Super Girl Chinese Idol (2)

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สาเหตุที่ China Europe International Business School (CEIBS) สถาบันภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการค้าต่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน (MOFTEC) และคณะกรรมาธิการยุโรป กระโดดเข้ามาจับรายการ "ซูเปอร์ เกิร์ล" เป็นกรณีศึกษา (Case Study) ก็อันเนื่องมาจากสถาบันแห่งนี้มีศิษย์เก่านามซุนจ้วน ผู้วางแผนการตลาดให้กับรายการดังกล่าว

กุนซือการตลาดของ Chinese Idol ผู้นี้กล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ความสำเร็จของรายการซูเปอร์เกิร์ลนี้เป็นตัวอย่างของการผสมผสานสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และสื่อสิ่งพิมพ์ ในการทำการตลาดได้อย่างลงตัวที่สุด นอกจากผลทางธุรกิจแล้วกรณีนี้ยังเป็นตัวอย่างสาธิตให้เห็นถึงประสิทธิภาพและความทรงพลังของสื่อยุคใหม่ของจีนอีกด้วย

ซุนจ้วนศิษย์เก่า EMBA'99 จะเป็นผู้เขียนกรณีศึกษาของรายการซูเปอร์เกิร์ล ร่วมกับ ดร.ลิเดีย ไพร์ซ (Lydia Price) รองศาสตราจารย์ด้านการตลาดของ CEIBS โดยมีกำหนดจะตีพิมพ์กรณีศึกษานี้โดยเร็วที่สุด

ไม่น่าแปลกที่ความสำเร็จในเชิงธุรกิจของซูเปอร์เกิร์ลจะทำให้รายการในทำนองเดียวกันที่เกิดมาก่อน เกิดมาพร้อมๆ กัน และ เกาะกระแสภายหลัง ถูกโปรโมตอย่างหนักและได้รับความสนใจจากคนจีนทั่วประเทศ อย่างเช่น รายการ My Show ของสถานีโทรทัศน์เซี่ยงไฮ้ รายการสรรหาซูเปอร์พิธีกรของสถานี โทรทัศน์อานฮุย ทั้งกระแสยังแพร่จากทางสื่อโทรทัศน์เข้าไปยังสื่ออินเทอร์เน็ตอีกด้วย

ล่าสุดเว็บไซต์พอร์ทัลยอดนิยมติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศจีน นาม โซหู (Sohu) ก็กำลังจัดรายการแข่งขัน "ซูเปอร์ เกิร์ล" ภาคอินเทอร์เน็ต ที่ใช้ชื่อเต็มว่า "อินเทอร์เน็ตซูเปอร์เกิร์ล" ผ่านทางเว็บไซต์ของตัวเองอยู่เช่นกัน (เว็บไซต์ : http://supergirl. sohu.com/)

สิ่งที่น่าตกใจก็คือว่า ซูเปอร์เกิร์ลภาค อินเทอร์เน็ตนี้เปิดช่องทางให้มีคนเข้าร่วมได้ เยอะยิ่งกว่าและง่ายกว่าเดิมคือ สาวๆ สามารถสมัครและร้องเพลงส่งเสียงตัวเองเข้าคัดเลือก ผ่านช่องทางทางอินเทอร์เน็ตได้ทันที!!!

ด้วยฐานจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนมากกว่า 130 ล้านคน วิธีการเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ชาญฉลาดเอามากๆ แต่ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ นอกจากอินเทอร์เน็ต แล้ว เว็บไซต์โซหูยังเปิดช่องทางการสมัคร-ส่งเพลงเข้าประกวดผ่านทางโทรศัพท์ได้ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ เพียงแค่ยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาร้องเพลงก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ โดยทางผู้จัดเน้นย้ำตรงที่ว่ารายการนี้ผิดกับรายการอื่นคือ กรรมการผู้คัดเลือกจะฟังความสามารถทางการร้องเพลงเป็นหลัก เพราะมีแต่เสียงเพลงให้ฟัง (แต่ถ้าใครจะแปะรูปสวยของตัวเองไว้ในเว็บไซต์ ลงประวัติ หรือเขียนบันทึกชักชวนคนให้ลงคะแนนก็ได้ไม่ว่ากัน)

การประกวด "อินเทอร์เน็ตซูเปอร์ เกิร์ล" ขยายขอบเขตการแข่งขันไปทั่วประเทศ จีนเช่นเดียวกับซูเปอร์เกิร์ลต้นตำรับ โดยจะแบ่งไปตาม 5 เขต/เมืองหลักของจีนประกอบ ด้วย ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู กวางเจา อู่ฮั่น โดยวิธีการคัดเลือกรอบแรกก็คือ ผ่านการให้คะแนนของกรรมการ ควบคู่ไปกับการรวบรวม คะแนนผ่านทางเว็บไซต์ ผ่านโทรศัพท์ ผ่าน SMS และ MMS หาผู้ได้คะแนนสูงที่สุด 100 คนแรกของแต่ละเขต

เมื่อรอบแรกคัดมาได้ 100 คน ต่อมาระหว่างช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนถึงกลาง เดือนธันวาคม 2548 นี้ก็จะมีการคัดเลือกรอบสองตาม 5 เขตแข่งขันข้างต้น โดยคราวนี้ผู้เข้ารอบจะต้องปรากฏตัวให้กรรมการและผู้ชมเห็น โดยแต่ละเขตจะคัดจากจำนวน 100 คนให้เหลือ 3 คน ทั้งนี้เมื่อเหลือผู้เข้าแข่งขัน 15 คน แล้วก็จะมาจัดการแข่งขัน ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อคัดเลือกหาผู้ชนะเลิศเอาในช่วงระหว่างกลางเดือนธันวาคมปีนี้ ไปจน ถึงช่วงต้นเดือนมกราคมปีหน้า

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย การดึงดูดวัยรุ่นชาวจีนด้วยคำว่า "มีโอกาสได้เป็นดารา-นักร้อง กับรายได้มหาศาล" นั้น ได้ผลชะงัดอย่างยิ่ง ส่งผลให้มีวัยรุ่นจีนแห่แหนกันมาสมัครเพื่อคัดเลือกเข้าแข่งขันในรายการต่างๆ เหล่านี้นับเป็นหมื่นๆ คนต่อรายการ (สำหรับซูเปอร์เกิร์ลของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหูหนานนั้นมีสาวๆ มาสมัคร มากกว่าแสนคน)

ปรากฏการณ์เช่นนี้สร้างความหวั่นไหวให้กับบรรดานักสังคมวิทยา ครูบาอาจารย์ และพ่อ-แม่ ผู้ปกครองชาวจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการหยิบยกเอาเหตุการณ์ที่เยาวชนจำนวนมากหนีเรียนมาสมัคร เข้าแข่งขันรอบคัดเลือก ฝึกซ้อมร้องเพลง ฝึกซ้อมการแสดง หรือกระทั่งพักการเรียนไปเลย นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีหนักหนาสาหัสเข้าไปอีกก็คือ ก่อนเข้าร่วมคัดเลือกรายการซูเปอร์ เกิร์ลของโทรทัศน์หูหนาน มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ลงทุนลดน้ำหนักเพื่อให้ตัวเองดูหุ่นผอมเพรียว ตามแฟชั่นยิ่งผอมยิ่งดีในปัจจุบัน อย่างเกินขอบเขตจนกระทั่งเสียชีวิต!

แม้ในเชิงธุรกิจ-การตลาด รายการประกวด-แข่งขันคัดเลือก ดารา-นักร้อง ดูจะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลดังเช่นที่กล่าวไปแล้ว แต่ผลกระทบเชิงวัฒนธรรม-สังคมของรายการเหล่านี้ต่อสังคมจีนก็ถือว่ามีมหาศาลไม่แพ้กัน

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากรายการซูเปอร์เกิร์ลจบลงไป หลีอี่ว์ชุนสาวหล่อ ผู้ได้ตำแหน่งชนะเลิศจากการแข่งขันครั้งนี้ในฐานะเป็นพรีเซ็นเตอร์ของคอมพิวเตอร์ยี่ห้อหนึ่ง ระหว่างรับงานไปโชว์ตัวที่มหา วิทยาลัยปักกิ่ง (มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของจีน ล่าสุดได้ตำแหน่งมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของเอเชีย และอันดับ 15 ของโลกจาก Times Higher Education supplement หรือ THES แห่งประเทศอังกฤษ) ปรากฏว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าชมงานนี้มากกว่า 1,500 คน ทั้งยังมีการรุมล้อม-วิ่งไล่ตามถ่ายรูปและขอลายเซ็น หลีอี่ว์ชุน เกือบเข้าขั้นบ้าคลั่ง ตามรายงานของสื่อมวลชนจีน

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าในสายตาคนจีนนั้น มหาวิทยาลัยปักกิ่งเปรียบได้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสายตาของชาวโลก นักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่งนั้นถือว่าเป็นเยาวชนระดับหัวกะทิของประเทศ ที่ถือว่าจะต้องปัญญาชนอันเป็นเสาหลักให้กับผู้ด้อยโอกาส และเป็นอนาคตในการสร้างชาติต่อไป

ทั้งนี้เมื่อข่าวเผยแพร่ออกไปก็มี ผู้ไม่เห็นด้วย กล่าวกระแนะกระแหนว่า "ที่มีการเชิญนักวิชาการระดับโลกมาบรรยายที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ไม่เห็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่งจะบ้าคลั่งเช่นนี้บ้างเลย?"

ขณะที่ฝ่ายนักศึกษาและผู้สนับสนุนบางส่วนก็โต้ว่า "ทำไมทีนักการเมืองไต้หวันอย่างหลี่อ๋าว หรือดาราฮ่องกงอย่างโจวซิงฉือ มาบรรยายที่มหาวิทยาลัยยังไม่เห็นว่าอะไร หลีอี่ว์ชุน ที่เป็นดาราคนจีนแผ่นดินใหญ่แท้ๆ จะมาโชว์ตัวที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งไม่ได้?" หรือ "วัยรุ่นบ้าดาราไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกอะไร?"

เมื่อมีผู้ถามว่า กระแสความนิยมของซูเปอร์เกิร์ล รวมไปถึงรายการสรรหาดาราดังกล่าว จะมีอนาคตยืนยาวไปอีกนานแค่ไหน หรือทางรัฐบาลจีนเห็นอย่างไรกับปรากฏการณ์เช่นนี้

คำตอบทางอ้อมๆ จากทางรัฐบาลจีน ก็คือ สถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (ซีซีทีวี) ประกาศออกมาแล้วว่าจะไม่ถ่ายทอดรายการอย่างซูเปอร์เกิร์ลนี้ในปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป แม้ว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเท่าใดก็ตาม แต่จะจัดรายการอย่างเช่น "ฝันที่เป็นจริง" รายการรูปแบบใกล้เคียงกันแต่วิธีการจัดไม่เน้นเด็กวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว และเนื้อหาไม่ตลาดเท่ารายการซูเปอร์เกิร์ลทางช่อง CCTV-2 ต่อไป

ผมดูท่าแล้วในช่วง 2-3 ปีนับจากนี้ไป ใครจะมาเรียน-ทำงานที่เมืองจีนก็เตรียมตัวเตรียมใจดูรายการ "ประกวดดาราหาไอดอล" แบบนี้ให้ตาแฉะกันได้เลย

..... ดูแล้วก็จะรู้ว่าวัยรุ่นจีนสมัยนี้เขาเป็นเช่นไร และไปถึงไหนกันแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.