|
ธนาคารจีอี มันนี่ เพื่อรายย่อย เมื่อเสือติดปีก
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
จีอี มันนี่ใช้เวลาเพียง 12 ปี สร้างธุรกิจในไทยจนกลายเป็นผู้นำรายหนึ่งในธุรกิจสินเชื่อ เพื่อผู้บริโภค โดยอาศัยฐานเงินทุน เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และในปีหน้าเป็นโอกาสที่จะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อเปิดให้บริการธนาคารเพื่อรายย่อย
เดือนมกราคม 2549 จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของจีอี มันนี่ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นกำหนดเปิดดำเนินงานธนาคารจีอี มันนี่ เพื่อรายย่อย ซึ่งจะทำให้จีอี มันนี่สามารถขยายบริการทางการเงินในไทยเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ตั้งแต่การรับฝากเงินเอทีเอ็ม การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ เพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ช่วยให้โอกาสทางธุรกิจขยายตัวขึ้นอย่างมากเลยทีเดียว
จีอี มันนี่เริ่มดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2536 ด้วยธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ภายใต้ชื่อ จีอี คอนซูเมอร์ ไฟแนนซ์ และเพิ่งมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น จีอี มันนี่ภายในปีนี้ โดยปัจจุบันให้บริการสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ
ธนาคารจีอี มันนี่ เพื่อรายย่อยถือหุ้นทั้งหมดโดยจีอี (General Electric : GE) ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วจำนวน 5,304 ล้านบาท นอกจากเรื่องของเงินทุนแล้ว ขณะนี้ได้มีการเตรียมในส่วนของระบบ Core Banking System ซึ่งเป็นระบบพื้นฐานสำคัญ ของธนาคารที่จะประกอบไปด้วยระบบฐานข้อมูลลูกค้า ระบบรับฝากเงิน โอนเงินอิเล็ก ทรอนิกส์และเคลียริ่งเช็ค ซึ่งระบบที่นำมาใช้จะเป็นระบบที่ใช้อยู่ในธนาคารจีอี มันนี่ทั่วโลก
จีอี มันนี่ได้ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในปีนี้และปีหน้ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากระบบ Core Banking System แล้ว ยังจะนำไปใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถของระบบคอลเซ็นเตอร์เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าได้มากขึ้น การสร้าง ศูนย์ข้อมูลในการจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้าและการอัพเกรดเทคโนโลยีบริหารความเสี่ยง รวมทั้งระบบ CRM (Customer Relationship Management)
ทางด้านการขยายสาขา ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกแบบสาขาต้นแบบ โดยจะมีสาขาแห่งแรกอยู่ที่อาคารแคปปิตอล ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และภายในปีแรกจะเปิดสาขารวมทั้งสิ้น 9 แห่ง โดยจะเน้นพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นหลักและคาดว่า ภายในปีแรกจะใช้พนักงานรวมประมาณ 300 คน ครอบคลุมทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่และสาขาทั้งหมด
ถึงแม้จะยังไม่เริ่มดำเนินงาน แต่เป้าหมายของธนาคารจีอี มันนี่ เพื่อรายย่อยก็เป็นในเชิงรุก ไม่ต่างจากนโยบายของจีอีแต่อย่างใด โดยจีอี มันนี่ตั้งเป้าว่า สินเชื่อเพื่อการเคหะและสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะเริ่มให้บริการในปีหน้าจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 ผู้นำ ตลาดได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี
"ธนาคารที่ให้บริการเพื่อรายย่อยยังมีช่องว่างอีกมาก เพราะธนาคารส่วนใหญ่ในปัจจุบันเน้นจับลูกค้ารายใหญ่" พิริยะ วิเศษจินดา ประธานจีอี มันนี่ ประเทศไทยกล่าว
สำหรับปีนี้ จีอี มันนี่ คาดว่าธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค โดยรวมจะมีการขยายตัวประมาณ 15% อย่างไรก็ตาม ผลการ ดำเนินงาน 9 เดือนที่ผ่านมา จีอี มันนี่มียอดสินเชื่อจำนวน 145,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว โดยธุรกิจที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 65% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 35% จะแบ่ง เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระในอัตราใกล้เคียงกัน
ถึงแม้ชื่อของจีอี มันนี่ อาจจะไม่คุ้นหูผู้ถือบัตรเครดิตในไทยเท่าใดนักเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น แต่จีอี มันนี่กลับเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตที่มีจำนวนบัตรมากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยยอด 1.75 ล้านบัตร เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 20% แบ่งเป็นบัตรกรุงศรีจีอี 650,000 บัตร บัตรเซ็นทรัล มาสเตอร์ การ์ด 600,000 บัตร และบัตรเทสโก้ โลตัสอีก 500,000 บัตร
พิริยะกล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากการขยายช่องทางให้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันจีอี มันนี่มีสาขาให้บริการ 21 สาขาทั่วประเทศและในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลยังเปิดให้บริการที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 17 แห่ง รวมไปถึงศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้น และได้นำเอา ระบบ CRM มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า ส่งผลให้สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
"ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ เทคโนโลยีไอที กลยุทธ์ CRM และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพจะเป็น 3 ปัจจัยหลักที่ช่วยให้ผู้ให้บริการคงความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว"
การรุกของจีอี มันนี่ที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเริ่มดำเนินงาน ธนาคารตั้งแต่ต้นปีหน้าจะเป็นเหมือนการชิมลางของการบุกเข้าสู่ประเทศไทยของสถาบันการเงินจากต่างประเทศที่จะเกิด ขึ้นภายหลังจากการเปิดเสรีทางการเงิน และเมื่อถึงวันนั้น การ แข่งขันในอุตสาหกรรมนี้คงดุเดือดไม่น้อยเลยทีเดียว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|