Pride of Ownership


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นานร่วม 3 ปีแล้วที่ผู้บริโภคไทยมีโอกาสได้ยลโฉมและเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กแบรนด์ "Vaio" โดยการนำเข้าของบริษัทแม่อย่างโซนี่เอง นับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่โซนี่เปิดตัวคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ในตลาดเมืองไทย

ด้วยความที่โซนี่พยายามขายความเป็นสินค้าไฮเอนด์ที่มาพร้อมดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้วันนี้ Vaio จึงได้ชื่อว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่ติดอันดับความแพงที่สุดยี่ห้อหนึ่งในบรรดาโน้ตบุ๊กอีกนับสิบยี่ห้อที่วางขายอยู่ตามร้าน

ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของ Vaio เลยก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงแต่โซนี่จะประกาศวิสัยทัศน์ในการทำตลาด Vaio ขึ้นใหม่ เนื่องจากค่ายไมโครซอฟท์ยักษ์ใหญ่แห่งวงการซอฟต์แวร์ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง Windows XP ซึ่งมีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบปฏิบัติการรุ่นก่อนหน้าออกสู่ตลาด

โซนี่เริ่มปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องเสียง ภาพ และแบ่งเซกเมนต์ของลูกค้าตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญในปีนี้เองเป็นปีแรกที่โซนี่ตัดสินใจลดราคา Vaio ให้ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยราคาของ Vaio บางรุ่นหล่นมาอยู่ที่ 49,000 บาทต่อเครื่อง เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งนักศึกษา ผู้หญิง และผู้ที่เพิ่งจะมีโอกาสได้ใช้โน้ตบุ๊กเป็นหนแรกเช่นเดียวกันกับเจ้าอื่นๆ ที่เริ่มหั่นราคาลงมาแข่งกันอย่างรุนแรง เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด

ล่าสุด โซนี่เพิ่งจะเผยโฉม Vaio ตระกูลใหม่ต้อนรับช่วงส่งท้ายปีทั้งตระกูล Vaio Tx และ Vaio FJ ถึง 4 รุ่นพร้อมกัน ด้วยคอนเซ็ปต์ "My heart, My soul, My Vaio" โดย Vaio Tx นั้นเลือกใช้ carbon fiber เป็นวัสดุในการผลิตตัวเครื่อง ทำให้ไม่เพียงแข็งแกร่งทนทานเท่านั้น แต่ยังบางและเบาในเวลาเดียวกันด้วย

ส่วน FJ series นั้นโซนี่เปิดตัวเพื่อรองรับกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางโดยเฉพาะ เพราะทั้งสองรุ่นในตระกูลนี้สนนราคาที่ประมาณสี่หมื่นถึงห้าหมื่นบาทเท่านั้นเอง นอกจากนี้โซนี่ยังอัพเกรดโน้ตบุ๊กตระกูลเก่าให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น และเปิดตัวในงานวันเดียวกันอีกถึง 5 ตัว

ในวันงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้บริหารระดับสูงของโซนี่ที่บินมาจากญี่ปุ่น เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ดังกล่าวพร้อมกับผู้บริหารจากฝั่งของไทยเอง โดยผู้บริหารทั้งสองประเทศ ต่างเสนอแนวความคิดใหม่ในการขายสินค้าของตนว่า นับจากนี้ไม่อยากให้คนไทยเรียก "โน้ตบุ๊กจากโซนี่" อีกต่อไป แต่จะพยายามอย่างหนักเพื่อให้คนหันมาเรียกซับแบรนด์ "Vaio" ให้ได้เร็วที่สุด

ไม่ว่าจะต้องเพิ่มเงินในการสร้าง infrastructure ในด้านต่างๆ เพื่อให้คนหันมาเรียก Vaio นับร้อยล้าน ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วถึงเท่าตัว ก็ตามที แต่โซนี่ก็เชื่อว่าจะคุ้มค่าและประสบความสำเร็จในแง่ของยอดขาย เพราะใครๆ ก็ติดหูกับคำดังกล่าวเช่นเดียวกันกับความพยายามในการโปรโมตซับแบรนด์ของตนก่อนหน้านี้ ทั้ง Vega ซับแบรนด์ที่เรียกทีวีซึ่งผลิตโดยโซนี่ หรือ Cybershot ซับแบรนด์ในกลุ่มกล้องถ่ายภาพดิจิตอล

ขณะที่จุดขายของ Vaio ซึ่งผู้บริหารยังคงเชื่อว่าเป็นภาพลักษณ์ของโซนี่มากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของการเสนอแนวคิดว่า ผู้ที่ใช้ Vaio แล้วรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเจ้าของ ทั้งความภูมิใจในแบรนด์ ดีไซน์ ราคา และสเป็ก หรือที่โซนี่เรียกว่า "Pride of Ownership" นั่นเอง

เพราะหากใครหิ้ว Vaio ไปไหนต่อแล้วรู้สึกภูมิใจ ท้ายสุดกลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นสาวกของโซนี่ไปในท้ายที่สุด แม้หากมีโอกาสได้เปลี่ยนเครื่องใหม่หรือบอกต่อใครให้ซื้อโน้ตบุ๊ก Vaio ก็จะยังอยู่ในใจคนเหล่านี้ต่อไปอย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.