ทีโอทียื่นเข้าตลาดหลักทรัพย์29พ.ย.


ผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอทีเตรียมยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 29 พ.ย.นี้และคาดว่าจะเข้าตลาดฯได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2549 ซีอีโอยันปัญหาทุกอย่างแก้ไขหมดแล้วทั้งค่าธรรมเนียมไลเซนส์ที่ต่อรองเหลือไม่เกินปีละ 2 พันล้านบาท ค่าเลขหมายปีละ 260 ล้านบาท และเสนอทำ USO เอง

นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที กล่าวภายหลังประชุมบอร์ดว่า บอร์ดมีมติให้ทีโอทียื่นแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ (ไฟลิ่ง) ภายในวันที่ 29 พ.ย. นี้ และ คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2549 หากไม่มีปัจจัยภายนอกหรือภาวะฉุกเฉินมากระทบ ซึ่งการยื่น ไฟลิ่งก็เพื่อเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ ทางภาษีประมาณ 5% ตามกฎของตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด โดยจะยื่นไฟลิ่งผล การดำเนินงาน 6 เดือน ส่วนการทำคำ ชี้ชวนนักลงทุนและประชาชนทั่วไปจะใช้ผลการดำเนินงานเต็มปี 2548

สำหรับปัญหาหรือปัจจัยภายนอก ที่จะทำให้แผนการเข้าตลาดฯเลื่อนออกไปอีกนั้น คาดว่าภายในปี 2548 จะสามารถได้ข้อสรุปทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็น เรื่องค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบ กิจการโทรคมนาคม ที่คณะกรรมการ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรียกเก็บ 3% จากรายได้ ก็จะมีการต่อรองและหักลดหย่อนบางอย่าง ทำให้ค่าธรรมเนียมที่ทีโอทีต้องจ่ายให้ กทช.ในปีนี้จนถึงปี 2550 เหลือปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

ส่วนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมเลขหมายละ 1 บาท ทีโอทีจะจ่ายเฉพาะเลขหมายที่ทีโอทีใช้จริง ซึ่งรวมกับเลขหมายบริษัทคู่สัญญาร่วมการงานทั้งเอไอเอส ทรูและทีทีแอนด์ที รวมกันประมาณ 22 ล้านเลขหมาย หรือปีละประมาณ 260 ล้านบาท เนื่องจากนโยบายไม่แปรสัญญาทำให้ทีโอทีต้องรับภาระค่าเลขหมายแทนเอกชน

สำหรับบริการโทรคมนาคมทั่วถึง หรือ USO นั้นทีโอทีจะไม่จ่าย 4% จากรายได้ของทีโอที แต่จะใช้วิธีให้บริการ USO ตามที่ กทช.กำหนดปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพราะจะเสีย เงินน้อยกว่าจ่ายให้ กทช. 4% ซึ่งที่ผ่าน มาทีโอทีลงทุนบริการโทรคมนาคมทั่วถึงไปแล้วกว่า 10 โครงการ หรือมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท

บอร์ดยังมีมติให้ทำหนังสือขอลดหย่อนภาษีสรรพสามิตกับกระทรวง การคลัง โดยจะขอลดหย่อนค่าภาษีสรรพสามิตโทรศัพท์พื้นฐานจากเดิมจ่าย 2.2% จากรายได้ให้เหลือเพียง 0% และภาษีสรรพสามิต โทรศัพท์มือถือจากเดิมจ่าย 11% จะขอลดหย่อนเหลือ 5.5% แต่เอกชนคู่สัญญาที่ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานทั้งทรูและทีทีแอนด์ทียังต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต 2.2% เหมือนเดิม รวมทั้งเอไอเอสก็ยังคงต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต 11%

นายธีรวิทย์กล่าวถึงค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชันชาร์จว่า หลังจากหารือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม เกี่ยวกับบริการโทรศัพท์ ต่างประเทศได้ข้อสรุปที่อัตรานาทีละ 1.07 บาท จากเดิมในระบบไอดีดี ทีโอทีได้นาทีละ 3 บาท ระบบวอยซ์โอเวอร์ไอพีหรือโทร.ผ่านอินเทอร์เน็ต ทีโอทีได้นาทีละ 1.50 บาท เท่ากับทำให้ทีโอทีขาดรายได้ในส่วนนี้ไปปีละ 300 ล้านบาท

สำหรับค่าเชื่อมโครงข่ายในประเทศคาดว่าน่าจะสามารถสรุปได้ในอัตราเดียวกัน คือ 1.07 บาท แต่จะเป็นเพียงเพดานซึ่งผู้ประกอบการสามารถเจรจาลดหย่อนกันเองได้ โดยทีโอทีจะรับจ่ายค่าเชื่อมโครงข่ายแทนเอกชนภายใต้สัญญาร่วมการงาน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.