หุ้นพลังงานใน mai

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ยูนิมิต เอนจิเนียริ่งเข้าระดมทุนในตลาด mai เพื่อขยายงานรองรับการเติบโตของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีที่จะมีการลงทุนต่อเนื่องถึงกว่า 4 แสนล้านบาท

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่เพียงส่งผลดีให้กับอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีเท่านั้น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องก็ยังพลอยได้รับผลดีตามไปด้วย บริษัท ยูนิมิต เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ก็เป็นอีกรายหนึ่งที่เข้าข่ายดังกล่าว

"รายได้ของบริษัทจะขยายตัวตามอุตสาห-กรรมพลังงาน และปิโตรเคมี จากตัวเลขที่มีการประกาศออกมาจนถึงปี 2552 จะมีการลงทุนของ 2 อุตสาหกรรมนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท" ไพบูลย์ เฉลิมทรัพยากร ประธานกรรมการ ยูนิมิต เอนจิเนียริ่ง กล่าว

ยูนิมิต เอนจิเนียริ่ง ก่อตั้งขึ้นในปี 2525 เริ่มต้นดำเนินธุรกิจด้านการรับจ้างออกแบบและผลิตภาชนะความดันขนาดใหญ่สำหรับบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้มที่ใช้ในสถานีบริการก๊าซ เนื่องจากมองเห็นโอกาสจากการที่ในขณะนั้นเริ่มมีการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีผู้ผลิตภาชนะความดันสำหรับบรรจุภายในประเทศ ต้องอาศัยการนำเข้าเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ภาชนะ ความดัน ชิ้นส่วนเครื่องจักร โครงสร้างเหล็ก ภาชนะบรรจุสารเคมี การติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยมีรายได้จากภาชนะความดันคิดเป็นสัดส่วน 58% ตามด้วยชิ้นส่วนเครื่องจักร สัดส่วน 20%

กลุ่มลูกค้าของยูนิมิตฯจะมีทั้งการจำหน่ายตรงให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี อาทิ ปตท. ปตท.สำรวจ และ ผลิตปิโตรเลียม ไทยออยล์ บางจากปิโตรเลียม ไทยโอเลฟินส์ รวมถึงการจำหน่ายในลักษณะที่เป็นผู้รับเหมาช่วง (subcontractor) ให้กับผู้รับเหมาโครงการระดับโลกจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

จากโอกาสของการขยายตัวในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีนี้เอง ทำให้ยูนิมิตฯ เตรียมขยายงานเพิ่มขึ้นด้วยการเข้าระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ mai โดยการเพิ่มทุนจาก 100 ล้านบาทเป็น 143 ล้านบาท ด้วยการขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 43 ล้านหุ้น คิดเป็น 30.07% ของทุนจดทะเบียนหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แบ่งการจัดสรรให้กับประชาชน 40 ล้านหุ้นและพนักงานบริษัทจำนวน 3 ล้านหุ้น

เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ยูนิมิตฯ จะนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยจะซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับขยายพื้นที่โรงงานและเครื่องจักร ประมาณ 50 ล้านบาท ซื้อที่ดินแห่งใหม่ขนาดพื้นที่ 140 ไร่ มูลค่าประมาณ 110 ล้าน บาทในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับงานในอนาคต

นอกจากนี้ยังจะสร้างโรงงานและซื้ออุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักรเพื่อเน้นงานด้าน Steel Structure และ Heat Exchanger ประมาณ 84 ล้านบาท สำหรับเงินส่วนที่เหลือจะเตรียมไว้เพื่อสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในด้าน High Pressure Vessel ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของยูนิมิตฯ และยังไม่มีโรงงานในไทยผลิตมาก่อน โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงาน และซื้อเครื่องจักรในช่วงไตรมาส 2 ปี 2550 และพร้อมทำการผลิตได้ตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกันยูนิมิตฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิตถังบรรจุก๊าซ NGV ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศไทยและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเชื่อว่าปริมาณความต้องการใช้ถังบรรจุก๊าซ NGV จะมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากภาวะราคาน้ำมันแพง ทำให้ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนพลังงานทางเลือกเพื่อลดการ นำเข้า และทาง ปตท.มีโครงการที่จะเปิดสถานีบริการก๊าซ NGV 120 แห่ง ภายในปี 2551 จากปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 8 แห่ง

ทั้งนี้หากผลการศึกษาพบว่าโครงการนี้มีความคุ้มค่าทางธุรกิจจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ปี 2550 ใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท โดยจะใช้แหล่งเงินทุนส่วนหนึ่งจากกำไรสะสมของบริษัทและการกู้เงินอีกส่วนหนึ่ง

"ทาง ปตท.คาดว่าในระยะ 6 ปีข้างหน้าจะมีการใช้ถังบรรจุ NGV ถึง 8 แสนใบ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการผลิตในประเทศและต้องนำเข้ามาจากอินเดียและอิตาลี" ไพบูลย์กล่าว

จากแผนการขยายงานที่วางไว้ทำให้ผู้บริหารมั่นใจว่ายูนิมิตฯ จะมีอัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยปีละ 15% ตลอดระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยอาศัยจุดเด่นจากประสบการณ์ที่มีอยู่กว่า 20 ปี อีกทั้งยังได้รับรองมาตรฐานการผลิตจากหน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ทำให้ได้รับความเชื่อถือจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ

โดย ณ วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ยูนิมิตฯ มีงานที่เซ็นสัญญาแล้วและจะส่งมอบงานให้กับลูกค้าในปีนี้ จำนวน 283.69 ล้านบาท และมูลค่างานส่วนที่เหลือของปี 2549 จำนวน 390.25 ล้านบาท ซึ่งงานที่จะส่งมอบในปีหน้าบางส่วนจะมีการรับรู้รายได้ภายในปีนี้ ตามหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ตามสัดส่วนความสำเร็จของงาน รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะได้รับงานเพิ่มเติมจากช่วงไตรมาส 4 ปีนี้อีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.