โรงพยาบาลรามคำแหง

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงพยาบาลรามคำแหง เป็นอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์หัวใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และยังโฟกัสชัดเจนไปเฉพาะเรื่องศักยภาพของการขยายหลอดเลือดหัวใจ

โรงพยาบาลรามคำแหงเปิดตัวเมื่อปี 2531 และจากตัวเลขคนไข้โรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ในขณะที่มีแพทย์และเครื่องมือไม่เพียงพอทำให้ในระยะแรกโรงพยาบาลทำหน้าที่ได้เพียงเป็นทางผ่านส่งคนไข้ต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ เท่านั้น

ศูนย์หัวใจโรงพยาบาลรามคำแหงก็เลยเกิดขี้นด้วยวิธีคิดที่ว่าต้องการให้เป็นศูนย์กลางสำหรับให้ความรู้ในเรื่องโรคหัวใจ เริ่มต้นดูแลรักษาอย่างครบวงจร และรักษาคนไข้ทุกระดับในราคาที่ไม่แพง

ด้วยงบประมาณในการลงทุนก้อนใหญ่ของโรงพยาบาลจำนวน 100 ล้านบาทในปี 2546 นำไปปรับปรุงสถานที่ใหม่ เตรียมทีมแพทย์ และเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามา เช่น ซื้อเครื่องเอกซเรย์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้นปีหน้าก็ได้สั่งเครื่อง CT Scan 64 multislice เข้ามา ใช้เช่นกัน

โดยมี รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการขยายหลอดเลือดหัวใจ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ปัจจุบันมีแพทย์ในศูนย์หัวใจทั้งหมด 12 ท่าน มีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์ ผู้ช่วยคนป่วย 30 คน

"เริ่มแรกโรงพยาบาลมีทีมแพทย์หัวใจอยู่แล้ว 4 ท่าน แต่ละท่านมีคนไข้เต็มมือ และเราก็มองว่าการรักษาที่เฉพาะลงไป เช่น ผ่าตัดหัวใจ การทำบอลลูน ค่าใช้จ่ายสูงมาก โรงพยาบาลใหญ่ๆ ทำอยู่ไม่กี่โรงพยาบาล ราคาค่อนข้างแพงด้วย เลยคุยกันว่าคนไข้เราก็จะเป็นคนไข้อีกระดับหนึ่ง เราน่าทำโดยกำหนดราคาไม่ให้แพงจนเกินไป" รศ.นพ.วสันต์ให้ข้อมูล กับ "ผู้จัดการ" และอธิบายเพิ่มเติมว่า คนไข้ที่เข้ามามากที่สุด ตั้งแต่เริ่มแรกเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

คนไข้กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติคนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบที่โรงพยาบาลจัดเก็บ ไว้พบว่าปี 2546 มียอดรวมทั้งหมด 392 คน ปี 2547 553 คน และในปี 2548 ตัวเลขถึงเดือนตุลาคม มีทั้งหมด 559 คน โดยเฉพาะ เดือนตุลาคมที่ผ่านมามีคนเข้ารับการรักษาจำนวน 77 คน ในขณะที่ตัวเลขคนไข้ใหม่รวม ของศูนย์หัวใจเดือนตุลาคม 2548 มีทั้งหมด 6,000 คน คิดเป็นรายได้ประมาณ 10% ของการรักษาทุกโรคของโรงพยาบาล

ตัวเลขคนไข้ที่เข้ามารักษาหลอดเลือด หัวใจตีบ กลายเป็นจุดขายและการประชา สัมพันธ์ของโรงพยาบาลรามคำแหง

นพ.ศิริพงษ์ เหลืองวารินกุล รองกรรมการ ผู้จัดการ เป็นคนดูแลเรื่องการตลาด และประชาสัมพันธ์ อธิบายวิธีคิดในการทำการตลาดกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"การทำตลาดของเราไม่เน้นการโฆษณา แต่พูดถึงการวาง positioning ของโปรดักส์ ว่าเราเป็นศูนย์หัวใจที่เก่งด้านขยายหลอดเลือดหัวใจ"

ทีมการตลาดตัดสินใจใช้กลยุทธ์ใน การให้ความรู้กับประชาชนแทนการลงโฆษณา หรือทำบิลบอร์ด โดยโฟกัสไปยังคนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบว่ามีทางเลือกใหม่ไม่ต้องทำการผ่าตัด การหยิบเรื่องนี้ขึ้นเป็นประเด็นสื่อให้คนรู้ แทนที่จะประชาสัมพันธ์ศูนย์หัวใจทั้งศูนย์ ซึ่งจะทำให้ไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นๆ เป็นสิ่งที่ นพ.ศิริพงษ์ยืนยันว่าทำให้ศูนย์แห่งนี้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น

โรงพยาบาลได้ใช้วิธีการจัดงานแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในการเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ไปยังประชาชน รวมทั้งพานักข่าวไปดูเครื่องมือใหม่ๆ ในต่างประเทศ

ปีนี้โรงพยาบาลได้พานักข่าวไปเยี่ยมชมการผลิตห้องไอซียูเคลื่อนที่ หรือ Mobile CCU ที่ประเทศสเปน และเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่าน มา ได้พานักข่าวกลุ่มหนึ่งไปดูวิวัฒนาการการ ขยายหลอดเลือดหัวใจที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

การทำรายการต่างๆ ที่ให้ความรู้ตามสื่อทีวี สื่อวิทยุอย่างต่อเนื่องทั้งปี เช่น เรื่องเจ็บแน่นหน้าอก เทคโนโลยีการฉีดสีหัวใจ จัดสัมมนาคุยกันด้วยเรื่องโรคหัวใจ และแผนงานการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม ให้ความรู้และสอนเรื่องโรคหัวใจพร้อมกันทั่วประเทศ โดยหมอวสันต์ อุทัยเฉลิม ในปีหน้าเป็นแผนงานประชาสัมพันธ์ที่ทำอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเดือนมีนาคม 2548 ได้ตั้ง Heart Center Club คลับของคนรักหัวใจขึ้นมาเพื่อบริการคนที่ต้องการความรู้ด้านโรคหัวใจโดยตรง ปัจจุบันมีสมาชิก 700 คน มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องโดยมีโปรแกรมจัดให้นายแพทย์ด้านโรคหัวใจได้เข้ามาพูดคุยกับสมาชิก และในวันที่ 17-18 ธันวาคม 2548 นี้ ได้จัดโครงการ "พาหัวใจไปเที่ยวกับหมอโรคหัวใจ" ที่โรงแรมศุภาลัยป่าสัก รีสอร์ท โดย รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม และทีมแพทย์พยาบาลของโรงพยาบาล รามคำแหง ซึ่งมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่างๆ เช่น ฟังหมอเล่าเรื่อง Exercise กับโรคหัวใจเรียนรู้เทคนิคการช่วยชีวิตเบื้องตัน รักษาหัวใจเบื้องต้น ด้วยการติดตามงานประชาสัมพันธ์จากโรงพยาบาลรามคำแหง น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ทำได้ง่ายๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.