"ชาชัก" ภูมิปัญญาท้องถิ่นบนสยามพารากอน

โดย ณขจร จันทวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่น่าเป็นเรื่องปกติ ที่ร้านน้ำชาเล็กๆ กิจการของนักธุรกิจท้องถิ่นในหาดใหญ่ ได้รับการเชื้อเชิญ ชนิดที่อาจเรียกได้ว่าตามตื้อ ให้มาเปิดสาขาในสยามพารากอน ที่กำลังจะกลายเป็น landmark สำคัญของกรุงเทพฯ

สำหรับคนหาดใหญ่ รสชาติ "ชาชัก" จากร้าน "กู" ของ "บังหวัง" อาจเป็นที่นิยมและรู้จักกันในท้องถิ่นมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้เข้าไปเดินในห้างสยามพารากอน "ชาชัก" จากร้าน "กู" อาจเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่หลายคนต้องตั้งคำถามว่า ทำไมกระบวนการชงชาของร้านนี้ จึงแตกต่างจากวิธีการชงชาปกติ

และหากยิ่งได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปที่ร้าน "กู" ได้มีโอกาสขึ้นมาเปิดสาขาในสยามพารากอนแล้ว คนที่ได้มีโอกาสลิ้มรสชาติชาจากร้าน "กู" น่าจะเห็นคุณภาพของชาที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าชาหรือกาแฟที่เป็นแฟรนไชส์ มีระดับเลยแม้แต่น้อย

ร้าน "กู" เกิดขึ้นจากแนวคิดของอาหวัง บิลังโหลด อดีตนักฟุตบอลฝีเท้าดีชาว จ.สตูล ซึ่งย้ายมาตั้งรกรากอยู่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเปิดขาย "ชาชัก" เป็นหลักมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว

เชื่อกันว่าการดื่มชาและร้านน้ำชามีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน คนตะวันตก เรียกชาว่า "ที" (Tea) ซึ่งเชื่อว่ามาจากภาษาจีนที่เรียกชาว่า "เต๊" (tay) ออกเสียงเป็น "เท" แล้วเพี้ยนกันมาเรื่อยๆ จนกลายเป็น "ที" ส่วนชาวมาเลย์นั้นเรียก "teh" ออกเสียงว่า "เตฮ์" จะเห็นว่าล้วนมีการออกเสียงที่คล้ายๆ กัน

แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม การดื่มชาก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องโยงใยกับประเพณีและวัฒนธรรมของมนุษย์ในหลากหลายเชื้อชาติทั่วโลก โดยเฉพาะในตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น มีการทำพิธีชงชา ซึ่งถือเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันชากลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมควบคู่กับกาแฟและเครื่องดื่มอื่นๆ ส่งผลให้ธุรกิจเครื่องดื่มชา กาแฟ เติบโต ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

"Teh Tarik" หรือ "เตฮ์ ตาเระ" ซึ่งหมายถึง "ชาชัก" ตามแบบฉบับการชงชาที่พบในคาบสมุทรมลายู ไม่ปรากฏว่าประเทศใดเป็นต้นแบบในการชง "ชาชัก" แต่พบว่ามีร้านชาชักอยู่ทั่วไปทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และภาคใต้ของไทย ส่วนกรรมวิธีในการชงชาชักนั้นเป็นการใช้ส่วนผสมระหว่างชาสำเร็จรูปกับนมข้น และนมสด หรือนมแพะ ชงกับน้ำร้อนเดือดปุดๆ

โดยคนชงจะใส่ส่วนผสมดังกล่าวลงในกระบอกชงชา ซึ่งมี 2 กระบอก แล้วเทชากลับไปกลับมาระหว่างกระบอกในมือข้างซ้ายและขวา ไม่ใช่เทแบบธรรมดา แต่คนชงจะชูกระบอกชงชาด้านหนึ่งในระดับสูงเหนือหัว แล้วค่อยๆ รินชา ลงมาเป็นสายทิ้งตัวดิ่งลงสู่เบื้องล่าง โดยมีกระบอกชาอีกใบคอยรองรับ ทำแบบนี้สลับไปสลับมา 2-3 ครั้ง จนส่วนผสมสามัคคีเป็นเนื้อเดียวกัน ก็จะได้ชาร้อนที่มีฟองฟอดรสชาติหอมกลมกล่อม อุ่นพอดีๆ จิบพร้อมกับโรตี เป็นคู่อาหารว่างตามแบบฉบับชาวไทยมุสลิม ที่ได้รับความนิยม

การชงชาชักในหมู่ชาวไทยมุสลิมมีมานานแล้ว เพียงแต่ คนทั่วไปเห็นเป็นเรื่องปกติที่พบ เห็นจนชินตา แต่ช่วงระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงชาชักกันมากขึ้น หลังจากที่ร้าน "กู" ของอาหวัง ได้รับการยอม รับจนถึงวันนี้ ร้าน "กู" ได้เปิดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มแก่ชาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีเข้าไปแล้ว

และเป็นที่ยอมรับว่า ร้าน "กู" ของอาหวังเป็นเจ้าแรก ที่สร้างกระแสให้คนไทยหันมาให้ความสนใจและพูดถึงชาชักกันมากขึ้น ด้วยเอกลักษณ์ในการบริหารงานที่กล้าได้กล้าเสีย และลูกบ้าของอาหวัง วันที่เปิดร้านวันแรกด้วยความที่เกรงว่าจะไม่มีใครมานั่งในร้าน นั่งนับเวลารอแล้วรอเล่าก็ยังไม่มีลูกค้า อาหวังจึงยัดกลยุทธ์ "ทุบหม้อข้าว" ปิดถนนประกาศให้คนที่ขับรถผ่านไปผ่านมาเข้ามากินอาหารในร้านได้ฟรี!

เป็นการตลาดง่ายๆ (แต่ลงทุนสูง) แค่ชั่วพริบตาเดียว ร้านค้าที่มีลูกค้าบางตาในทีแรก จึงเนืองแน่นไปด้วยกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ "ชิมฟรี" ส่งผลให้ร้านกูเป็นที่สนใจของผู้ที่ขับรถสัญจรไปมามากขึ้น

"วันนั้นเป็นวันแรก เราคิดว่ายังไงๆ ก็จะต้องทำให้คนเข้ามาเต็มร้านให้ได้ พอปิดถนนประกาศแจกฟรี คนเข้ามาเต็มร้าน คราวนี้แหละเราจึงได้นำเสนอสินค้าที่เราตั้งใจอยากจะนำเสนอ และเชื่อว่าเขาต้องชอบ เพราะยังไม่ค่อยมี ใครเคยเห็น" อาหวัง บอกกับ "ผู้จัดการ"

เมื่อลูกค้าเข้ามาเต็มร้านแล้ว การนำเสนอสินค้าทีเด็ดก็เป็นไปตามกระบวนการของมัน คนชงชาชักเริ่มโชว์ลีลาการชักชาในรูปแบบที่แตกต่างจากของเดิม ภาพของชาชักที่ทิ้งตัวลงสู่เบื้องล่างเป็นสายสวยงาม สลับกับการฝัดแป้งโรตี บานรีเป็นแผ่นพลิ้ว ตรึงสายตาทุกคู่ให้อยู่ที่จุดเดียวกัน การชงชาชักเป็นวิธีการหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยให้ส่วนผสมของชาเข้ากันได้ดีขึ้น อีกทั้งการเทให้สายชาทิ้งตัวสลับไปมา เป็นการช่วยลดอุณหภูมิให้ชาที่ชงเสร็จพร้อมดื่มได้ทันที

ธุรกิจร้านอาหารนอกเหนือจากอาคารร้านรวงแล้ว ยังมีการลงทุนรายวัน ที่ต้องขึ้นอยู่กับการกะจำนวนลูกค้า การซื้อวัตถุดิบจะต้องให้พอดีกับจำนวนลูกค้า ซึ่งคำนวณมาจากจำนวนเก้าอี้อีกทีหนึ่งออกมาเป็นปริมาณวัตถุดิบหลัก สำหรับเตรียมสินค้าไว้บริการ หากขายดีจนเกลี้ยง ร้านก็แสดงว่าลูกค้ามาใช้บริการจนเต็มย่อมเป็นกำลังใจให้กับเจ้าของและพนักงาน

อาหวังเลือกที่จะสร้างกำลังใจขึ้นมาเองด้วยการประกาศแจกฟรี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่การแนะนำสินค้าย่อมต้องแจกให้ทดลองใช้ฟรีก่อน แต่อาหวังแจกแบบเกหมดหน้าตัก ลูกค้าจึงเต็มร้าน แต่ไม่รู้ว่าคิดบนพื้นฐาน "ของแปลก ต้องแจก ฟรี" หรือไร ที่แน่ๆ คนหาดใหญ่ไม่เคยเห็น "ชาชัก" มีก็แต่ร้านที่ใช้ช้อนคน แถมเจอครั้งแรกยังได้กินฟรี รสชาติเป็นที่ยอม รับ รูปแบบการนำเสนอแปลกตา ลูกค้าจึงกลับมาอีก ทิ้งความประหลาดใจไว้ให้สื่อมวลชน ต้องมาร่วมกันค้นหา เป็นปรากฏการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับร้านน้ำชา ริมถนน

เมนูอาหารอันหลากหลายและชื่อร้านแปลกๆ ที่มีความหมายเท่ๆ หมายถึงความเป็นคนสนิท ความเป็นเจ้าของร่วมกัน รวมทั้งบุคลิกเฉพาะตัวของอาหวัง คือความแปลกใหม่ที่คนหาดใหญ่เพิ่งเคยพบเห็น แค่เพียงคืนเดียว ร้าน "กู" จึงถูกถามถึงไปทั่วเมือง ลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการไม่ขาด

"เรานำชาชัก ซึ่งเป็นการชงชาในแบบของชาวมาเลเซีย มาประยุกต์ให้มีความใหม่ คือมาเลย์จะชักชาอย่างเดียว แต่เรามีการชักทั้งชา กาแฟ โกโก้ และนม พร้อมกับมีเครื่องดื่มอย่างชาอพอลโล่ ที่เป็นการผสมกันระหว่างนมและชา ด้วยสูตรเฉพาะตัว ความที่นมและชามีความหนาแน่นที่แตกต่างกัน ทำให้เครื่องดื่มที่ได้ออกมามีลักษณะเป็น 3 ชั้น เป็นนม ชา แล้วก็ฟอง มีสีสวย เวลาจะดื่มก็สามารถคนให้เข้ากันแล้วก็ดื่มได้ทันที"

นอกเหนือจากเครื่องดื่มที่มีกรรมวิธีการชงที่มีเอกลักษณ์แปลกตาแล้ว ร้านกู ยังมีเมนูอาหารว่าง ทั้งโรตีมะตะบะ โรตีหน้าผลไม้รสชาติหลากหลาย และโรตีภูเขา ซึ่งล้วนเป็นเมนูที่มีความแปลกตา เป็นที่ติดใจของลูกค้าที่มา ใช้บริการ

ที่มาของการชงชาชักนั้นเริ่มจากมัสเด็น บิลังโหลด วัย 27 ปี หลานชายแท้ๆ ของอาหวัง ที่เคยไปทำงานที่ร้าน "โยฮันซีฟู้ด" ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยทำหน้าที่เป็นคนชงชาชัก อยู่นานกว่า 4 ปี แต่อย่างไรเสียอยู่มาเลเซียก็ไม่อบอุ่นเท่าอยู่บ้าน มัสเด็นจึงเดินทางกลับเมืองไทย พร้อมกับได้หารือกับอาหวังถึงความต้องการที่อยากจะเผยแพร่การชงชาชักให้เป็นที่แพร่หลาย แต่จะต้องโดดเด่นกว่าที่ทำๆ กันอยู่ ร้าน "กู" จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น

"ที่มาเลย์เรียกชาชักว่า เตฮ์ ตาเระ เมื่อก่อนก็ขายกันอยู่ตามริมถนนทั่วๆ ไป แต่หลังจากที่ร้านกูได้มาเปิดที่หาดใหญ่ โดยมีชาชักและเครื่องดื่มอื่นๆ ที่หลากหลายมานำเสนอ ทำให้เป็นที่สนใจของลูกค้าจำนวนมาก ตอนนี้ที่มาเลย์จากเดิมที่ขายชาชักอยู่ข้างถนน มีการเปิดเป็นร้านอาหารใหญ่ๆ เพราะเขาเห็นว่าเราเปิดแล้วมีชื่อเสียง เขาจึงเปิดตามบ้าง" มัสเด็นบอก

ความมีชื่อเสียงของร้านกู นอกจากจะทำให้มีลูกค้ามาใช้บริการอย่างเนืองแน่นแล้ว การที่สื่อมวลชนทุกแขนงต่างให้ความสนใจนำเสนอรูปแบบและสินค้าของ "ร้านกู" ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ส่งผลให้ "กู" กลายเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักของตลาด ประกอบรวมกับรูปแบบการชงชา และเครื่องดื่มอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้งรสชาติของชาที่ลูกค้ายอมรับว่ากลมกล่อมน่ากิน ร้าน "กู" จึงได้เข้าไปโชว์การชงชาชักในเทศกาล Coffee Festival 2004 และ 2005 เทียบชั้นร้านขายเครื่องดื่มแบรนด์ดังระดับโลกอย่างไม่น้อย หน้า

ดันให้ร้าน "กู" เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ในสื่อมวลชน และลูกค้าที่มาใช้บริการ แต่ยังมีนักธุรกิจระดับประเทศหลายรายมาคอยจีบ เพื่อหวังให้อาหวังนำร้านกูไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ แม้จะบ่ายเบี่ยงอยู่ถึง 4 ปีเต็ม แต่สุดท้ายอาหวังก็ตกลงปลงใจยอมรับข้อเสนอของ "เครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป" โดยการทาบทามของลักขณานะวิโรจน์ กรรมการบริหาร

"ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว คุณลักขณาเดินทางมาที่ อ.หาดใหญ่ ได้มาชิมรสชาติชาชักที่ร้านกู แล้ว เกิดติดใจในรสชาติของชาชัก จึงได้ติดต่อให้ไปช่วยทำเครื่องดื่มและอาหารว่างในงานเลี้ยงของบริษัทที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานเลี้ยงเทศกาลตรุษจีน เขาติดต่อมาหลายครั้งเข้าผมก็ใจอ่อน ก็ยอมไปจัด และได้รับการทาบทามเสมอมาให้ไปร่วมธุรกิจกัน ตอนแรกปฏิเสธ แต่สุดท้ายผมก็ยอมไป"

อาหวังกล่าวว่า วันที่ 1 ธันวาคมนี้ ร้านกูก็จะเปิดตัว ขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นห้างฯ ขนาดใหญ่ของเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่สร้างขึ้นใหม่ย่านสยาม สแควร์ในกรุงเทพฯ โดยร้าน "กู" อยู่ในโซนเดียวกันกับร้านขายชา กาแฟ และอาหารว่างชั้นนำและมีสาขาอยู่ทั่วโลกภายใต้ชื่อร้าน "กู" ซึ่งเป็นแบรนด์ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีในการสร้างชื่อเสียงชาชักให้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

"ร้านของเรามีจุดแข็งที่โดดเด่นกว่าร้านอื่นๆ ตรงที่เราได้นำเสนอการชงชาชักให้ลูกค้าได้ชมด้วย ซึ่งร้านอื่นๆ อาจใช้เครื่องชงชาหรือชงกาแฟที่ทันสมัย แต่ของเราเป็นแบบดั้งเดิม และมีรูปแบบการชงที่แปลกตา สามารถดึงดูดลูกค้าได้ คือลูกค้าที่มาซื้อเครื่องดื่มหรืออาหารว่าง นอกจาก จะจ่ายเงินซื้ออาหารแล้ว ยังได้ชมการชงชาในแบบวิถีตะวันออก ซึ่งเขาอาจจะไม่เคยเห็นที่ไหน อาจจะเป็นความบันเทิง เล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกค้าจะได้รับนอกเหนือไปจากสินค้าหลัก"

อาหวังกล่าวอีกว่า หลังจากที่มีการเปิดบูธ ซึ่งจะเปิด ตัวพร้อมๆ กับห้างฯ ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้แล้ว ยังถือโอกาสนี้สานฝันในการนำร้าน "กู" บุกตีตลาดกรุงเทพฯ ด้วย มีการ ขยายแบรนด์เนมร้าน "กู" ทั้งในรูปของการตั้งสาขาของตนเอง รวมถึงการทำธุรกิจในรูปแบบของการขายแฟรนไชส์ ไปยังเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศอีกด้วย โดยที่วางแผนไว้คือ สาขาแห่งแรกจะเปิดที่บริเวณสวนจตุจักรในกรุงเทพฯ ตามด้วยการตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ เช่นกัน บริเวณชั้นล่างจะเปิดเป็นอีกสาขาหนึ่ง

"สำหรับการขยับขยายธุรกิจครั้งนี้ ผมจะจดทะเบียน ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับ โดยได้คิดชื่อบริษัทไว้แล้ว เมื่อร้าน เราตั้งชื่อว่า กู ชื่อบริษัทก็จะขอจดทะเบียนเป็น บริษัท กอ สระอู จำกัด ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จในไม่ช้านี้" ว่าที่กรรมการ ผู้จัดการบริษัท กอสระอู จำกัด กล่าวพร้อมเสริมว่า

ส่วนผู้ที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ร้าน "กู" ในอนาคต นอก จากจะได้กรรมวิธีการชงชาชักที่ไม่เหมือนใคร และอาหารว่างหลากหลายไปด้วยแล้ว ขณะนี้ได้มีการออกแบบบูธสำหรับจำหน่ายในรูปแบบที่ไม่เหมือนใครไว้รองรับด้วยแล้ว ซึ่งเมื่อลูกค้าเห็นจะต้องสะดุดตาและรู้จักแบรนด์ร้าน "กู" ทันที โดยรูปแบบจะเป็นรูปกระป๋องนม และมีบริษัทนมข้นยี่ห้อหนึ่งให้การสนับสนุนด้วย

จะว่าไปแล้ว หากไม่มีคนอย่าง "อาหวัง" วันนี้ "ชาชัก" ก็อาจจะยังคงเป็นชาชัก ที่รู้จักกันทั่วไปไม่มีความเป็นพิเศษ ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ที่น่าแปลกใจไม่น้อยคือ เหตุใด ผู้คนจึงมองข้าม "ชาชัก" ภูมิปัญญาตะวันออกนี้ไป วันนี้ "ชาชัก" กำลังนำ "อาหวัง" เดินทางไปสู่อีก 1 ก้าวย่างที่สำคัญ ก้าวย่างที่เมื่อย้อนกลับไปมองข้างหลัง พบว่าจุดเริ่มต้นมาจากแค่ข้างถนนเท่านั้นเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.