|

คลังเรียกธปท.ถกแก้ปัญหา"อีซี่บาย"
ผู้จัดการรายวัน(24 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ทนง" เตรียมเรียกผู้ว่าฯแบงก์ชาติ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" หารือกรณีปัญหา "อีซี่บาย" คิดดอกเบี้ยโหด ชี้อาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม หากพบช่องโหว่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้านผู้บริหาร"อีซี่บาย" ออกโรงโต้ทำธุรกิจตามกรอบธปท. แม้ก่อนประกาศใช้เกณฑ์ใหม่จะเคยคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึง 54% ขณะที่แบงก์กรุงเทพ หวังแบงก์ชาติ ผ่อนคลายเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีประชาชนผู้ได้รับความเสียหายดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีแกบริษัท อีซี่บาย จำกัด (มหาชน) ฐานเรียกเก็บดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานจาก ธปท. ถึงรายละเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จะเชิญม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท. มาหารือเพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขร่วมกันเร็วๆ นี้
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น จะต้อง พิจารณาว่าอีซี่บายปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่ ธปท. กำหนดไว้หรือไม่ หากในกรณีที่อีซี่บายไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ทางการจะต้องกลับมาทบทวนถึง ข้อกฎหมายว่ามีความเหมาะสมหรือมีช่องโหว่หรือไม่ และมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสมอย่างไร แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจึงจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้พยายาม เข้าไปดูแลผู้บริโภค หรือประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบมากเกินไป ล่าสุดการประกาศใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ที่กำหนดเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 28% นับเป็นมาตรการหนึ่งที่ออกมาเพื่อดูแลผู้บริโภคอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน ธปท. และกระทรวงยุติธรรม เองมีมาตรการดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว
"ผมยังตอบไม่ได้ว่าจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร ต้องรอหารือกับธปท.ก่อน และต้องดูว่าธปท. จะมีแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในแง่ของกฎหมายถ้าทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องถูกดำเนินการ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้" นายทนงกล่าว
อีซี่บายแจงทำธุรกิจตามกรอบ ธปท.
นายพีระพงษ์ กี้ประสพสุข ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อเงินสด บริษัท อีซี่บาย จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า บริษัทคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในระดับใกล้เคียงกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ และอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะหากคิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันได้ รวมทั้งการดำเนินกิจการมากว่า 9 ปี เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ เพราะบริษัทยังไม่เคยถูกทางการฟ้องร้องหรือ โดนปรับหลักเกณฑ์ของทางการ
"การฟ้องร้องดังกล่าวคงจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าบ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อแผนการดำเนินธุรกิจบริษัท ทั้งเรื่องแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ"
นายพีระพงษ์ กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบของทางการ โดยเฉพาะหลังจากที่ ธปท. ประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ กำหนด เพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสินเชื่อบุคคลไว้ไม่เกิน 28% วงเงินปล่อยกู้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน ของธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ห้ามเกิน 28% ต่อปี วงเงินปล่อยกู้ไม่เกิน 5 เท่า
อย่างไรก็ตาม ก่อนการประกาศหลักเกณฑ์ ดังกล่าว ผู้ประกอบการนอนแบงก์ทุกรายจะมีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูงกว่า 28% เฉลี่ยประมาณ 30-35% เพื่อสามารถดำเนินธุรกิจได้ และบริหารความเสี่ยง เพราะกลุ่มลูกค้า นอนแบงก์จะมีความเสี่ยงสูงกว่า และเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน
ขณะที่บริษัทอีซี่บาย ที่ผ่านมาคิดอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมกับลูกค้าเฉลี่ยประมาณ 30-35% และสูงสุดสำหรับลูกค้ากลุ่มพิเศษประมาณ 54% ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีอยู่ประมาณ 5% ของพอร์ตลูกค้าทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านราย
ทั้งนี้ หลังจากธปท.ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนสัญญาการกู้เงินใหม่ โดยลูกค้ารายใหม่จะเข้ามาอยู่ในเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดใหม่ทันที ส่วนลูกค้าเดิมบริษัทได้พยายาม ที่จะเร่งให้ลูกค้าเข้ามาเปลี่ยนสัญญาเป็นเงื่อนไขใหม่ ครบทั้งหมดก่อนวันที่ 30 มิถุนายนปีหน้าตามเกณฑ์ ธปท.
"อีซี่บาย พยายามจะเร่งให้ลูกค้าเข้ามาเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินดี ทั้งในแง่ของการเพดานดอกเบี้ย และวงเงินปล่อยกู้ตามกรอบของธปท. ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาเงินกู้แก่ลูกค้าแล้วกว่า 5 แสนราย คงเหลืออีกประมาณ 3 แสนราย"
นายพีระพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ถือหุ้นกลุ่มญี่ปุ่นมองว่าธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในประเทศไทยยังมีโอกาสขยายตัวสูง ขณะที่หลักเกณฑ์ของธปท.จะส่งผลดีตอการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยที่ผ่านมาทำให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงเดือนละประมาณ 20%
หวังธปท.ขยายเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต
นายโชค ณ ระนอง ผู้จัดการสายบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ในปี 2549 ธปท. คงจะมีการผ่อนคลายการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยธุรกิจบัตรเครดิต จากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 18% โดยเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่เหมาะสมน่าจะกำหนดให้อิงกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด เช่น อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ บวกส่วนต่าง เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตในปี 2549 นั้น คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าปีนี้ โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรของลูกค้าน่าจะเติบโตในอัตรา 20% เท่ากับปีนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจ เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ลูกค้ามีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและมีวินัยมากขึ้น เพราะปกติลูกค้าจะมีการใช้จ่ายผ่านบัตรในอัตรา 30%
การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ 18% อาจจะไม่สะท้อนความจริงในธุรกิจ เพราะต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทบัตรเครดิตไม่มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมรายปีเป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกของธนาคาร
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|