|

การรุกของ TISCO
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากขยับฐานะขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์ได้ไม่นาน กลุ่มทิสโกเดินหน้าตามแผนปรับโครงสร้างองค์กรเป็นบริษัทโฮลดิ้งทันที เพื่อสร้างความแข็งแกร่งพร้อมรับการแข่งขันในอนาคต
หากการปรับโครงสร้างของกลุ่มทิสโก้เป็นไปตามขั้นตอนที่วางเอาไว้ ตั้งแต่เดือนเมษายนปีหน้า เป็นต้นไป หุ้น TISCO ที่เทรดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปลี่ยนจากธนาคารทิสโก้ไปเป็นบริษัท ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัทโฮลดิ้งที่จัดตั้งขึ้นเป็นบริษัท แม่ของกลุ่มทิสโก้แทนที่ธนาคาร และยังส่งผลให้ทิสโก้กลายเป็นกลุ่มการเงินแห่งแรกของไทยที่ใช้โครงสร้างในลักษณะนี้ ต่างจากธนาคารรายอื่นของ ไทยที่มีธนาคารเป็นบริษัทแม่ของเครือ
การปรับโครงสร้างของทิสโก้ครั้งนี้เป็นไปตาม แนวทางของกลุ่มสถาบันการเงินทั่วโลก อาทิ ซิตี้กรุ๊ปและธนาคารมิซูโฮ ก็เป็นเช่นนี้
ตามแผนการปรับโครงสร้างบริษัท ทิสโก้จะเข้าถือหุ้นทั้งหมดของธนาคารทิสโก้และบริษัทย่อยอื่นๆ ตามสัดส่วนที่ธนาคารทิสโก้ถืออยู่เดิม ทำให้ธนาคารทิสโก้ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทย่อยอีกเลย โดยที่บริษัท ทิสโก้จะทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารทิสโก้และจะชำระราคาด้วยการแลกเปลี่ยนกับหลักทรัพย์ของบริษัท ทิสโก้ ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ทั้งในส่วนของหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิและใบสำคัญแสดงสิทธิ ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นของธนาคารทิสโก้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ทิสโก้ ที่มี โครงสร้างการถือหุ้นและการลงทุนในบริษัทย่อยไม่แตกต่างจากธนาคาร ทิสโก้แต่อย่างใด
สาเหตุสำคัญที่เป็นที่มาของ การปรับโครงสร้างครั้งนี้มี 3 ประการ ด้วยกัน ข้อแรก เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจของธนาคารทิสโก้ เนื่อง จากตามโครงสร้างปัจจุบันธนาคารทิสโก้เป็นบริษัทแม่ ที่มีการถือหุ้นในบริษัทย่อยในกลุ่ม ทำให้ความเสี่ยง จากการดำเนินธุรกิจและผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้งหมดรวมอยู่ที่ธนาคารทิสโก้ แต่เมื่อปรับโครงสร้างแล้วธนาคารทิสโก้ความ เสี่ยงของธุรกิจอื่นๆ จะถูกแยกออกและจำกัดอยู่เฉพาะในธุรกิจนั้นๆ ทำให้ความเสี่ยงของธนาคารลดลง
"ธนาคารทิสโก้มีการรับเงินฝากจากประชาชน แต่ตามโครงสร้างปัจจุบันผู้ฝากเงินก็กังวลว่าถ้าธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจอื่นมีปัญหาแล้วจะมาส่งผลกับธนาคาร แต่ถ้าปรับโครงสร้างแล้วความกังวลตรงนี้ก็หมดไป ผู้ฝากเงินก็จะสบายใจขึ้น" ปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ กล่าว
เหตุผลถัดมาได้แก่ การลดความต้องการเงินกองทุน เพราะภายใต้โครงสร้างปัจจุบันเมื่อความเสี่ยงจากบริษัทย่อยทั้งหมดมารวมอยู่ที่ธนาคาร ทำให้ต้องมีเงินกองทุนจำนวนมากและซ้ำซ้อนตาม ข้อกำหนดของหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้มีเงินกองทุนมากเกินความจำเป็น แต่เมื่อปรับโครงสร้างแล้วจะมีความต้องการเงินทุนลดลงและสามารถจัดสรรเงินกองทุนส่วนเกินคืนให้กับผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวและนำไปขยายธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้เมื่อปรับโครงสร้างแล้วจะช่วยให้บริษัทย่อยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น หากมีความจำเป็นต้องหาพันธมิตรธุรกิจหรือพันธมิตรร่วมทุนก็จะทำ ได้ง่ายขึ้น
"โครงสร้างใหม่เปิดให้หาผู้ร่วมค้าได้ในแต่ละธุรกิจ เลือกได้เฉพาะธุรกิจที่สนใจ ทำให้มีความคล่องตัว ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น ก็น่าจะดีขึ้นในระยะยาว" อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล รองกรรมการอำนวยการ ธนาคารทิสโก้ กล่าว
ถึงแม้ผู้ถือหุ้นธนาคารทิสโก้สามารถเลือกที่จะไม่แลกหุ้นได้ก็ตาม แต่การตัดสินใจ ดังกล่าวจะส่งผลกระทบ 2 ประการด้วยกัน นั่นคือ สภาพคล่อง ของหุ้นธนาคารทิสโก้จะหายไปเมื่อถูกเพิกถอนออกจากตลาด หลักทรัพย์ฯ ทำให้การขายหุ้นในภายหลังทำได้ยากขึ้น อีกประการก็คือ จะสูญเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการ ลงทุนในบริษัทย่อย ที่เดิมธนาคารทิสโก้เป็นผู้ถือหุ้นแต่ได้ขายออกไปให้กับบริษัท ทิสโก้ โดยหากพิจารณาจากผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปีนี้ ธนาคารทิสโก้ มีกำไรสุทธิ 1,425 ล้านบาท คิดเป็นกำไรหุ้นละ 1.70 บาท แต่หากไม่รวม ส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุนจากบริษัทย่อยแล้ว จะเหลือกำไรสุทธิเพียง 821 ล้านบาทหรือหุ้นละ 0.88 บาทเท่านั้น (ดูรายละเอียด จากตารางผลการดำเนินงาน)
หลังจากได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ธนาคารทิสโก้จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ เพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นทั้งในเรื่องของการปรับโครง สร้างและการเพิกถอนหุ้นของธนาคารทิสโก้ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อนำหุ้นของ บริษัท ทิสโก้เข้าจดทะเบียน แทนและคาดว่าจะทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ของธนาคารทิสโก้ในช่วงระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 28 มีนาคมปีหน้า และจะนำหุ้นของบริษัท ทิสโก้เข้าทำการซื้อขายในตลาด หลักทรัพย์ฯ หลังจากนั้นไม่เกิน 7 วัน โดยใช้ชื่อย่อ TISCO และอยู่ในหมวดธนาคารเช่นเดิม
การปรับโครงสร้างของกลุ่มทิสโก้ครั้งนี้น่าจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากธนาคารพาณิชย์ของไทยทุกแห่งที่ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งเพื่อรับกับการรุกเข้ามาของสถาบันการเงินจากต่างประเทศ หากทิสโก้ทำได้สำเร็จและเกิดผลประโยชน์ขึ้นจริงตามที่คาดหมายไว้ก็อาจจะถึงเวลาของการปรับตัวครั้งใหญ่ของสถาบันการเงิน ไทยที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนี้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|