ลูกทุ่งรอสาย


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดตัวได้เพียงไม่นานนัก แต่เสียงรอสายหรือ calling melody ก็นำหน้าสร้างรายได้แซงหน้าเสียงเรียกเข้าหรือ ringtone ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความนิยมและความต้องการที่จะบอกอารมณ์ของเจ้าของโทรศัพท์มือถือให้แก่ผู้ที่รอสายผ่านทางเสียงเพลงหลากหลาย กลายเป็นแฟชั่นที่ขยายเข้าสู่กลุ่มคนแทบจะทุกอายุ วัย และเพศ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ประสบการณ์ในเรื่องการใช้บริการใช้เสียงรอสาย ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้ลุ่มหลงในเทคโนโลยีเพียงเท่านั้น

วันนี้เอไอเอสยืนยันรายได้ของบริการ calling melody อยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี มากกว่าบริการ ringtone ที่มีรายได้ต่อปีประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น จนถึงสิ้นปีนี้ เอไอเอสจะมีลูกค้าที่ใช้บริการเสียงรอสายถึงกว่า 4 ล้านคน จากลูกค้าทั้งสิ้น 16 ล้านคน นั่นหมายถึงว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของลูกค้าเอไอเอส จะมีเสียงเพลงให้คนอื่นๆ ที่รอสายอยู่ได้ฟังกันแล้วนั่นเอง

เมื่อทั้งรายได้ และยอดคนใช้ต่างเป็นในทางที่ดี และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการเติบโตได้ตอนไหน ในเมื่อทุกวันนี้คนที่ใช้บริการเองก็เริ่มขยายฐานออกไปหาคนที่ยังไม่เคยใช้งานยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับจำนวนเพลงในการดาวน์โหลดเก็บเอาไว้ในระบบเพื่อให้คนอื่นได้ฟัง ซึ่งมียอดเฉลี่ยแล้วต่อคนดาวน์โหลดเพลงไว้ถึง 2 เพลงเลยทีเดียว ทำให้วันนี้ถนนทุกสายของเอไอเอสจึงมุ่งหน้าไปหา calling melody อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เดือนที่ผ่านมาเอไอเอสจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวบริการเสียงรอสายเพลงลูกทุ่งขึ้น โดยมีผู้บริหารไปจนถึงนักร้องชื่อก้องจากค่ายเพลงชื่อดัง ทั้งแกรมมี่โกลด์ อาร์สยาม และอื่นๆ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงานดังกล่าวด้วย

แม้ก่อนหน้านี้เอไอเอสจะมีเสียงเพลงลูกทุ่งในระบบบ้างแล้ว และนี่เป็นการประกาศตัวในการเป็นพันธมิตรกับค่ายเพลงลูกทุ่งอย่างชัดเจน เพื่อหวังผลักดันออกสู่กลุ่มรากหญ้า กลุ่มต่างจังหวัด หรือกลุ่มนักศึกษาที่จากการสำรวจพบว่าหันมาฟังเพลงลูกทุ่งกันมากขึ้น เนื่องจากเพลงลูกทุ่งเองก็เริ่มปรับตัวหาความเป็นเมืองมากกว่าการเล่าเรื่องราวของชีวิตท้องทุ่งกันเหมือนแต่ก่อน

ทุกวันนี้เพลงไทยลูกทุ่งได้รับความนิยมในการดาวน์โหลดไปเป็นเสียงรอสายเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่เพลงไทยสากลนำโด่งไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ตามผู้บริหารของเอไอเอสกลับมองว่า 5 เปอร์เซ็นต์ที่น้อยถือเป็น "โอกาส"

ยิ่งบริษัททุ่มแรงในการโปรโมตบริการเพลงลูกทุ่งด้วยวิธีการรากหญ้า เช่น ส่งทีมตระเวนไปทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดตามต่างจังหวัด ตลาดนัด แผงขายเทป หรือแม้แต่เปิดให้คนใช้ฮัมเพลงให้คอลเซ็นเตอร์ฟัง เพื่อให้คอลเซ็นเตอร์ช่วยเลือกเพลงที่ต้องการได้สะดวกยิ่งขึ้น โอกาสที่ว่าก็น่าจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.