MFC สร้าง Index ตลาดหุ้นทั่วโลก

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

MFC ได้ใช้เวลานับปีในการสร้างดัชนีการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศทั่วโลก เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดผลตอบแทนการลงทุนเฉพาะสำหรับกองทุน MFC Global Alpha Fund หรือ MGA ซึ่งจะเข้าลงทุนในกองทุนหุ้นชั้นนำทั่วโลก รวมถึงตลาดเกิดใหม่แถบละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก และเอเชีย

การดำเนินการดังกล่าวนี้เป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งในการเรียนรู้วิธีการเลือกลงทุนในกองทุนต่างประเทศของ บลจ.MFC ที่นอกเหนือจากอาศัย Smith Barney ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำของโลก ในเครือ Citigroup ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการลงทุนและคัดเลือกการลงทุนในกองทุนฯ ต่างๆ มาใช้เป็นบันไดอีกขั้น เพื่อที่จะไต่ขึ้นสู่การเริ่มต้นเรียนรู้ การวิเคราะห์หุ้นในระดับที่ลึกถึงพอร์ตกองทุนที่ Smith Barney เป็นผู้บริหาร

"Smith Barney มีหน้าที่คัดเลือกกองทุนหุ้นที่ดีที่สุด หรือต้องอยู่ในระดับ 3 diamonds เป็นอย่างน้อย มาให้ MFC แต่ท้ายที่สุดกองทุน MGA จะลงทุนตามหรือไม่ เป็นเรื่องที่พวกเราจะตัดสินใจ กันเองหลังจากทีมวิจัยการลงทุนต่างประเทศใน MFC ได้วิเคราะห์สิ่งที่เขาส่งมาให้แล้ว"

ทั้งนี้ Smith Barney เป็นสถาบันการเงินที่เก่าแก่อีกแห่งจากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 233 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นจำนวนกองทุนราว 2,000-3,000 กองทุน ขณะที่มีส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนมากกว่า 28% ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

อย่างไรก็ตาม พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซียังหยิบยกข้อดีของการลงทุนในกองทุนประเภท FIF ขึ้นมาเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนที่อาจไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศ จนลังเลที่จะตัดสินใจลงทุนในกองทุนประเภทนี้

ข้อดีประการแรก คือ กองทุน FIF อาจถือได้ว่าเป็นการหาเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศในรูปแบบหนึ่ง ที่นอกเหนือจากวิธีการหาเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศในรูปแบบอื่นๆ เช่น การลงทุนทางตรงในต่างประเทศ การทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทย หรือการหารายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ประการที่ 2 คือ เป็นการช่วยสร้างสมดุลในการแข่งขันและการลงทุนให้แก่ประเทศ หลังจากที่ประเทศไทยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว คนไทยก็สามารถที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศได้

ประการที่ 3 เป็นข้อดีที่เกิดจากการสร้างความแข็งแกร่งทาง การเงินให้แก่ประเทศ จากการที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปิดเสรีการค้าได้ในอนาคต แม้อาจจะล่าช้าไปบ้างจากความจำเป็นของทางการที่ต้องเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ แต่ในทางเทคโนโลยีแล้วช่วยให้ในปัจจุบันประเทศไทยเปิดเสรีในทางปฏิบัติอยู่แล้ว และหากไม่ออกไปเรียนรู้เสียแต่เนิ่นๆ ในระยะยาวอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศอ่อนแอลงได้

และประการสุดท้าย ในแง่ผู้ลงทุนและผู้ออมนั้น การลงทุนใน FIF ยังจะเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยง เนื่องจากความไม่กระจุกตัวของการลงทุนที่มีอยู่เพียงแต่ภายในประเทศ ขณะเดียวกันเมื่อนำผลตอบแทนการลงทุนมาเปรียบเทียบกันแล้ว การลงทุนในต่างประเทศ ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการออมหรือการลงทุนในประเทศเพียงอย่างเดียว

สำหรับ บลจ.MFC นั้น เคยออกกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ไปแล้วจำนวน 2 กองทุน คือ กองทุนเปิด MFC Global Equity Fund หรือ MGE มูลค่า 40 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพื่อลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก โดยผลตอบแทนจะอิงอยู่กับดัชนี MSCI และกองทุน MFC Opportunity Bond Fund หรือ MGB มูลค่า 25 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจทั้งในและต่างประเทศ

เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2548 MFC มีส่วนแบ่งการตลาดในกองทุนประเภท FIF สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม คือ ราว 37.17%

ขณะที่กองทุน MGA ซึ่งเป็นกองทุน FIF กองที่ 3 นี้ MFC มีมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการใช้สิทธิตามวงเงิน ที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้จัดสรรให้แก่ บลจ. แต่ละแห่ง สำหรับนโยบายการลงทุนของ กองทุนนี้ MFC กำหนดว่า ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิในหน่วยลงทุนจะเป็นการลงทุนในกองทุนตราสารทุนทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนที่ดี อีกทั้ง MFC ยังกำหนดนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนนี้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

และเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินต่างๆ แนวทางการลงทุนในช่วงแรก กองทุน MGA จะเข้าลงทุนในหน่วยลงทุนตราสารทุน จาก 4 กองทุน ซึ่งจะเป็นการลงทุนในแถบอเมริกา และยุโรป ตะวันออก เช่น รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังมีพัฒนาการของ การเติบโตด้านอุตสาหกรรมพลังงานน้ำมัน ส่วนสาธารณรัฐเชคฯ และโปแลนด์ จะเป็นอีก 2 ประเทศที่จะได้รับผลดีจากการลงทุนทางตรงที่มากขึ้นจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

แม้กองทุนนี้จะมุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่เหนือกว่าดัชนีอ้างอิง MSCI World Index โดยภาพรวมถึง 2% แต่ MFC บอกว่า ใช้เวลาถึง 1 ปีในการสร้าง index ในตลาดหุ้นทั่วโลกขึ้นชุดหนึ่ง ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็น index สำหรับชี้วัดผลตอบแทนการลงทุนสำหรับกองทุน MGA ด้วย เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม MFC เตรียมยื่นขอใช้วงเงินเพิ่มเติมก่อน สิทธิดังกล่าวจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้ เพื่อนำมาใช้จัดตั้งกองทุน FIF ใหม่อีก 2 กองทุน โดยกองทุนหนึ่งจะเป็นการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐาน (Commodity) เช่น น้ำมัน หรือโลหะมีค่าอย่างทองคำ ส่วนอีกกองทุนเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.