.โอฬารก็ถูกเรียกหาให้มาเป็นที่ปรึกษาตามเคย

"ตอนนี้นโยบายในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ควรเน้นการควบคุมอุปสงค์ แต่หันมาใช้นโบบายด้านอุปทานได้แล้ว เรื่องคุมดอกเบี้ยตอนนี้อาจจะใช้ไม่ได้ผลเพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไป"

นั่นคือคำกล่าวของ ดร.โอฬาร ที่พูดถึงทฤษฎีการรับมือในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำภายหลังการประชุมตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 ราย ในการที่จะช่วยเหลือธุรกิจส่งออก 19 รายที่อยู่ในอาการโคม่า เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมาจากการประชุมในครั้งนั้น พอจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ณ เวลานั้นข้อเสนอของ ดร.โอฬาร ที่เน้นเรื่องนโยบายด้านปริมาณการผลิตกำลังเป็นจริง

ถ้าจะว่าไปแล้วความสำเร็จครั้งนี้มิเพียงแต่จะเกิดจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นใจเท่านั้น แต่เพราะ ดร.โอฬาร ไม่เพียงแต่จะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศเท่านั้น แต่ถือว่ายังเป็นตัวแทนองสถาบันการเงินอย่างเต็มตัวในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ตามด้วยตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควบมาด้วย

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วนทั้งเวทีการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การเป็นวุฒิสมาชิก เป็นคณะกรรมการนโยบายเพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น

"ทุกตำแหน่งที่คุณโอฬารได้รับล้วนมีหน้าที่ล้นมือทั้งสิ้น แค่เฉพาะงานที่ไทยพาณิชย์เองสองมือก็จะเอาไม่อยู่แล้ว แถมตำแหน่งประธานสมาคมธนาคารไทยก็ไม่ใช่น้อย ซึ่งบทบาททุกวันนี้มากกว่าประธานในสมัยก่อน ๆ เช่น การเข้าช่วยเหลือซื้อหุ้นในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ (บีบีซี) การมีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเพื่อช่วยฟื้นฟูภาวะตลาดหุ้น รวมถึงการร่วมกันแก้วิกฤตการณ์อุตสาหกรรมส่งออกที่มีปัญหา 19 รายการ" แหล่งข่าวระดับสูงในธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวให้ความเห็น

และล่าสุดคือปัญหาเกี่ยวกับการขาดสภาพคล่องในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วงต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้หารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้วิกฤตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงินเพื่อกระทุ้งให้ทางการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มสินเชื่อที่ดิน และเป็นการช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจอื่น ๆ ด้วย

ในช่วงที่ ดร.โอฬาร เล่นหลายบทเช่นนี้ ทั้งเป็นตัวแทนจากภาครัฐและตัวแทนของภาคเอกชน ทำให้ในบางครั้งก็มีคำถามเกิดขึ้นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการธนาคารพาณิชย์บ้างเหมือนกัน เช่น กรณีที่ต้องมีการลงขันของธนาคารทั้ง 14 แห่งเพื่อช่วยฟื้นฟูธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การนั้นมีแหล่งข่าวระดับสูงรายหนึ่งในแวดวงธนาคารพาณิชย์กล่าวด้วยความหงุดหงิดว่า

"การที่สมาคมธนาคารไทยจะต้องลงขันในกองทุนพยุงหุ้น หรือกองทุนฟื้นฟูให้บีบีซีนั้น สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้มาก่อน ในตอนแรกอาจจะเกิดจากประธานสมาคมฯ ไปรับเรื่องมาโดยที่ยังไม่ได้หารือกับสมาชิกเลย ในแต่ละปีที่มีปัญหาเราต้องลงเงินไปทีละ 700-800 ล้านบาท เราก็เสียดาย แล้วยิ่งถ้าเป็นธนาคารขนาดใหญ่ก็ต้องลงขันมากตามสัดส่วนของสินทรัพย์ ถ้าในภาวะที่เศรษฐกิจดีก็ไม่เป็นไรหรอก แต่เศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ เราก็ต้องประคับประคองตัวเองอยู่เหมือนกัน แล้วปีนี้ลงเงินไปตั้ง 3 ครั้ง คือ กองทุนพยุงหุ้น 5,000 ล้านบาท โครงการปล่อยกู้ให้โบรกเกอร์อีก 6,400 ล้านบาท และของบีบีซีอีก 7,000 ล้านบาท รวมแล้วปีนี้พวกเราต้องลงขันทั้งหมด 18,400 ล้านบาท ถึงขนาดบางรายลุกขึ้นคัดค้านก็มี"

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งในวงการธนาคาร กล่าวเสริมในเรื่องเดียวกันนี้ว่า "บางครั้งเราก็พยายามมอง ดร.โอฬาร อย่างเข้าใจนะ แต่บางทีก็อดที่จะเกิดคำถามกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ได้ว่าสับสนหรือไร เช่น ในฐานะที่ปรึกษาของนายกฯ หรือรัฐมนตรีคลังก็อาจจะถูกขอร้องให้ช่วยเรื่องกองทุนพยุงหุ้น หรือ บีบีซี แต่ในฐานะประธานสมาคมทหารไทยก็จะถูกสมาชิกขอร้องให้ช่วยมาต่อรองกับรัฐบ้าง แต่ดร.โอฬารเหมือนอยู่ตรงกลาง โดนอัดมาจากทั้งข้างล่างและข้างบน แต่เพราะรับหลายบทอย่างนี้ภาพมันเลยซ้อนทับกันอย่างแยกไม่ออก"

ดึงธารินทร์คืนรัง หวังรีเอ็นจิเนียริ่งรอบใหม่

การรับหลายบทบาทเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดคำถามเฉพาะกรณีของสมาคมธนาคารไทยเท่านั้น แต่เคยมีคำถามในหมู่นักการเงินด้วยกันบ้างประปราย ในลักษณะที่การเป็นข่าวของ ดร.โอฬาร ในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมาว่าทำอย่างไรถึงได้เป็นข่าวได้ทุกวัน

ภาวะงานล้นมือของ ดร.โอฬาร ในระยะหลังคงเข้าตาคณะกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์ จนกระทั่งการประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีประจิตร ยศสุนทร เป็นประธานกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมาได้ลงมติแต่งตั้งให้ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการของธนาคารฯ และเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่คนก่อนหน้าของธนาคารไทยพาณิชย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้มาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2539 เป็นต้นไป

เหตุผลของประจิตร ในการดึงธารินทร์ มาคืนรังนั้น เขาบอกเพียงคร่าว ๆ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการของธนาคารฯ เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์กำลังเผชิญหน้าสู่ความยากลำบากในการบริหารงาน ขณะที่ ดร.โอฬาร เองก็มีงานล้นมือทั้งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และยังสวมหมวกหลายใบในเวทีการเมือง

"นอกจากนี้ บทบาทของประธานสมาคมธนาคารไทยยังมีภารกิจมากมาย จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารแบงก์ และแบงก์เองก็มีธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย"

แหล่งข่าววงในรายหนึ่งในธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การแต่งตั้งธารินทร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของธนาคารฯ นั้น เนื่องจากขณะนี้ธนาคารฯ และกิจการในเครือทั้งหมดอยู่ระหว่างการเตรียมปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในหรือรีเอ็นจิเนียริ่งรอบใหม่ จึงต้องมีการจัดสรรบุคลากรให้เหมาะสมกับสายงาน

โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริหารระดับสูง จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการบริหาร เพื่อแบ่งแยกสายงานความรับผิดชอบออกเป็น 2 สายประกอบด้วยสายธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และสายธุรกิจการลงทุนหรือบริหารกิจการในเครือ

สำหรับโครงสร้างที่จะปรับเปลี่ยนใหม่นั้น สายธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะมี ดร.โอฬาร เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารงานของธนาคารฯ ทั้งหมด ขณะที่ในด้านธุรกิจการลงทุนและบริหารกิจการในเครือของธนาคารฯ นั้น ธารินทร์จะเข้ามารับผิดชอบดูแลการลงทุนของธนาคารฯ และกิจการในเครือต่าง ๆ เช่น การร่วมทุนในบริษัทสยามอินโฟร์เทนเมนท์ หรือสถานีโทรทัศน์เสรีไอทีวี

เหตุผลที่ต้องมีการปรับโครงสร้างของธนาคารครั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อให้งานของธนาคารฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้ที่เข้ามาดูแลอย่างเหมาะสม

"ประกอบกับกรรมการผู้จัดการใหญ่เองก็ค่อนข้างมีงานล้นมือ หากจะให้รับผิดชอบทั้งหมดก็อาจจะหนักเกินไป อาจจะทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร การที่คุณธารินทร์เข้ามาจะมาช่วยกำหนดทิศทางและนโยบายการบริหาร ซึ่งจะทำให้กิจการทั้งเครือของค่ายไทยพาณิชย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรับมือกับการแข่งขันของธุรกิจการเงินที่มีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ" แหล่งข่ายรายเดิมกล่าว

การเข้าร่วมบริหารงานของธารินทร์ครั้งนี้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับคณะกรรมการของธนาคารฯ มาก แม้ว่าสไตล์การบริหารงานของ ดร.โอฬาร กับธารินทร์ จะแตกต่างกันมาก แต่เชื่อว่า จะผสมผสานกันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีผู้ช่วยบริหารมือดีอย่าง ชฏา วัฒนศิริธรรม รองผู้จัดการใหญ่ และประกิต ประทีปะเสน กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ร่วมบริหาร ยิ่งทำให้ทีมบริหารของธนาคารไทยพาณิชย์มีประสิทธิภาพและน่ากลัวมากยิ่งขึ้น

สำหรับความเห็นของ ดร.โอฬาร ในการกลับมาคืนรังครั้งนี้ของธารินทร์นั้นเป็นสิ่งที่ดี

"ทำไมทุกคนต้องมองว่าเป็นเรื่องแปลก ในเมื่อคุณธารินทร์ก็เป็นคนเก่าแก่ของที่นี่ และยังคงเป็นบอร์ดของธนาคารอยู่ ซึ่งตอนนั้นยังไม่สมัคร ส.ส. ก็ว่างอยู่ คนดีมีความรู้ความสามารถเราควรจะฉกฉวยไว้ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวคนอื่นจะชวนไปทำงานให้มาเป็นคู่แข่งเรา ทำไมงานที่ไทยพาณิชย์มีเยอะแยะก็มาช่วย ๆ กันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้คุณธารินทร์ไปเล่นการเมืองอาจจะหยุดไปสักระยะก่อนแล้วอาจจะกลับมาใหม่พวกเราทุกคนที่นี่ยินดีต้อนรับเสมอ" ดร.โอฬาร กล่าวด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส

เมื่อธารินทร์ตัดสินใจไปเล่นการเมืองในครั้งนี้ บทบาทที่ไทยพาณิชย์จำต้องยุติไว้ชั่วคราวก่อน สำหรับผู้ที่จะไปดูแลแทนนั้นขณะนี้ยังไม่มี เพียงแต่ส่งผู้บริหารไป แต่ระดับบอร์ดนั้นอาจจะต้องพิจารณาดูใหม่หรือไม่อย่างนั้น ดร.โอฬารอาจจะต้องรับหน้าเสื่อแทนไปก่อนและทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ

เปิด 4 กลยุทธ์รับมือเศรษฐกิจฟุบปีหน้า

เปิดใจ ดร.โอฬาร ถึง 4 กลยุทธ์แก้เศรษฐกิจซบเพื่อเตรียมรับมือและไปแข่งขันกับตลาดโลกเพราะมั่นใจว่าใช้นโยบายการเงินอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล เนื่องจากตอนนี้ดีมานด์มีมากกว่าซัปพลาย แถมยังอยู่ในช่วงของเศรษฐกิจชะลอตัว การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ที่มีความทันสมัยระดับชาติในการที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

สำหรับกลยุทธ์ 4 ข้อที่ควรจะยึดปฏิบัติไว้ คือ ประการแรก ต้องมีการเร่งรัดการส่งออก เมื่อสิบปีที่ผ่านมา การส่งออกมีการขยายตัวสูงมาก ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงแล้วอะไรที่ทำให้การส่งออกขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่า 10-15%

ดร.โอฬาร กล่าวชี้แจงว่า "ปีนี้จึงตั้งเป้าการส่งออกให้โตในระดับ 18% โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีที่ 11 นี้ยังไปได้ดี โอกาสผิดพลาดมีน้อยซึ่งตอนแรกช่วงต้นปี ผมก็คิดว่าน่าจะขยายตัวได้เช่นนั้น แต่เมื่อการส่งออกในไตรมาสแรกของปีออกมาแค่ 5% แสดงว่ามีอะไรผิดปกติ ผมจึงเริ่มเตือนว่าเราคงจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อรับมือกันไว้บ้างแล้ว อะไร ๆ คงไม่สดใสเหมือนอย่างเคยซะแล้ว"

บิ๊กบอสแบงก์ไทยพาณิชย์ ขยายความต่อไปว่า ณ ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่ไม่ได้สูงอย่างปีที่ผ่านมา ข้อสมมุติฐานของสภาพเศรษฐกิจที่ดีมานด์มากกว่าซัปพลายและใช้นโยบาย DEMAND MANAGEMENT โดยใช้ดอกเบี้ยแพงเริ่มไม่ได้ผลตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว เพราะขณะนี้ปัญหาดีมานด์มากกว่าซัปพลายในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งจะต่างกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาที่ดีมานด์มากกว่าซัปพลายในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวสูง

ดังนั้น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากโจทย์ที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว นโยบายการเงินจึงใช้ไม่ได้ผล ก็ต้องมาหาวิธีแก้ปัญหามาสู่อีกด้านหนึ่ง คือ ด้าน SUPPLY SIDE นั่นคือ ในเรื่องของประสิทธิภาพการผลิต โดยที่จะดูได้จากสินค้าส่งออก 42 รายการ เพื่อหาปัญหาตัวเลขที่ออกมาบ่งบอกได้อย่างชัดเจนในกลุ่ม ที่ส่งออกดีขยายตัวเพิ่มถึง 15% ขณะที่กลุ่มที่มีความซบเซามีด้วยกัน 18 รายการ มีการส่งออกลดลงถึง 20% ทั้ง ๆ ที่ผลิตในประเทศเดียวกัน สภาพเดียวกัน ตลาดเดียวกัน แต่ผลประกอบการของสินค้า 2 กลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

จึงมีข้อสรุปออกมาชัดเจนว่า ความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทย ไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปแข่งขันกับประเทศเพื่อน และในตลาดโลกได้ ซึ่งก็ต้องมาหาสาเหตุให้ได้ว่าไทยแข่งขันไม่ได้เพราะอะไร เพราะเทคโนโลยีต่ำ หรือไทยไม่ได้ปรับสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น หรือคู่แข่งผลิตของเก่งกว่าไทย และหรือประเทศคู่ค้ากีดกันไทย เป็นต้น

ดร.โอฬาร เล่าให้ฟังต่อไปว่า "จากตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัวลง แบงก์ได้มีการศึกษามาตลอดและพอจะแยกแยะแต่ละรายการดูว่า คงจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพในการแข่งขันที่หมดไปแล้ว จึงทำให้เกิดภาวะตกต่ำ การแก้ไขต้องดูปัญหาหลักของแต่ละสินค้า และมุ่งแก้ไขปัญหาหลักก่อน เช่น ถ้ามีปัญหาคืนภาษีช้า ก็ต้องเร่งคืนภาษีให้กับผู้ผลิตเร็วขึ้น"

ส่วนการถ่ายทอดวิธีการแก้ปัญหาจำเป็นจะต้องมีสถาบันกลาง ทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมในการถ่ายทอดกระบวนความสำเร็จ อาทิ สถาบันมันสำปะหลัง สถาบันสิ่งทอ โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนให้เอกชนก่อตั้งและเป็นศูนย์กลางในการที่จะถ่ายทอดความจำเป็นในการปรับตัว กระบวนการฝึกอบรม การปรับปรุงโรงงานตัวเอง เป็นต้น

ประการที่สอง ต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น จะเรียกว่ารุ่งเรืองที่สุดก็เป็นได้ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโตติดต่อกันมาปีละประมาณ 9-10% ซึ่งตรงข้ามกับปัจจุบันนี้ที่เป็นแนวโน้มขาลง อีกทั้งมีปัญหาเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงทำให้ปัญหาเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพอยู่แล้วยิ่งตกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงปัญหาเงินเฟ้อและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในความเห็นของ ดร.โอฬาร นั้นเขาเชื่อว่า ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ การใช้นโยบายการเงินหรือ DEMAND MANAGEMENT เพราะเชื่อว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาในขณะนี้มาจากดีมานด์มากกว่าซัปพลาย

เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีโอเวอร์ฮีท เพราะความต้องการของคนในประเทศมีมากกว่าของที่มีในประเทศ โรงงานในประเทศก็โอเวอร์ฮีท มีเงินเฟ้อและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เมื่อดีมานด์มีมากเกินไปก็ต้องดึงดีมานด์ให้ต่ำลง โดยการใช้นโยบายการเงิน คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอการใช้จ่าย และพยายามที่จะเพิ่มซัปพลายขึ้น โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อเป็นดังนั้นซัปพลายก็จะเท่ากับดีมานด์หรือมากกว่า

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ของปัญหาเศรษฐกิจในแต่ละช่วงจะบีบให้ต้องคิดวิธีการใหม่ในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาแต่ละครั้งจะไม่ตายตัวว่าวิธีนี้จะได้ผลทุกครั้งไป ต้องเลือกให้เหมาะสม ตามแต่สถานการณ์แต่ละครั้ง การแก้ปัญหาเหมือนกับเป็นพหูพจน์ ว่าจะเลือกแบบไหนให้เหมาะเจาะลงตัว จับคู่กันให้ถูกสถานการณ์ก็จะคลี่คลายได้

ดร.โอฬาร กล่าวเพิ่มเติมสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้นต้องมีความชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใดจะไปได้ และอะไรที่ไปไม่ได้แล้ว ซึ่งพอจะสรุปภาพรวมคร่าว ๆ ไว้ได้ 5 ประเภทด้วยกัน คือ

1. อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานไม่สามารถที่จะแข่งขันได้แล้ว

2. อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขนาดกลาง มีแนวโน้มว่าพอจะไปได้


3. อุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสูงต้องพัฒนาคนให้ทันใน 10 ปีข้างหน้า

4. อุตสาหกรรมดั้งเดิม คือ อุตสาหกรรมการเกษตรจะต้องมีสถาบันกลาง ในการถ่ายทอดความสำเร็จ


5. อุตสาหกรรมบริการต้องใช้แรงงานมาก เทคโนโลยีปานกลางและล้ำสมัย และถ้าเป็นอุตสาหกรรมบริการทางด้านการเงินจำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญมากกว่าอุตสาหกรรมโรงงาน

ประการต่อมา คือ การส่งเสริมหรือเร่งระดมเงินออมภายในประเทศ ซึ่งทางธนาคารไทยพาณิชย์ก็สนองนโยบายนี้ด้วยดีด้วยการออกบริการเงินฝากระยะยาวปราศจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินฝากที่มีการฝากเงินประจำเดือนละเท่า ๆ กันไม่น้อยกว่า 24 เดือน แต่ละเดือนไม่เกิน 25,000 บาท และมีวงเงินฝากรวมไม่เกิน 600,000 บาท ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้เปิดตัวบริการดังกล่าว 2 ประเภทด้วยกัน คือ เงินฝากเพิ่มทรัพย์ และเงินฝากวิวาห์เปี่ยมสุข

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2538 ก็ได้ออกบริการเงินฝากระยะยาวในลักษณะใกล้เคียงกัน คือ เงินฝากเพื่อการศึกษา และเงินฝากเพื่อการเคหะ ซึ่งเงินฝากระยะยาว ทั้ง 4 รายการได้รับความสนใจเป็นอย่างดี เนื่องจากดอกเบี้ยสูงและบริการเสริมแบบครบครัน ซึ่งถือว่าธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้บุกเบิกการฝากเงินออมในระยะยาวและมีบริการแบบต่อเนื่องและหลากหลายซึ่ง ดร.โอฬาร บอกว่า

"ผมเคยพูดไว้ในงานสัมมนาต่าง ๆ หลายครั้งตั้งแต่ช่วยต้นปีที่ผ่านมาว่า ปีนี้เศรษฐกิจของประเทศจะไม่สดใสเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ระบบการเงินตึงตัว เตือนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เตรียมรับมือ แต่ก็ไม่ค่อยมีคนฟังเท่าไหร่ จนเวลาล่วงเลยกลางปีมาแล้ว ถึงเห็นภาพชัดเจนว่า ปีนี้เศรษฐกิจบ้านเราไม่ดีเลยถึงได้หันมาฟังสิ่งที่ผมพูด"

ประการสุดท้าย คือ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างประเทศจากหนี้ระยะสั้นให้เป็นหนี้ระยะยาว อย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหาบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในความเห็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์นั้นเชื่อว่า ภายในสิ้นปี 2539 หนี้ระยะสั้นคงลดลงเหลือไม่ถึง 20% เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างประเทศมันง่ายและเร็ว

"คือมันเป็นการกู้ระหว่างสถาบันกับสถาบัน เช่น ธนาคารกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มันง่าย และพวกนี้มีความเข้าใจในเรื่องการปรับโครงสร้างทางการเงินเป็นอย่างดี ไม่เหมือนรายย่อยมากู้จะยุ่งยากกว่า"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.