"วิเนต พันธุนะ กับงานในร้าน 'Bookazine'"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

"บุ๊คกาซีน" เป็นหนึ่งในสองร้านหนังสือที่ขายเฉพาะหนังสือต่างประเทศนอกเหนือจาก "เอเชียบุ๊ค" ในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นร้านดังกล่าวมีกิจกรรมแนะนำหนังสือและเชิญนักเขียนมาเปิดตัวหนังสือไม่ต่ำกว่า 6-7 ครั้ง ถือเป็นความสำเร็จในขั้นหนึ่งสำหรับการทำความรู้จักกับนักอ่านของร้านหนังสือที่ตั้งมาเพียง 6-7 ปีเท่านั้น

ความสำเร็จส่วนหนึ่งเป็นผลงานของวิเนต พันธุนะ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ แผนกจัดซื้อและโฆษณา ของบริษัทดิสทริ-ไทย เจ้าของร้านบุ๊คกาซีนซึ่งวิเนตเข้ามาร่วมงานกับที่นี้ได้หนึ่งปีเศษ แต่ช่วยให้ชื่อของบุ๊คกาซีนเป็นที่รู้จักของนักอ่านมากขึ้นรวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากนักเขียนด้วย

ล่าสุดไมค์ ชินอย นักข่าว CNN ประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งนำประสบการณ์ที่ทำข่าวในประเทศจีนกว่า 2 ทศวรรษมาเขียนเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตใช้ชื่อว่า "Chaina Live : Two Decades in the Heart of the Dragon" ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่วางใจให้บุ๊คกาซีนขายหนังสือให้เขา

ชินอยได้เดินทางมาโปรโมตหนังสือของเขาที่เมืองไทยเป็นแห่งแรกก่อนที่จะออกไป ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไต้หวัน โดยเลือกประเทศที่มีการใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นหลัก และอาจเพราะเป็นพื้นที่ที่มีคนเชื้อสายจีนและสนใจ CNN ด้วย

เหตุผลที่เขาเลือก "บุ๊คกาซีน" แทนที่จะเป็นเอเชียบุ๊ค วิเนตเชื่อว่าคงเป็นเพราะผลงานในอดีตที่บุ๊คกาซีนได้จัดกิจกรรมแนะนำหนังสือ และมีการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นที่รู้จักของนักอ่านทั้งหลาย

ส่วนเหตุผลในการรับขายหนังสือที่มีผู้เสนอเข้ามาให้พิจารณาอย่างของชินอยหรือการเลือกหนังสือเข้าร้านโดยทั่วไปนั้น วิเนตกล่าวว่าถ้าเปรียบเทียบกับร้านอื่นแล้วบุ๊คกาซีนยังถือว่าตั้งมาไม่นานนัก ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีแนวทางในการเลือกหนังสือที่เคร่งครัด "ถ้าอะไรที่คิดว่าน่าจะขายดีเราก็รับเข้ามาขาย เราใช้คอมมอนเซนต์เป็นหลัก"

แม้จะใช้ความรู้สึกว่าเรื่องใดจะขายได้ แต่ส่วนหนึ่งได้มาจากประสบการณ์การทำงานมากว่า 26 ปีในประเทศไทยที่ได้หล่อหลอมให้เธอได้เข้าใจคนไทยแลเข้าใจการประชาสัมพันธ์ว่าควรเลือกหนังสือเล่มใดและประชาสัมพันธ์อย่างไร

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2514 วิเนตเข้ามาในประเทศไทยหลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศฟิลิปปินส์ขณะมีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น เนื่องจากระบบการศึกษาของที่นั่นใช้เวลาน้อยกว่าของไทย ถ้าเทียบกันแล้วจะใช้เวลาเรียนในระดับประถม 7 ปี มัธยม 4 ปี และระดับมหาวิทยาลัย 4 ปี และในช่วงประถมระดับ 6 วิเนตได้สอบเทียบผ่านระดับ 7 จึงลดเวลาเรียนลงได้อีก 1 ปี

ขณะที่ศึกษาในระดับปริญญาตรีอยู่นั้น เธอได้พบรักกับหนุ่มไทยที่ไปเรียนปริญญาโทอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ซึ่งขณะนั้นเขาไปทำปริญญาโททางด้าน Management Engineering เป็นยุคที่คนไทยนิยมส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือที่นั่น

เมื่อสำเร็จการศึกษาเธอจึงตัดสินใจจากบ้านเกิดเมืองนอนมาเมืองไทยเพื่อแต่งงานและตั้งใจที่จะลงหลักปักฐานของชีวิต "แม้ประเทศไทยจะเป็นสิ่งแปลกใหม่ แต่ด้วยความที่ว่าเราเป็นคนชอบสิ่งท้าทายและการแสวงหาจึงกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจไปทุกอย่าง ตื่นเต้นว่าหน้าตาคนไทยช่างเหมือนกับคนฟิลิปปินส์" วิเนตกล่าว

เมื่อมาอยู่เมืองไทยงานแรกที่วิเนตเริ่มทำคืองานสอนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานสอนทางด้านภาษาอังกฤษตามความถนัดด้านภาษาของเธอ

แห่งแรกเป็นโรงเรียนของกองทัพบก ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ร.ร. สุรศักดิ์มนตรี ต่อมาจึงย้ายมาที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น (ในขณะนั้น) วิเนตสอนอยู่ที่นี่ 3 ปีและช่วงนี้เองเธอมีเกร็ดเล็กๆ เกี่ยวกับลูกศิษย์ของเธอคนหนึ่งซึ่งต่อมาเป็นดาราดังคือ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เธอเล่าว่าลูกศิษย์ของเธอคนนี้มีนิสัยอย่างหนึ่งที่จำได้ไม่ลืมเป็นคนช่างอ้อนช่างเอาใจ

เช่นเดียวกับเมื่อเธอย้ายมาอยู่ที่ใหม่ "ย้ายไปสอนที่เอแบคอยู่ 2 ปี สอนระดับปริญญาตรีทางด้าน Personnel Management และภาษาอังกฤษที่นี่ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของดาราดังอีกคนคือ อัญชลี จงคดีกิจ"

สำหรับลูกศิษย์คนนี้วิเนตเล่าว่าเป็นคนค่อนข้างขยันและฉลาด เงียบๆ เรียบร้อย ตั้งใจเรียนชนิดนั่งหน้าชั้นเป็นประจำ และแน่นอนเธอได้เป็นที่ปรึกษาตามหน้าที่ของครูกับนักเรียนคนนี้ด้วยเช่นกัน

ต่อจากนั้นเธอจึงผันตัวเองจากชีวิตครูไปเป็นพิธีกรประจำหมู่บ้านไทยของโรงแรมโรสการ์เด้นในสวนสามพราน ก่อนจะมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ (Publication Officer) ที่ SEMEO ซึ่งเป็นหน่วยงานเอ็นจีโอเกี่ยวกับด้านการศึกษาในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ตอนอยู่ที่ซิมิโอวิเนตได้หาเวลาศึกษาต่อในระดับปริญญาโททางด้านสื่อสารมวลชนที่ ม. กรุงเทพ เนื่องจากมองเห็นว่าการทำงานที่ผ่านมามักเกี่ยวข้องกับงานด้านนี้เป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับก่อนหน้านั้นเธอได้เป็นคอลัมนิสต์ดอิสระอยู่แล้วให้กับหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นซึ่งนับถึงปัจจุบันเธอเขียนติดต่อกันมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว

และที่ซิมิโออีกนั้นแหละที่วิเนตได้มีโอกาสร่วมงานกับ ศจ. มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ประจำประเทศไทย เนื่องจากท่านทราบว่าเธอเป็นคอลัมนิสต์ที่เขียนบทความเกี่ยวกับวัมนธรรมของประเทศไทยอยู่ด้วย จึงให้วิเนตเขียนถึงกรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของไทยซึ่งสูญหายแล้วไปปรากฏว่าถูกนำไปตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกา

"เรื่องทับหลังนารายณ์บรรทมศิลป์พี่เป็นคนแรกที่เขียนถึงว่าถูกขโมย เพราะว่าเจ้านายในตอนนั้นคือ ท่านสุภัทรดิศ บอกให้ไปสัมภาษณ์ท่านเพราะยังไม่มีใครรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร" วิเนตกล่าว

ในครั้งนั้นนับว่าวิเนตกล้าหาญมากในการนำเรื่องดังกล่าวมาเปิดเผยเพราะเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ แต่เนื่องจากเธอมีข้อมูลถูกต้องโดยตรงจากทั้งเจ้านายและหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ และเนื่องจากเธอมีหน้าที่ทำเอกสารเผยแพร่ข้อมูลของซิมิโออยู่ด้วยแล้วจึงเป็นโอกาสสนับสนุนให้เธอมีข้อมูลสำหรับงานเขียนอยู่ตลอดเวลา

วิเนตทำงานในหน่วยงานของเอ็นจีโออยู่หลายปี แห่งท้ายสุดได้ทำให้กับหน่วยงาน "Service Children" เป็นหน่วยงานของอังกฤษที่ให้ความช่วยเหลือเด็กยากจน งานที่นี่ทำให้วิเนตมีโอกาสไปสัมผัสชีวิตเด็กยากจนและด้อยโอกาสในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ผู้อพยพชาวเวียดนามในฮ่องกง หรือศูนย์สุขภาพในพื้นที่ห่างไกลความเจริญของประเทศเนปาล เวียดนาม กัมพูชา หรือแม้แต่ประเทศไทย

วิเนตต้องไปเยี่ยมเด็กตามศูนย์ต่างๆ ในพื้นที่เอเชียอาคเนย์และให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก สุขภาพอนามัย รวมทั้งการคุมกำเนิด ทำให้ได้เห็นสภาพเด็กที่ค่อนข้างน่าสงสารอยู่เป็นเวลา 4-5 ปี ซึ่งทุกครั้งเมื่อกลับมาจากการลงพื้นที่เธอจะรู้สึกเหนื่อยมาเป็นสองเท่า เพราะเป็นความเหนื่อยทางด้านร่างกายและจิตใจ แม้ปัจจุบันเมื่อหวนคิดถึงการทำงานในช่วงนั้นความรู้สึกเศร้าสลดยังมีอยู่อย่างชัดเจน

หลังจากทำงานที่ไม่หวังผลกำไรในแวดวงเอ็นจีโอมาหลายปี ชีวิตของวิเนตก็ต้องมีอันพลิกผันให้มาทำงานในภาคธุรกิจอย่างในปัจจุบัน เพราะ "องค์กรเขาจะเริ่มปิดตัวเองเนื่องจากเงินสนับสนุนที่มาจากเงินบริจาคจากต่างประเทศน้ยอลงเพราะสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ" วิเนตกล่าว

สำหรับการทำงานที่บุ๊คกาซีนซึ่งต้องดูแลทางด้านฝ่ายจัดซื้อทั้ง 6 สาขา อันได้แก่ สาขาสีลมชั้น 1 อาคารซีพีทาวเวอร์, สาขาสุขุมวิท บางกะปิพลาซ่า, สาขาโรงแรมแอมบาสเดอร์, สาขาเพลินจิต ชั้น 3 ห้างโซโก้, สาขาพหลโยธิน ชั้น 1 อาคารพหลโยธินเพลส และสาขาพัทยา 1 และ 2 โรงแรมรอยัลการ์เด้นท์พลาซ่า

ขณะนี้ยังถือว่าเป็นสิ่งท้าทายสำหรับวิเนตเนื่องจากต้องคิดงานโดยอิงกับผลกำไรในเชิงธุรกิจเข้ามาด้วย ในขณะเดียวกันการทำงานในหน่วยงานเอกชนทำให้เธอรู้สึกคล่องแคล่วมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เธอชอบโดยส่วนตัวอยู่แล้ว "พี่เป็นคนขอบศึกษา ค้นหาอยู่ตลอดเวลาอย่างหนังสือก็ไม่ใคร่อ่านพวกนวนิยาย แต่จะชอบอ่านพวกฮาวทู" ขณะเดียวกันเฑอยังมีงานเขียนอิสระที่ชอบคือเรื่องอาหารในเซกชั่นโฟกัสทุกวันอาทิตย์ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น

ปัจจุบันวิเนตพำนักอยู่ย่านเมืองเอกกับสามีซึ่งหลังจากกลับมาเมืองไทยแล้วก็เข้ารับราชการทหาร จนได้ยศว่าที่พันเอกแห่งกองทับพอากาศไทย เธอมีบุตรชายหนึ่งคนวัย 18 ปี ที่เธอเปิดโอกาสให้ทำงานพิเศษในขณะที่เรียนไปด้วย เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ชีวิตให้กับตัวเขาเองเช่นเดียวกับเธอที่ผ่านประสบการณ์การทำงานมาอย่างโชกโชน

วิเนตอยู่เมืองไทยมากว่า 26 ปีแล้วเมื่อให้กล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับเมืองไทยเธอว่า "ถ้าพูดถึงเมืองไทยแล้วพี่ชอบเมืองไทยมากกว่าฟิลิปปินส์ถึงแม้ว่ารถติด รู้สึกว่าเราเป็นคนไทยมากกว่าเพราะอยู่มาหลายปีและครอบครัวก็อยู่ที่นี่ด้วย ถ้าไปฟิลิปปินส์ก็รู้สึกว่าไปในฐานะนักท่องเที่ยวมากกว่า ญาติพี่น้องส่วนใหญ่ก็ย้ายไปอยู่อเมริกาเกือบหมดแล้ว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.