"ฉัตรชัย บุญยะอนันต์-สิงห์เฒ่าทีจี บทสรุปสายการบินใหม่ใครว่าง่าย?"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

"ในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่อยู่ในสถานภาพที่ดีพอจะลงทุน" บทสรุปของฉัตรชัย บุญยะอนันต์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งกล่าวถึงแผนการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติสายที่ 2 ที่คงไม่คุ้มหากจะเข้าไปดำเนินการในขณะนี้ แม้ใครจะมองว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็ตาม

ซึ่งก็ปรากฏว่าไม่มีชื่อของลูกหม้อสายการบินแห่งชาติคนนี้เข้าร่วมกลุ่มใดเลย ในการเปิดประมูลรอบใหม่ของกรมการบินพาณิชย์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

บุคคลผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการบินมาตั้งแต่หยุดชีวิตราชการตำรวจไว้ไว้ที่ยศร้อยตำรวจโท เข้าร่วมงานกับสายการบิน SAS ของยุโรปที่มาช่วยบริหารสายการบินของไทยจนรุ่งเรือง และร่วมงานกับบริษัทการบินไทยหลังการจัดตั้งเป็นสายการบินแห่งชาติที่บินออกต่างประเทศเต็มตัว

ตำแหน่งเริ่มต้นเมื่อปี 2514 ก็คือรองผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด ด้วยความรู้ที่สะสมจากต่างประเทศหลายสถาบัน บ่งบอกถึงความสามารถที่จะเข้าร่วมกับกิจการสายการบิน อันเป็นงานเชิดหน้าชูตาของคนไทยในสมัยเมื่อ 36 ปีก่อนได้ไม่ยาก

และนับได้ว่างานด้านการบินทำให้บุรุษสูงวัยผู้นี้พร้อมที่จะหวนคืนอีกครั้งหากเป็นไปได้ แม้จะเกษียณจากบริษัทการบินไทยเมื่อเดือนกันยายน 2536 ด้วยตำแหน่งสูงสุดด้านบริหารคือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งใช้ระหัสโค้ดย่อในการบินไทยว่า DD อันเป็นตำแหน่งที่หลายคนหมายปองไม่ว่าจะเป็นคนนอก หรือคนในก็ตาม

ถึงแม้มีกิจการที่ฉัตรชัยรับบริหารงานในธุรกิจส่วนตัวของพล. อ. อ. ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ คือโครงการสนามกอล์ฟ เฟรนชิพ เมโดวส์ คันทรีคลับ ที่บริเวณปากช่องสระบุรีในฐานะรองประธานบริหาร

หรือกระทั่งการนั่งเป็นกรรมการในกลุ่มดุสิตธานีของคุณหญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย กับกรรมการบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลล๊อปเมนต์ จำกัด ของหมอชัยยุทธ กรรณสูต ตลอดจนรับบริหารโครงการสีลม พรีเชียส ทาวเวอร์ให้กับราศรี บัวเลิศ จนถึงตำแหน่งอันทรงเกียรติด้วยฐานะวุฒิสมาชิกในรัฐสภาไทย ก็ไม่ได้ทำให้คนผู้นี้หยุดคิดเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจการบินไปได้

เริ่มตั้งแต่ฉัตรชัยได้รับการทาบทามให้นั่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณารูปแบบและแนวทางในการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติสายที่ 2 สมัยที่ชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อมีการเปิดรับข้อเสนอ ฉัตรชัยก็ได้ร่างแผนงานของการจัดตั้งสายการบินแห่งใหม่ไว้อย่างดี โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยบริหารงานในการบินไทย

แผนงานดังกล่าวไม่ได้ถูกนำออกมาใช้

เพราะเมื่อมีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอของเอกชนที่จะจัดตั้งสายการบินแห่งชาติครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนปีที่แล้วปรากฏว่ามีเพียงกลุ่มเดียวที่ยืนหยัดอยู่ได้ ก็คือกลุ่มบริษัท ปริ๊นเซส แอร์ไลน์ซึ่งนำทีมโดยบริษัท เจวีเคโฮลดิ้ง จำกัด ในฐานะตัวกลางผู้สานผลประโยชน์กับธุรกิจกลุ่มอื่นๆ

ครั้งนั้นถึงกับมีการระบุว่า ฉัตรชัยจะเข้าร่วมในฐานะกรรมการผู้จัดการ หรือผู้บริหาร ในฐานะที่คร่ำหวอดด้านการบินมานาน

ข่าวนั้นแม้ไม่ได้รับการยืนยันชัดเจน แค่เป็นเพียงการถูกทาบทามเท่านั้น เพราะกิจการที่ฉัตรชัยร่วมเป็นกรรมการ ต่างก็เตรียมตัวพร้อมเข้าร่วมจัดตั้งสายการบินสายที่ 2 ด้วยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี อิตาเลียนไทย แม้กระทั่งราศรี บัวเลิศเองก็ตาม เพียงแต่กลุ่มหลังนี้เป็นการโยงเข้าหากันเท่านั้น ไม่ได้มีสัญญามั่นเหมาะเหมือนกับเพื่อน "กลุ่ม 11" แต่อย่างใด ที่แน่นอนว่าจะหนุนฉัตรชัยเต็มตัว

จนที่สุดกลุ่มปริ๊นเซสฯ ก็กลายเป็นกลุ่มเต็งหามที่ไม่มีใครกล้าทาบเพราะเกรงว่าจะเสียทั้งเงินและเวลาหากเข้าไปเทียบ เนื่องจากมีการประกาศตัวอย่างชัดเจนว่ากลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาคการเมือง

การกลับมาของสิงห์เฒ่าอย่างฉัตรชัยจึงไม่เกิดขึ้นและไม่ปรากฏว่มีรายชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งจัดอยู่ใน "กลุ่ม 11" ที่จะมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนทางการเงินก็ไร้วี่แววในการเสนอตัวครั้งนั้นแม้จะมีศักยภาพสูงเพียงพอก็ตาม

การยื่นเสนอเปิดสายการบินใหม่ในครั้งแรกของกลุ่ม ปริ๊นเซส แอร์ไลน์ จึงปรากฏแต่เพียงพันธมิตร 6 กลุ่มคือนอกจากเจวีเค โฮลดิ้ง แล้วยังมี กลุ่มยูคอม, สยามสตีล กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล, ไทย ฟลายอิ้ง เซอร์วิส, บริษัท อคิวเมนต์ จำกัด และบริษัท อดิสยเทพ ฟิเดลลิตี้ จำกัด เท่านั้น

แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ไปไม่ถึงดวงดาวเมื่อแม้จะเป็นรายเดียวที่มาแรงที่สุด เหตุผลเพราะขาดหนังสือค้ำประกันจำนวน 500 ล้านบาทที่ต้องยื่นให้กับทางกรมการบินพาณิชย์ จนทำให้ต้องถูกล้มประมูลไปในที่สุด

แม้การประมูลรอบใหม่จะเปิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมาจะยังคงมี ปริ๊นเซสแอร์ไลน์เสนอตัวอีกครั้ง โดยมีกลุ่มม้ามืดนอกสายตาอันได้แก่กลุ่มบริษัท ดาต้า คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านการบินมาก่อนเข้ามาร่วมประชันข้อเสนอก็ใช่ว่าปริ๊นเซส แอร์ไลน์ จะได้รับชัยชนะ เพราะพันธมิตรกระเป๋าหนักที่เปลี่ยนขั้วไปอย่างแทบไม่เหลือ คงไว้แต่เจวีเค โฮลดิ้งในฐานะแกนนำอย่างเดิมเท่านั้น

โดยกลุ่มเจวีเคก็อาศัยวิทยา บัณฑิตกฤษดาเป็นแกนหลักในการเดินเรื่องออกหน้าเพื่อติดต่องาน ส่วนกลุ่มที่จะเข้ามาร่วมนั้น คงเป็นภายหลังที่กลุ่มนี้สามารถได้รับใบอนุญาตสำเร็จ

เห็นได้จากรายชื่อของผู้ร่วมก่อตั้งในรอบสองประกอบด้วย บริษัท เวิลด์ไวด์ เทรดดิ้ง แอนด์ ซัพพลายเออร์ จำกัด, บริษัท พีค แมนเนจเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนท์ เซอร์วิสเซส จำกัด

ซึ่งก็ไม่มีใครกล้าประกันได้ว่าใครจะเป็นผู้แสดงตัวในการรับเป็นผู้บริหารสายการบินใหม่หากได้รับการคัดเลือก เพราะฉัตรชัยเองก็บอกแต่เพียงว่ายังไม่รับบริหารให้ใครหากเงื่อนไขยังไม่เข้าตา

ที่สำคัญกลุ่มพันธมิตรที่เคยคิดจะชูบทบาทของฉัตรชัย ขึ้นมาเป็นผู้บริหารสายการบินแห่งชาติสายใหม่แข่งกับการบินไทยนั้นไม่มีใครพร้อมที่จะลงทุน

ฉัตรชัยระบุเงื่อนไขในการจัดตั้งสายการบินใหม่ที่เขาเขียนขึ้นกับมือเองนั้นต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ 5,000 ล้านบาท ขณะที่รับบาลกำหนดไว้ที่ 3,000 ล้านบาท

เงินจำนวนมหาศาลขนาดนั้นในยุคเศรษฐกิจฟุบเช่นนี้เป็นการยากที่จะมีนักลงทุนเสี่ยงตายมาร่วม หรือสถาบันการเงินที่ใจป้ำพร้อมที่จะปล่อยกู้ให้กับโครงการก็คงมีน้อยรายเช่นกัน

ในขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนก็ใช่ว่าจะได้มาคล่องตัว เพราะสายการบินใหม่ที่เปิดบินไปต่างประเทศทับเส้นทางการบินไทย ยังต้องพึ่งพารัฐ และการเมืองในการเจรจาสิทธิการบินให้ และใช่ว่าฝ่ายรัฐจะให้การสนับสนุนแล้วจะเปิดบินได้ ก็ต้องดูประเทศที่จะเปิดทำการบินกับไทยด้วยว่าพร้อมที่จะรับเพิ่มสายการบินใหม่ด้วยหรือเปล่า

ถ้าจะให้รุ่งก็ต้องบินเฉพาะในประเทศไทยที่รัฐบาลสามารถจัดสรรเรื่องเส้นทางการบินให้โดยไม่ยากไปก่อน โดยสายการบินใหม่ต้องได้สิทธิ์การบินภายในประเทศทั้งหมดตามเงื่อนไขทีโออาร์ บินทับเส้นทางของการบินไทยได้ เพื่อเปิดให้มีการแข่งขันเสรี และให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือก

แต่สิ่งที่ฉั้ตรชัยย้ำเตือนกับสายการบินผู้มาใหม่ก็คือการเสนอตัวเข้าเปิดทำการบินนั้น ไม่ใช่มีเพียงแค่ข้อเสนอธรรมดาที่ไม่มีแผนการบินที่แน่นอนและชัดเจน เพียงทำเพื่อให้ได้สิทธิ์ใบอนุญาตในการจัดตั้งบริษัทเท่านั้น แล้วเรื่อการบริหารค่อยกันทีหลัง เพราะเงื่อนไขรัฐต้องการให้เปิดทำการบินให้ได้ภายใน 1 ปี ซึ่งหากทำไม่ได้ก็เท่ากับไม่เป็นการสร้างสรรค์ให้กับธุรกิจการบินของประเทศพัฒนาไปในทางที่ดี

และสิ่งที่ผู้คร่ำหวอดกับวงการบินผู้นี้ย้ำเตือนก็คือสายการบินแห่งชาติใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยสำหรับมือใหม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.