|
7 BANK
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่น (จากนี้ขอเรียกว่า ธนาคาร analogue*) หลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการขึ้นมาใหม่ในหลายมิติ เริ่มจากการรวมตัวกันเป็นธนาคาร analogue ขนาดใหญ่ไล่ไปจนถึงรายละเอียดเรื่องการ reform อาคารสถานที่เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการเงิน และให้บริการลูกค้าด้วยมาตรฐานที่สถาบันการเงินระดับโลกพึงมี ในภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นเช่นนี้ 7 BANK ซึ่งเป็นธนาคารใหม่ภายใต้รูปแบบของธนาคาร digital* สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดดจนกลายเป็นที่จับตามองมาตลอด 5 ปี
ในปัจจุบันภาพลักษณ์ของญี่ปุ่นอาจถูกมองว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่นั่นไม่อาจใช้ได้กับระบบ ATM ของธนาคาร analogue เนื่องจากเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ATM ของธนาคาร analogue ทั้งหลายจึงพร้อมใจกันงดให้บริการในยามวิกาล (ยกเว้นแต่ธนาคาร UFJ ที่เพิ่งหันมาเอาใจลูกค้าด้วยการเปิดบริการ 24 ชั่วโมงเมื่อไม่กี่ปีมานี้) ในขณะเดียวกันการใช้บริการหลัง 6 โมงเย็นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษและจะยิ่งแพงขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัวหากไปขอใช้บริการในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ
ยิ่งไปกว่านั้นเครื่อง ATM ของธนาคาร analogue ดังกล่าวยังรักษาธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงวันหยุดปีใหม่ของญี่ปุ่นไว้อย่างเหนียวแน่นโดยการหยุดทำการต่อเนื่องประมาณ 4-5 วัน (ขึ้นกับธนาคาร) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับคนที่มีงานยุ่งช่วงปลายปีจนไม่มีเวลาได้วางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าหรือคนที่เกิดจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมาอย่างเร่งด่วน
การขยายตัวของกลุ่มบริษัท Seven & i Holdings ที่มีแกนนำหลักสองส่วนคือ Ito Yokado ซึ่งเป็น retailer รายใหญ่กับ 7-Eleven เมื่อปี 2001 กำเนิดแนวคิดของบริการลูกค้าแบบครบวงจรซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง IY BANK โดยดึงเอาผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญแบบมืออาชีพอย่าง Takashi Anzai อดีต president ของ The Bank of Japan เข้ามาร่วมงาน
ถึงแม้ว่า 7 BANK เพิ่งจะ rebrand ทั้งชื่อและโลโกมาจาก IY BANK เมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยหน้าตาใหม่ที่ละม้าย 7-Eleven มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประชาชนทั่วไป จดจำ 7 BANK ได้ง่ายขึ้นซึ่งมีตัวเลขชี้ชัดจากยอดจำนวนครั้งการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
7 BANK นับเป็นธนาคารแรกที่นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ผนวกกับวิสัยทัศน์ ที่วางไว้ซึ่งปิดช่องว่างของธนาคาร analogue ได้อย่างลงตัว โดยมุ่งเน้นสนองความต้องการของลูกค้าว่าด้วยความสะดวก รวดเร็ว แน่นอน และมีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เชื่อถือได้ ด้วยความเป็นธนาคาร digital ของ 7 BANK จึงไม่จำเป็นต้องมีอาคารที่ตั้งสาขา และการว่าจ้างพนักงานประจำเคาน์เตอร์เหมือนอย่างธนาคาร analogue ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนของธนาคารได้มหาศาล อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีสมุดบัญชีเงินฝาก ลูกค้าถือบัตร ATM ของ 7 BANK เพียงใบเดียวสามารถดำเนินการทุกอย่างผ่านระบบเครือข่าย ATM และอินเทอร์เน็ตของธนาคารได้ทุกที่ทุกเวลา
ในกรณีเกิดปัญหาใดๆ ก็ตาม สามารถโทรศัพท์สอบถามยังศูนย์บริการลูกค้า และ/หรือในกรณีที่จำเป็นจะมีพนักงานเดินทางไปพบลูกค้าได้ทันทีทุกที่ทุกเวลาเช่นกัน สำหรับลูกค้าที่ประสงค์จะมีหลักฐานเป็นบันทึกตัวเลข นั้นสามารถขอใบตรวจสอบบัญชีซึ่งจัดส่งถึงบ้านทางไปรษณีย์ทุกเดือน
แนวคิดนี้อาจฟังดูราวกับเป็นกลยุทธ์ของธนาคารในจินตนาการเกินกว่าจะสรรค์สร้างให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดำเนินงานของ 7 BANK เป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานมนุษย์และแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอันมีจำกัด ทั้งนี้ความสำเร็จนั้นมีส่วนสนับสนุนจากประชากรส่วนใหญ่ที่มีนิสัยซื่อตรงและมีความรู้คุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดี
ทุกคนที่มีที่อยู่แน่นอนในประเทศญี่ปุ่น พร้อมหลักฐานที่ตรวจสอบได้สามารถขอเปิดบัญชี 7 BANK ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือส่งใบสมัคร ซึ่งวางไว้ที่ 7-Eleven ได้ทางไปรษณีย์ เมื่อเปิดบัญชีแล้วลูกค้าสามารถใช้บริการ ATM ของ 7 BANK ที่มีมากกว่า 10,000 เครื่องได้ 24 ชั่วโมงตลอด 365 วัน ที่ห้าง Ito Yokado และ 7-Eleven ทุกสาขา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น
ทั้งการฝาก-ถอนและตรวจสอบยอดคงเหลือทำได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในระหว่างวัน (ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม) ของทุกวันรวมทั้งเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ เฉพาะการเบิกเงินสดหลังช่วงเวลาดังกล่าวจึงจะเสียค่าธรรมเนียมในราคา 105 เยน
นอกจากนี้ยังสามารถนำบัตร ATM ของ (1) ธนาคาร analogue (2) สินเชื่อ (3) ไปรษณีย์ (4) บรรษัทเงินทุน (5) บริษัทประกัน (6) credit cards มาใช้กับเครื่องของ 7 BANK ได้ตลอดเวลาโดยเสียค่าธรรมเนียมในอัตราเท่ากันหรือถูกกว่าค่าธรรมเนียมของบัญชีต้นสังกัดเสียอีก รูปแบบใหม่ที่เป็นจุดแข็งอีกอย่างของ 7 BANK คือบริการ internet Banking ซึ่งลูกค้าสามารถทำการโอนเงิน-ตรวจสอบยอดบัญชีได้ตลอดเวลาผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์จากเครือข่าย อินเทอร์เน็ตในออฟฟิศหรือจากที่บ้าน หรือโน้ตบุ๊กที่ต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายขณะออกไปทำธุระข้างนอก และรวมถึงการ access โดย ตรงจากโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) นอกจากนี้ลูกค้าของ 7 BANK ที่ทำการโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตจะเสียค่าธรรมเนียมเพียงครึ่งเดียวในราคาเพียง 52 เยน
ในบางครั้งโดยเฉพาะช่วงที่จวนเจียนถึงกำหนดเส้นตายของงานบางอย่าง การประหยัดเวลาที่ต้องเดินทางไปต่อคิวที่ธนาคาร ได้เพียง 1 นาที ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ดังนั้นความสะดวกที่เชื่อถือได้นี้จึงกลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคยุค IT ในญี่ปุ่นที่สามารถทำธุระสองอย่างได้ในสถานที่เดียวกัน ทำให้ลูกค้า 7 BANK นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ความพึงพอใจจากลูกค้าที่มีต่อ 7 BANK หาใช่ 100% ไม่ อย่างน้อยในปัจจุบัน 7 BANK ยังไม่มีบริการสำหรับลูกค้าที่จำเป็นต้องติดต่อทางด้านการเงินกับต่างประเทศ ซึ่งความเป็นไปได้ในการพัฒนาส่วนนี้มีมากน้อยเพียงใดยังไม่สามารถประเมินออกมาได้เพราะไม่มีสิ่งใดในโลกที่สมบูรณ์แบบในตัวเอง ธนาคาร analogue ยังคงมีความสำคัญและจำเป็นในฐานะสถาบันหลักของระบบการเงินญี่ปุ่น ซึ่งหากเปรียบธนาคาร analogue เป็นซามูไรเศรษฐกิจ* แล้ว ความคล่องตัวในการบริการจากความมีตัวตนที่ดูเหมือนไร้ตัวตนของธนาคาร digital อย่าง 7 BANK นี้คงเทียบได้กับนินจาเศรษฐกิจ* ที่ทำงานสอดคล้องสัมพันธ์กันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อไป
หมายเหตุ * เป็นคำที่ผู้เขียนกำหนดขึ้นมาเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|