|
BBL เชื่อมธุรกิจ บล.บัวหลวง
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การปรับเปลี่ยนผู้บริหารของบล.บัวหลวง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะผสานความร่วมมือทางธุรกิจกับธนาคารกรุงเทพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามแนวทาง Universal Banking
ครั้งหนึ่งธนาคารกรุงเทพอาจเคยมอง บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ว่าเป็นสถาบันการเงินแห่งหนึ่งที่ไม่แตกต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งมีหน้าที่ต้องพยายามดิ้นรนแข่งขัน สร้างความเติบโตภายในธุรกิจของตนแต่โดยลำพัง และแม้บล.บัวหลวงจะเป็นสถาบันการเงินในเครือ แต่ธนาคารกรุงเทพไม่มีหน้าที่ต้องเกื้อหนุนการทำธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริการที่มีอยู่ของธนาคารในบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้
แต่หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศแผนแม่บททางการเงินรองรับการเปิดเสรีภาคธนาคารและการเงิน ธนาคารพาณิชย์หลายรายค่อยๆ ทยอยปรับตัวสู่แนวทางการทำธุรกิจมุ่งสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการแบบครบวงจร (Universal Banking) ด้วยการแตกกิ่งก้านกิจการใหม่ๆ ให้ครอบคลุมอยู่ในปริมณฑลอันหลากหลายของการให้บริการทางการเงิน และประกาศความร่วมมือที่จะสนับสนุนเกื้อกูลกันทั้งในแง่การทำตลาด และการทำธุรกิจภายในกลุ่มเครือ
สำหรับธนาคารกรุงเทพที่แม้ก่อนหน้าอาจจะยังไม่ประกาศตัวเองสู่แนวทางนี้อย่างออกหน้าออกตา แต่การประกาศปรับเปลี่ยนตำแหน่ง 2 ผู้บริหารเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พอจะช่วยให้เห็นภาพได้ว่า ธนาคารแห่งนี้ได้เริ่มปรับตัวกันอย่างเงียบๆ เป็นการภายใน เพื่อที่จะมุ่งสู่การเป็น Universal Bank ในอนาคต โดยการเริ่มต้น integrate ทางธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ร่วมกับบล.บัวหลวง โบรกเกอร์หมายเลข 1 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในลักษณะที่ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ของ บล.บัวหลวง บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นการเชื่อมโยงในแบบที่เรียกว่า mini-universal banking
ทั้งนี้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บล.บัวหลวงได้ประกาศปรับ โครงสร้าง 2 ผู้บริหาร โดย ชอง โท อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ได้ถูกดึงตัวกลับสู่แบงก์กรุงเทพ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เพื่อรับผิดชอบการปฎิบัติงานด้านการต่างประเทศของธนาคาร
นอกจากนี้ ชอง โท ยังคงจะควบในตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร บล.บัวหลวง หลังจากที่ได้ใช้เวลากว่า 3 ปีในการบุกเบิกการทำธุรกิจ และสร้างความเติบโตให้แก่บริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้ร่วมกับญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ซึ่งได้เลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการแทน
การที่ ชอง โทได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ใหม่จากธนาคารกรุงเทพ ให้เข้าดูแลการทำธุรกิจกับลูกค้าต่างประเทศนั้น ทำให้ญาณศักดิ์เห็นว่า ชอง โท มีโอกาสที่จะช่วยให้ บล.บัวหลวง ขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้มากขึ้นไปในตัว เพราะหลังจากที่ชอง โท ได้ออก ตระเวนพบปะกับลูกค้าและนักลงทุนต่างชาติที่ใช้บริการธนาคารกรุงเทพอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เริ่มมองเห็นถึงช่องทางที่จะนำการให้บริการของ บล.บัวหลวง เข้าไปเสริมความต้องการในส่วนต่างๆ ให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ของธนาคารได้
นอกจากนี้การรั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารใน บล.บัวหลวง อีกตำแหน่งหนึ่ง น่าจะทำให้เขาเห็นภาพในการสร้างความเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างกิจการทั้ง 2 แห่งนี้ได้อย่างชัดเจน จนทำให้ บล.บัวหลวงมีศักยภาพในการแข่งขันเพื่อทำธุรกิจในตลาดได้มากขึ้น จากการมีโอกาสที่จะเข้าใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของธนาคารกรุงเทพ
"การที่คุณชอง โท ไปอยู่ที่แบงก์จะทำให้เขาใกล้ชิดกับผู้บริหารตามสายงานอื่นๆ ที่นั่นมากขึ้น และเขาจะสามารถเชื่อมโยงธุรกิจ แบงก์เข้ากับ บล.บัวหลวงได้มากกว่า หลังจาก ที่เข้าใจถึงปัจจัยอันเป็น key success ของธุรกิจหลักทรัพย์ได้มากขึ้นแล้ว" ญาณศักดิ์ให้ความเห็น
ก่อนหน้านี้ ชอง โท เคยกล่าวถึงสิ่งสำคัญ 3 ประการแรกที่เขาต้องเร่งผลักดันสำหรับ บล.บัวหลวง คือ ประการแรก การทำให้ บล.บัวหลวงเป็นผู้นำเสนอบริการด้านหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าสำคัญของธนาคาร ประการที่ 2 พัฒนาความแข็งแกร่งให้มากขึ้น ในธุรกิจหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ จากกระแสการลงทุนจากต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนระหว่างประเทศที่จะมาจากจีน ซึ่งจะทำให้ บล.บัวหลวงได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างธนาคารกรุงเทพกับลูกค้าที่เป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในเอเชีย และประการที่ 3 คือ ทำให้ บล.บัวหลวงเป็น 1 ใน 5 ของผู้นำในบริษัทหลักทรัพย์ ด้วยส่วนแบ่งตลาดโดยรวม 5% ใน 3 ปีข้างหน้า
ด้านพัฒนาการในระดับการพึ่งพาความช่วยเหลือจากแบงก์กรุงเทพของ บล.บัวหลวง ในช่วงที่ผ่านมานั้น เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือในการทำธุรกิจ ด้านวาณิชธนกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยอยู่ในความดูแลของ ชอง โท ก่อนที่จะโอนมาสู่ญาณศักดิ์ตามการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารในครั้งนี้
เนื่องจากขั้นตอนของการทำธุรกิจด้านวาณิชธนกิจนั้น นอกจากเป็นกระบวนการที่อาจต้องใช้เวลาในการเตรียมการแล้ว ในบางกรณีอาจมีเรื่องของเงินกู้ หรือ bridging loan เข้ามาเกี่ยวข้องและที่ผ่านมาแบงก์กรุงเทพก็ได้เข้ามาช่วยต่อจิ๊กซอว์ การทำธุรกิจในส่วนนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม แบงก์กรุงเทพจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นกับการให้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนสำรองให้แก่ลูกค้าของบล.บัวหลวง ที่อาจต้องใช้เวลาในการตระเตรียมการระดมทุน หรืออาจอยู่ระหว่างเตรียมตัวที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลัก ทรัพย์ฯ แล้ว แต่สถานการณ์อาจไม่เป็นใจจนเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนแผนออกไปชั่วคราว และเมื่อสามารถเข้าระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แล้วก็ค่อยชำระเงินคืน
โดยปีนี้การทำธุรกิจของ บล.บัวหลวง ที่เริ่มมีเพิ่มขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังนั้น ทำให้สัดส่วนระหว่างฐานลูกค้ารายย่อยและสถาบันสามารถปรับมาอยู่ที่ 80 ต่อ 20 และในปีหน้ายังตั้งเป้าว่าจะเจาะส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจหลักทรัพย์ให้ได้อีกราว 4% เพื่อปรับฐานลูกค้าโดยรวมในกลุ่มสถาบันให้ขึ้นมาอยู่ที่ 25%
เช่นเดียวกับธุรกิจด้านวาณิชธนกิจที่จะมีในปีหน้าราว 6-7 รายการ โดยจะมีทั้งในรูปการทำ IPO และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ บล.บัวหลวงยังคงเหลือ deal ที่ต้องทำให้แก่ลูกค้าที่เตรียมจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 2-3 ราย
ในช่วง 3 ปีแรก บล.บัวหลวงได้เริ่มต้นธุรกิจจากลูกค้า รายย่อยที่ติดมากับฐานลูกค้าเดิมที่ได้รับโอนมาจาก บล.เจ.เอฟ. ธนาคม ก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนาเรื่อยมาจนถึงกลุ่มลูกค้าสถาบันทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญ กับการใช้เวลาเพื่อพัฒนาบทวิเคราะห์ และคุณภาพบุคลากร ที่ค่อนข้างจะมีอยู่อย่างจำกัดในวงการธุรกิจหลักทรัพย์
"เป้าหมายที่จะทำให้ส่วนแบ่งตลาดของเราอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอแล้ว เราคิดว่า market share ที่เหมาะสม ในแต่ละ segment น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันคือ 5% เพื่อทำให้ส่วนแบ่งตลาดโดยรวมในระยะยาวขยับขึ้นเป็น 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.4-3.5% แต่สุทธิจะเป็นเท่าไรให้ขึ้นกับสภาวะ ตลาดแต่ละช่วงที่การลงทุนของนักลงทุนแต่ละประเภทอาจ active ไม่เท่ากัน" ญาณศักดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|