|

บทบาท บลจ.วรรณ ในโครงการ BBC
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การแข่งขันโครงการ Bangkok Business Challenge หรือ BBC ซึ่งสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีนี้มีความพิเศษมากกว่าเมื่อ 3 ปีก่อน เพราะไม่เพียงแต่จะได้สถาบันการศึกษาชื่อดังจากประเทศจีน 4 แห่ง อันประกอบด้วย มหาวิทยาลัยฟูดาน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ และ China Europe International Business School หรือ CEIBS เข้ามาร่วมในโครงการแข่งขันเพื่อเขียนแผนธุรกิจและนำเสนอแผนต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแล้ว ยังได้ บลจ.วรรณเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินทุนเป็นกรณีพิเศษวงเงิน 25 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ผ่านเข้ารอบซึ่งอาจต้องการเลือกเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าการเป็นลูกจ้าง
ก่อนหน้านี้ บลจ.วรรณ มีบทบาทอย่างมากกับการช่วยเหลือด้านการร่วมทุนเพื่อการปรับโครงสร้างธุรกิจให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เมื่อครั้งประเทศไทยได้รับเงินทุนช่วยเหลือในการจัดตั้งกองทุนร่วมทุนเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) อันเป็นหนึ่งในแพ็กเกจที่อัดฉีดเงินฉุกเฉินในโครงการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
การแข่งขันในโครงการ BBC เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ร่วมทีมเพื่อเข้าประลองความสามารถในการเขียนแผนการทำธุรกิจ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา โดยผู้แข่งขันแต่ละทีมต้องผ่านการทำงานร่วมกันอย่างหนัก นับจากกระบวนการทำสำรวจวิจัยทั้งในเชิงการตลาด และตัวผลิตภัณฑ์ที่ต้องได้รับการจดลิขสิทธิ์ไว้แล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจนี้มีความเป็นไปได้ในเรื่องข้อมูลของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพิสูจน์ให้เห็นถึงความต้องการจากผู้บริโภคที่มีอยู่จริงในตลาด ขีดความสามารถของตัวผู้บริหารบริษัท และความเป็นไปได้ในการหาแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจตามแผนธุรกิจนั้นๆ
ผศ.ดร.อดิทธิ์ เชี่ยวสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการพัฒนาสถาบันและแผนงานศศินทร์กล่าวว่า พวกเขาเป็นเพียงสถาบันการศึกษาและไม่อาจเป็นตัวกลางช่วยจัดหาด้านเงินทุนให้แก่ผู้ใดได้ ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้ในเชิงพัฒนาการในทางปฏิบัติสำหรับตัวผู้เข้าแข่งขันในแต่ละปีหลังสิ้นสุดการแข่งขัน จึงมีให้เห็นน้อยมาก เนื่องจากมีเพียงไม่กี่รายที่อาจแยกแผนธุรกิจออกเป็นส่วนๆ เพื่อความสะดวกในการพัฒนาต่อยอดสู่การจัดตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมาได้ แต่ในหลายกรณีอาจเกิดจากปัญหาความไม่กล้าเสี่ยงที่จะออกไปสร้างธุรกิจเป็นของตัวเอง ขณะที่อีกหลายกรณีก็มักจะมีปัญหาไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนเพื่อนำมาใช้จัดตั้งบริษัทได้
"การที่มี บลจ.วรรณเข้ามาให้เงินช่วยเหลือ 25 ล้านบาท ในแต่ละกรณีสำหรับทีมที่ผ่านขั้นตอนต่างๆ จนเข้ารอบได้ และขอให้เราช่วยเป็นตัวกลางส่งแผนงานไปให้ บลจ.วรรณพิจารณาเป็นกรณีพิเศษจะทำให้เกิดผู้ประกอบการ SMEs ใหม่ๆ ขึ้นมาจากเดิมที่ไม่เคยมี น่าจะทำให้เรามีผู้ประกอบการ SMEs ใหม่ๆ เกิดขึ้นได้มากกว่าที่ผ่านมา เพราะหลายๆ กรณีเราเห็นว่าแผนธุรกิจนั้นอยู่ในระดับที่ดี แต่อาจมีปัญหาการ present ที่ยังไม่ค่อยคล่องนัก" ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการพัฒนาสถาบันและแผนงาน ศศินทร์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|