Cotto ถอดรหัสงานดีไซน์

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องราวประวัติศาสตร์และชีวิตของผู้คนจากดินแดนเล็กๆ ในซีกโลกตะวันออก เล่าผ่านชิ้นงานของกระเบื้องคอตโต้ ในบูธงาน Maison & Objet ใจกลางกรุงปารีส

Maison & Objet เป็นงานใหญ่ของโลกเกี่ยวกับการแสดงสินค้าตกแต่งบ้านและ สิ่งทอ ในกรุงปารีสที่จัดมาต่อเนื่องถึง 10 ปี โดยปีนี้ได้เปิดโซนใหม่ กระเบื้องและวัสดุก่อสร้างเป็นปีแรก

บริษัทวัสดุก่อสร้างจากทวีปเอเชีย มีเพียง Cotto Studio จากประเทศไทยเท่านั้น ที่มีโอกาสเข้าร่วมแสดงผลงาน

"เราโชคดีมากๆ และได้เปรียบตรงที่ผู้บริหารของงานนี้มีโอกาสมาที่ Cotto Tiles Library ที่อโศก พบว่า เรามีสินค้าหลากหลาย น่าสนใจมากมาย เลยได้รับโอกาสให้เข้าไปแสดงงานที่นั่น"

เทวินทร์ วรรณะบำรุง ดีไซน์ไดเร็กเตอร์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความดีใจในการเข้าไปทำตลาดต่างประเทศ และมีโอกาสแสดงสินค้าที่มาจากวิธีคิดของพวกเขาในตลาดระดับโลก เป็นความต้องการของทีมงานดีไซน์อย่างมากๆ

คอตโต้ สตูดิโอ ได้เตรียมตัวเซตสินค้าเพื่อจัดบูธซึ่งมีพื้นที่ 36 ตร.ม. (บูธงาน บ้านและสวนแฟร์มีพื้นที่เพียง 32 ตร.ม.) ในเวลา 1 เดือน สินค้าเดินทางทางเรือประมาณ 2 เดือนและใช้เวลาประมาณ 5 วันในการติดตั้งก่อนเปิดงาน

ซีรีส์เด่นคือ "พิมาย" ซึ่งได้รับรางวัล "Honorable Mention DesignEX 2005's Product Design Awards" (ประเภท Surface Finishes มี 2 รางวัล ได้รางวัลที่ 2) จากงาน แฟร์ "designEX" ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย

ลุคของพิมายจะดูเป็นหินธรรมชาติที่มีลวดลายของความเป็นตะวันออก

"ลูกค้าที่เข้ามาดู ตอนแรกนึกว่าเป็นสินค้าจากอิตาลี พอมาคุยถึงรู้ว่ามาจากเมือง ไทยจากเอเชีย ที่เขาไม่คิดว่าจะผลิตสินค้าแบบนี้ได้ เขาก็แปลกใจ" เทวินทร์เล่าต่อ

ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ทำตลาดได้ยากมาก เพราะจะมีแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ผูกพันกันเป็นเวลานานครองตลาดอยู่แล้ว ไม่เปิดโอกาสให้รายเล็กๆ ได้เข้าไป แต่คราวนี้คอตโต้มีโอกาสพบกับลูกค้าโดยตรง มีโอกาสเล่าเรื่องราวเบื้องหลังและที่มาของสินค้าแต่ละชิ้นและคาดหวังว่า เรื่องเล่า ของประเทศเล็กๆ จากเอเชียจะสร้างความประทับใจ

"ลูกค้าแฮปปี้กับวิธีคิดและที่มา เบื้องหลังการทำงานมาก เขาจะตั้งใจฟังเมื่อผมอธิบายว่า งานชิ้นนี้ไปปิ๊งตรงนี้มานะครับ แล้วเอามาขยายงานต่อ เมื่อคุณเอาไปใช้งานแล้ว คุณได้อะไร บรรยากาศของบ้านก็จะเป็นอย่างนี้ๆ เป็นการซื้อจากความพอใจ ที่เขาได้มากกว่าตัวโปรดักส์ที่เป็นก้อนๆ"

สินค้าที่ได้รับความสนใจอีกตัวหนึ่งคือ Greenery ที่โชว์กระเบื้องโมเสกใส หล่อ ด้วยดอกไม้จริงมีกลิ่นหอม รวมทั้ง TERME ขนาด 12 X 24 นิ้ว

Maison จัด 2 ครั้งต่อปีคือ ช่วงเดือนกันยายนและมกราคม และครั้งหน้าคอตโต้ จะขอเจรจาพื้นที่เพิ่มจาก 36 ตร.ม. เป็น 72 ตร.ม. โดยจะแบ่งเป็นการโชว์โปรดักส์ ส่วนหนึ่งและส่วนหนึ่งจะโชว์คอนเซ็ปต์ที่ไร้ขีดจำกัดของทีมงานของคอตโต้สตูดิโอ

"ปีหน้า เราจะมีงานแฟร์ที่ไปแสดงตั้งแต่ต้นปี เริ่มงานที่รัฐลาสเวกัสในอเมริกา เดือนเมษายนเป็นงานที่ฟลอริดา, งาน DesignEX งานมหกรรมตกแต่งบ้านที่เมลเบิร์น ซิดนีย์ ส่วนในยุโรปที่อังกฤษช่วงต้นปีเหมือนกัน รวมทั้งงาน Maison ที่ฝรั่งเศส และงานแฟร์ใหญ่ในประเทศสเปนก็กำลังดีลอยู่" เทวินทร์เล่าถึงแผนงานคร่าวๆ ในปีหน้า

การผลักดันการดีไซน์ไปพร้อมๆ กับการวิเคราะห์ด้านการตลาดและสภาพสังคม เป็นวิสัยทัศน์ก้าวไปเป็น Trend Setter ที่จะช่วยอย่างมากในการทำตลาดในต่างประเทศและมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันกระเบื้องคอตโต้ มียอดขายส่งออก 40% ของกำลังการผลิต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.