|
หนักแน่นและต่อเนื่อง
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ปฏิบัติการ integrate การทำธุรกิจระหว่างธนาคารกสิกรไทย และบริษัทในเครือภายใต้นาม K Group เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์การให้บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกๆ ปริมณฑล แห่งความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มของธนาคาร จะเป็นเพียงกระบวนเบื้องต้น แต่ยิ่งนับวัน ตลาดก็ยิ่งได้เห็นถึงความหนักแน่น ชัดเจน และต่อเนื่องในการร่วมแรงร่วมใจกันที่จะผลักดันกระบวนการนี้อย่างไม่หยุดยั้งของกลุ่ม K Group ทั้งจากบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์และสปอตโฆษณาผ่านหน้าจอทีวีในบ้าน
นับเนื่องมาตั้งแต่เดือนปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน ลูกค้าบุคคลทั้งรายใหญ่รายน้อยของธนาคารกสิกรไทย คงได้ใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านสินเชื่อ ตราสารหนี้ และตราสารทุน ที่ออกโดย K Group ไปแล้วไม่มากก็น้อย
แต่เพื่อเป็นการตอกย้ำสโลแกนของธนาคารกสิกรซึ่งมีอายุยืนยาวถึง 60 ปีที่ว่าบริการทุกระดับประทับใจ ก็ถึงคราวที่ K Group ต้องจับมือกันขยายการให้บริการเพิ่มเติมที่ครอบคลุมไปยังกลุ่มบริษัท ธุรกิจ และผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าเดิมของธนาคารกสิกรไทย ที่อาจจะยังมีสภาพคล่องล้นเหลือในกิจการ และกำลังมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ ที่ทั้งปลอดภัย และให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินไว้ในธนาคาร เพื่อเก็บกินดอกผลในอัตราต่ำต้อยเพียงแค่ราวๆ 0.7% ต่อปี จะมีโอกาสได้รับการบริการด้าน cash management ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่จากธนาคาร ผ่านผู้บริหารจัดการด้านการเงินมืออาชีพ อย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมกสิกรไทย (K-Asset) อีกครั้ง
โดยบริการใหม่รอบนี้เป็นการเสนอกองทุนเปิดกสิกรไทยตราสารระยะสั้นพลัส (KTPF) ซึ่งมีมูลค่ากองทุนใหญ่โตถึง 10,000 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้แก่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจที่ได้ใช้ธนาคารกสิกรไทย เป็น operating account อยู่แล้วในปัจจุบัน สามารถนำสภาพคล่อง ส่วนเกินไปลงทุนในกองทุนนี้ได้ด้วยวงเงินขั้นต่ำ 10 ล้านบาท แต่หาก ผู้ลงทุนต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ก็จะสั่งขายตราสารหนี้ผ่านกองทุนนี้ได้ แต่ต้องหลังจากที่ลงทุนไปแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน
ส่วนนโยบายการลงทุนของ KTPF นั้น กำหนดไว้ว่า กองทุนฯ จะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน รวมถึงพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตรตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าหรือเทียบเท่าพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงการฝากเงินกับสถาบันการเงินที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน 4 อันดับแรก
ด้านอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนนี้ ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บลจ.หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย ปฎิเสธที่จะระบุถึงประเด็นดังกล่าว เนื่องจากติดด้วยกฎข้อบังคับจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ออกคำสั่งกำชับอย่างเด็ดขาด ห้ามมิให้ บลจ.แต่ละแห่งให้ตัวเลขคาดการณ์ผลตอบแทนเป็นการล่วงหน้าต่อตลาด จนกว่า บลจ.นั้นๆ จะพิสูจน์ได้ว่า portfolio จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงวันสิ้นสุดอายุกองทุน แต่ประเด็นนี้น่าจะทำตามได้ยากเอาการ เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองที่กองทุนแต่ละกองจะต้องปรับพอร์ตการลงทุนตามสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนสิงหาคม ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งจะได้หน้าได้ตาจากการได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงการคลังให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลใน 2 รุ่นคือ อายุ 5 ปี และอายุ 7 ปี ด้วยวงเงินก้อนใหญ่ถึง 30,000 ล้านบาท เพื่อเสนอขายแก่นักลงทุนรายย่อยทั้งที่เป็นกลุ่มลูกค้าที่เคยทำธุรกรรมกับธนาคารและลูกค้ารายใหม่
ตลอดช่วงที่ผ่านมาในปีนี้ บลจ.กสิกรไทยได้ออกกองทุนไปแล้วทั้งสิ้น 15 กองทุน โดย 13 กองทุนเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น และที่เหลืออีก 2 กองทุน เป็นกองทุนหุ้นที่อาจไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนเท่าที่ควรเนื่องจากสามารถดำเนินการได้เพียง 200 ล้านบาท แต่กระนั้นก็ตาม บลจ.กสิกรไทย ยังเป็นสถาบันการเงินที่มีมูลค่าเงินกองทุนสุทธิรวมสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ 1.98 แสนล้านบาท เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2548 และคาดว่าเงินกองทุนสุทธิรวมเมื่อถึงสิ้นปีนี้ น่าจะเขยิบขึ้น 2.51 แสนล้านบาท หรือเติบโตอีกราว 30% ซึ่งเกินกว่ามูลค่าที่เคยตั้งเป้าถึง 51,000 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|