"ลีลาไมโครซอฟท์ JAVA & ACTIVE X"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงที่ไมโครซอฟท์ยังทำวางเฉยกับโปรแกรมภาษา JAVA ไตรรัตน์ ใจสำราญ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทลอจิก ตัวแทนจำหน่ายของซัน ไมโครซิสเต็มส์ กล่าวว่า "ไมโครซอฟท์ต้องสนใจจาวาแน่ เพราะเขาจะปล่อยให้ซันเล่นเกมนี้อยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าเขาทำเฉย อีกหน่อยเขาก็ตาย"

แต่ใครจะตาย ก็ต้องใคร่ครวญกันใหม่ เพราะแม้ซัน ไมโครซิสเต็มส์ จะเป็นผู้บุกเบิกภาษาโปรแกรมบนอินเตอร์เน็ต แต่ไมโครซอฟท์ก็ทำท่าจะหยิบชิ้นปลามันไปอีกแล้ว

ในสงครามคอมพิวเตอร์ต้องยอมรับว่า บริษัทไมโครซอฟท์ มหาอำนาจด้านซอฟต์แวร์ของโลก เป็น "จอมปิดล้อม" มาโดยตลอด

ดูเหมือนภาษา JAVA ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมมิ่งสำหรับอินเตอร์เน็ต ก็เป็นเหยื่อสีสวยงามอีกรายหนึ่งในเกมปิดล้อมของไมโครซอฟท์โดยที่ไมโครซอฟท์เองก็ไม่ได้ปฏิเสธจาวาแต่ประการใด ทั้งยังออกผลิตภัณฑ์ที่อาศัยจาวาด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ คงต้องพิจารณาลีลาไมโครซอฟท์กันให้ถ่องแท้

บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ไอบีเอ็ม, แมคอินทอช, เนสท์เคป, โนเวลล์ และรายล่าสุดคือซัน ไมโครซิสเต็มส์ ล้วนเผชิญกลยุทธ์ปิดล้อมของไมโครซอฟท์มาแล้วทั้งสิ้น ทั้งที่ในหลายเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์เป็นผู้เลียนแบบ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่ก้าวมาภายหลัง

ยกตัวอย่าง ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซึ่งมีการทำงานในลักษณะกราฟิก ไมโครซอฟท์ก็สร้างสรรค์ขึ้นมาโดยอาศัยแนวคิดของซีร็อกซ์

อย่างไรก็ดี ผู้อาศัยแนวคิดซีร็อกซ์ผลิตระบบปฏิบัติการทำนองนี้วางตลาดเป็นรายแรกคือ แอปเปิล คอมพิวเตอร์ เรียกกันว่าระบบ "แมคโอเอส" มีลักษณะใช้งานง่าย แสดงภาพกราฟิกได้อย่างสวยสดงดงาม จึงเป็นที่นิยมในตลาดการพิมพ์

แต่ไม่โครซอฟท์ซึ่งส่งวินโดวส์ลงตลาดทีหลัง ก็ช่วงชิงความเป็นเจ้าตลาดไปอย่างง่ายดาย เพราะมีราคาถูกกว่าและที่สำคัญคือโปรแกรมเมอร์ต่างพากันเขียนโปรแกรมให้สอดคล้องกับระบบของไมโครซอฟท์

กว่าแอปเปิลจะกลับตัวกลับใจยอมให้เช่าลิขสิทธิ์เทคโนโลยีของตนเอง เพื่อก้าวไปสู่ระบบเปิด ไมโครซอฟท์ก็แซงหน้าไปแล้วอย่างไม่เหลียวหลัง

ไอบีเอ็ม ก็เคยเจอลีลาปิดล้อมดังกล่าวนี้ ทั้งที่ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทเล็กที่อาศัยยุทธวิธีเติบโตโดยเกาะไปกับบริษัทใหญ่ซึ่งก็คือไอบีเอ็มนั่นเอง

ไอบีเอ็มเปิดตลาดใหญ่ให้ไมโครซอฟท์ โดยให้เป็นผู้ผลิตซอฟท์แวร์ระบบปฏิบัติการบนเครื่องไอบีเอ็มพีซี ยอดขายของไมโครซอฟท์จึงเติบโตไปตามยอดขายเครื่องไอบีเอ็ม และเครื่องพีซีของบริษัทต่างๆ ที่เลียนแบบไอบีเอ็ม ในขณะที่ไอบีเอ็มนั้นต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ไมโครซอฟท์

ครั้นพอไอบีเอ็มให้ไมโครซอฟท์ผลิตระบบปฏิบัติการแบบกราฟิกซึ่งช่อว่าโอเอส/2 ไมโครซอฟท์ก็ทำทีสนใจอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นก็ทิ้งโครงการนี้ไป เพื่อผลิตวินโดวส์ 95 อันลือลั่นออกสู่ตลาด

เมื่อไอบีเอ็มสร้างโอเอส/2 ขึ้นเอง ก็ปรากฏว่า ถูกไมโครซอฟท์ปิดล้อมไปแล้ว

วิธีคิดของไมโครซอฟท์มิได้สลับซับซ้อนอะไรนัก นั่นคือ สินค้าดีต้องมีหมัดเด็ด ราคาถูก เมื่อสามารถมีส่วนแบ่งตลาดได้มาก ก็จะเกิดผลกระทบในเชิงบวก หรือกลายเป็น "มาตรฐานอุตสาหกรรม" ที่ใครก็ต้องวิ่งเข้าหา ส่วนผู้ที่แข็งข้อก็จะถูกปิดล้อม และโดดเดี่ยว

ในระยะหลังไมโครซอฟท์ซึ่งแข็งแกร่งไปด้วยกำลังเงิน เริ่มใช้วิธีแจกฟรีสินค้า ด้วยข้ออ้าง "ประโยชน์แก่สาธารณะ" เช่น การแจกฟรีโปรแกรมนำทางบนอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า "อินเตอร์เน็ต เอ็กพลอเรอร์" ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว เป็นการสกัดกั้นโปรแกรมเนทสเคป นาวิเกเตอร์ ของบริษัทเนทสเคป คอมมูนิเคชั่น

การแจกฟรีเข้าข่ายการทุ่มตลาดหรือไม่ นี่นับเป็นเรื่องน่าขบคิด แต่ทุกคนก็ชอบของฟรีกันทั้งนั้น

คงไม่ต่างจากครั้งหนึ่งไมโครซอฟท์มีแผนใส่โปรแกรมไมโครซอฟท์เต็ตเวิร์ก (ซึ่งเป็นธุรกิจออนไลน์) ลงไปในวินโดวส์ 95 เพื่อให้ผู้ซื้อระบบปฏิบัติการนี้ สามารถเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ของไมโครซอฟท์ได้ทันที จึงทำให้ไมโครซอฟท์ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ สอบสวนในข้อหาผูกขาด แต่ก็เอาผิดไม่ได้

แต่กระนั้นก็ดี หากจะมองกันอย่างเป็นธรรม ข้อดีของไมโครซอฟท์ก็มีอยู่มาก เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสาร PC WEEK ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้านข่าวคอมพิวเตอร์รายงานว่า แม้แต่นักวิจัยของไอบีเอ็มก็ยังอยากทำวิจัยกับไมโครซอฟท์ เพราะมีโอกาสที่จะกลายเป็นสิค้าในท้องตลาด

ในขณะที่วุมิชัย รุจิระประภา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของไม่โครซอฟท์ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "ไอบีเอ็มมีการวิจัยจำนวนมากก็จริงอยู่ แต่โดยทั่วไปแล้วก็เป็นการวิจัยที่วางอยู่บนหิ้ง ต่างจากการวิจัยของไม่โครซอฟท์ เรายึดผู้บริโภคเป็นด้านหลัก"

เมื่อต้องการเข้าถึงผู้บริโภค ท่าทีของไมโครซอฟท์จึงไม่ใช่ผู้แข็งขืนต่อกระแสตลาด ถึงแม้ในบางครั้งออกจะล่าช้าจนเป็นผู้ตามหลังไปบ้าง ดังกรณีไม่เห็นความสำคัญของอินเตอร์เน็ต แต่ในที่สุดไมโครซอฟท์ ก็รีบปรับตัว หันหัวรบในการสร้างผลิตภัณฑ์ทุกอย่างให้สอดคล้องกับอินเตอร์เน็ต

"การไม่แข็งขืน แม้จะทำให้ถูกมองว่า เพลี่ยงพล้ำแต่จริงๆ แล้ว เป็นการปรับยุทธศาสตร์ที่น่ากลัว" นักวิเคราะห์ในวงการกล่าว

"อะไรที่ผู้บริโภคต้องการ ไมโครซอฟท์ก็ทำทั้งนั้นเมื่อผู้บริโภคไปสู่อินเตอร์เน็ต เราก็ไปสู่อินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกัน" อาภรณ์ ศรีพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็น

มิอาจปฏิเสธได้ว่า บนอินเตอร์เน็ต ภาพพจน์ของซัน ไมโครซิสเต็มส์ ออกจะดูเป็น "ของแท้" มากกว่าไมโครซอฟท์ และออกผลิตภัณฑ์สำคัญได้ก่อน อาทิ ภาษาจาวา อันเป็นภาษาโปรแกรมที่ใช้บนอินเตอร์เน็ต

ในระยะหลังซัน ไมโครซิสเต็มส์ ได้แยกบริษัทหนึ่งให้คิดค้นและทำธุรกิจเกี่ยวกับจาวาโดยเฉพาะ ชื่อบริษัท Java Soft

แรกๆ ไมโครซอฟท์ก็ไม่ให้ความสนใจกับภาาาจาวานักแต่เมื่อโปรแกรมเมอร์หันมานิยมใช้ ไมโครซอฟท์ก็รีบกลับลำ โดยลงนามในหนังสือแสดงความจำนงในการขอใช้ไลเซนส์ของจาวา และนำมาใช้ในอินเตอร์เน็ตเอ็กพลอเรอร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมนำทางหรือเบราเซอร์ของตนเอง

แสดงว่า บนอินเตอร์เน็ต เมื่อคนนิยมขบวนรถไฟสายจาวา ไมโครซอฟท์ ก็ขอเกาะติดขบวนไปด้วย เพียงแต่ระยะหลังซัน ไมโครซิสเต็มส์ ไม่อาจวางใจได้นัก เมื่อไมโครซอฟท์เริ่มแสดงมาด "จอมปิดล้อม" ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยการพยายามควบคุมรถไฟสายดิจิตอลนี้เสียเอง

ต้องยอมรับว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ภาษาจาวามีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างมากมาย ผู้ใช้ทั่วโลกให้ความนิยมจนมีผู้ใช้มากกว่า 5 แสนรายไปแล้ว ผลสำรวจของบริษัท 50 แห่งที่ติดอันดับ ฟอร์จูน 1000 ระบุว่ามีบริษัทอยู่ถึง 62% กำลังทำการทดลองเจรจากับจาวาอยู่ประมาณการว่า สิ้นสุดปี 1997 จาวาจะกลายเป็นภาษาที่ถูกใช้ในการสร้างแอพพลิเคชั่นสำหรับอินเตอร์เน็ตอย่างน้อย 60%

ในช่วงที่จาวาได้รับความนิยมและได้รับการสนับสนุนจากไอบีเอ็มและเนทสเคป ไม่โครซอฟท์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการครอบครองตลาดอินเตอร์เน็ตด้วยการสร้างระบบปฏิบัติการสำหรับอินเตอร์เน็ต ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์สำคัญตัวหนึ่งคือ ACTIVE X

ความสามารถและจุดมุ่งหมายของแอคทีฟ เอ็กซ์ใกล้เคียงกับจาวา เพียงแต่มุ่งเน้นเฉพาะเครื่องที่ใช้ชิปอินเทล

แอคทีฟ เอ็กซ์ กำลังเดินหมากเหนือกว่าจาวา โดยอุทิศให้เป็นทรัพย์สินสาธารณะสำหรับสังคมอินเตอร์เน็ตโดยมีไมโครซอฟท์เป็นผู้สนับสนุน ในขณะที่จาวายังคงเป็นลิขสิทธิ์ของซัน ไมโครซิสเต็มส์

ความเอื้อเฟื้อแบบไมโครซอฟท์ คู่แข่งย่อมมิอาจวางใจ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.