Women in science

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
ผู้จัดการรายวัน( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ที่ผ่านมา "ผู้ชาย" เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่สนใจประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวงการวิทยาศาสตร์ และไอที แต่วันนี้ความคิดนี้เปลี่ยนไปด้วยมุมมองใหม่ของยักษ์ใหญ่สีฟ้า

วันปิดเทอมของน้องๆ นักเรียน ม.ต้น จากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง และโรงเรียนราชินี กลายเป็นวันพิเศษในทันที เมื่อมีจดหมายจาก ผู้บริหารบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ไปยังอาจารย์ประจำโรงเรียน มีใจความเชิญชวนเด็กนักเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของบริษัทภายใต้ชื่อโครงการว่า "Exite Camp 2005" โดยมีเงื่อนไขเล็กน้อยก่อนการคัดเลือก เด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ย่างเข้าปีที่สองแล้วที่ไอบีเอ็ม ประเทศ ไทย ตัดสินใจนำโครงการดังกล่าวมาใช้กับประเทศไทย หลังจากที่ไอบีเอ็มประเทศต่างๆ ทั่วโลก นำโครงการดังกล่าวไปใช้ในบ้านเกิดของตน และประสบความสำเร็จมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

"Exite Camp 2005" เกิดขึ้นมาตามแนวคิดให้ความสำคัญในการกระตุ้นเพศหญิงให้หันมาสนใจวงการวิทยาศาสตร์และไอทีมากขึ้น เพราะจากการสำรวจของไอบีเอ็มพบว่า กว่าครึ่งของบุคลากรในองค์กร ดังกล่าวเป็นเพศชายแทบทั้งสิ้น และในสถานศึกษาเองกลุ่มวิชาการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และไอที มักมีแต่นักศึกษาผู้ชายเสียกว่าครึ่งค่อนห้อง

แม้แต่องค์กรอย่างไอบีเอ็มเอง ศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ ก็ยอมรับว่าหากแยกเป็นพนักงาน 100 คนแล้วในจำนวน 42 คนที่เป็นพนักงานหญิง แต่กว่าครึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่าย support เสียส่วนใหญ่ ขณะที่มีเพียงไม่กี่คนทำหน้าที่สายวิศวกรรมของบริษัท

เด็กผู้หญิงหลายสิบคนที่นั่งอยู่ในห้องสัมมนาเล็กๆ บนชั้น 1 ของตึกไอบีเอ็ม เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงเป็นหนึ่งในความตั้งใจที่ไอบีเอ็มพยายามผลักดันให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ในการเรียนรู้ในสายงานเหล่านี้มากขึ้น เพราะจากการคัดเลือกเบื้องต้น ไอบีเอ็มเชื่อว่าเด็กเหล่านี้มีความสนใจเบื้องต้นอยู่แล้วในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพียงแต่มักมองไม่เห็นทางหรือไม่มีใคร แนะแนวว่าหากเรียนแล้วเขาจะได้อะไร และต้องทำอย่างไรบ้าง

ด้วยช่วงวัยของเด็กนักเรียนหญิงที่อายุน้อย ทั้งหมดล้วนแต่อยู่ในระดับ ม.ต้น กลายเป็นเรื่องที่ "ผู้จัดการ" อดสงสัยจนต้องถามศุภจีไม่ได้ คำตอบที่ได้รับนั้นไม่ซับซ้อน ศุภจีเชื่อว่าเด็กๆ เหล่านี้อยู่ในระหว่างตัดสินใจเลือกเรียนสายภาษา อาชีพ หรือวิทยาศาสตร์ ดังนั้นหากไอบีเอ็มสามารถให้ความรู้และได้สัมผัสวิชาชีพที่ใฝ่ฝันตั้งแต่เริ่มแรก ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อย ท้ายที่สุดแล้วเธอจะเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับ ม.ปลายต่อไป และจะเลือกสอบเอ็นทรานซ์หรือสอบเข้าสถาบันในสายวิทยาศาสตร์ หรือไอทีในอนาคตด้วย

กิจกรรมของ Exite Camp อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของบุคลากรในสายวิทยาศาสตร์และไอทีแทบทั้งสิ้น เด็กหญิงทั้งหมดมีโอกาสได้ชมการทำงานของพนักงานไอบีเอ็มสำนักงานใหญ่ โดยมีพนักงานหญิงของไอบีเอ็ม ซึ่งสละเวลาทำงานมาเป็นอาสาสมัครในค่ายดังกล่าวนำเยี่ยมชม

หรือแม้แต่การเดินทางไปดูงานของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในเขตอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเข้าคอร์สการทดลองวิทยาศาสตร์เบื้องต้น

นี่เป็นเพียงหนึ่งในความพยายามผลักดันให้ผู้หญิงเข้าสู่วงการไอทีมากขึ้นของไอบี เอ็ม ก่อนหน้านี้ไอบีเอ็มเคยทำกิจกรรมที่เรียกว่า "School visit" โดยศุภจีหัวเรือใหญ่ของไอบีเอ็มอาสานำทัพพนักงานหญิงของบริษัทหลายสิบคนไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนหญิงล้วน เพื่อให้ความรู้และทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในชั่วโมงเรียน เพื่อเป็นการกระจายความรู้และแนะนำให้เด็กเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และไอที เช่นเดียวกับแนวคิดของ Exite Camp

หลายคนติดตลกว่า กิจกรรมแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการแบ่งแยกเพศ "ผู้จัดการ" เองกลับไม่สงสัยอย่างที่หลายคนคิด เพราะหากมองย้อนกลับไปดูกิจกรรมที่ผ่านมาของไอบีเอ็มแล้ว สิ่งที่พบกลับไม่ใช่การแบ่งแยกเพศ กิจกรรมในการสนับสนุนเด็กผู้ชายมีมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่การที่ไอบีเอ็มทั่วโลกเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเด็กผู้หญิงมากขึ้น นั่นเป็นเพราะตัวเลขง่ายๆ ที่ศุภจีกล่าวเอาไว้ว่า 100 คนในไอบีเอ็มมีผู้ชายทำงานเสียกว่าครึ่งค่อน หากผู้หญิงในไอบีเอ็ม ล้วนแต่ไม่ใช่สายวิศวกรรมอย่างชายกว่าครึ่งค่อนนั้น ได้ฟังเช่นนี้ ยิ่งต้องยกนิ้วให้ไอบีเอ็ม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียด้วยซ้ำ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.