|
หัวใจของนิธิ มหานนท์
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เป็นที่รู้จักอย่างมากในแวดวงคนไข้โรคหัวใจ นอกจากจะเป็นนายแพทย์ที่เก่งเรื่องโรคหัวใจคนหนึ่งแล้ว ต้นทุนสำคัญของเขาก็คือเป็นหมอที่มีบุคลิกดี และเป็นเจ้าของคอลัมน์ "เรื่องของหัวใจ" ในหนังสือ "ดิฉัน" ที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน
เช้าวันเสาร์ต้นเดือนกันยายน 2548 "ผู้จัดการ" มีนัดกับครอบครัวของเขาที่บ้านซึ่งร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ในเนื้อที่ประมาณ 200 ตารางวา เป็นเพียงไม่กี่วันในรอบปีที่ครอบครัวนี้ได้อยู่กันพร้อมหน้า ภรรยา ทันตแพทย์หญิง ดร.รังสินี อาจารย์คณะทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกสาว "ในฝัน" ปณิตา มหานนท์ อายุ 17 ปี และลูกชาย "กันต์" กัณตภณ ลูกสาวและลูกชายมีกำหนดเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียในวันรุ่งขึ้น
เป็นเด็กวัยรุ่นที่มีมารยาทน่ารัก ทั้งที่คุณหมอทั้ง 2 เลี้ยงด้วยโทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่และหลายครั้งที่ลูกโทรมาแต่คุณแม่ติดประชุม รับสายไม่ได้ส่วนคุณพ่อก็อยู่ในห้องผ่าตัดกับคนไข้
"มีเพื่อนสนิทคอยดูแลให้ที่โน่นด้วยค่ะ ถ้าว่างก็จะพยายามไปหาเขาให้บ่อยที่สุด" แพทย์หญิงรังสิมากล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงอ่อนๆ และร่วมนั่งสนทนาพร้อมกับบุตรสาว ในขณะที่ ลูกชายยิ้มๆ แล้วค่อยๆ เดินเลี่ยงออกไป
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เป็นลูกชายของ พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ และทิพา (มหาเปารย) จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2521 วิทยาศาสตรบัณฑิตการแพทย์ (B.Sc.(Med)) ปี 2523 แพทยศาสตรบัณฑิตมหาวิทยาลัยมหิดล (M.D.) เป็นแพทย์ Intern ที่โรงพยาบาลศิริราช 2 ปี ก่อนไปใช้ชีวิตที่ประเทศออสเตรเลียหลายปี ก่อนกลับมาเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลศิริราชอีกประมาณ 8 ปี พร้อมทั้งทำคลินิกเล็กๆ ย่านสยามสแควร์
"8 ปีที่ศิริราช ผมเจอคนไข้ทุกระดับฐานะ แต่หลังจากนั้นย้ายมาอยู่โรงพยาบาลกรุงเทพด้วยเหตุผลที่ว่า ตอนนั้นเรื่องวิชาการผมทำถึงที่สุดแล้วคือได้เป็นศาสตราจารย์ และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโรงพยาบาล ทำให้ไม่สะดวกทำงานอย่างที่เราจะทำต่อ เช่น งานวิจัย งานสอน เฉพาะทางที่ร่ำเรียนมา ก็เลยคิดว่าน่าจะทำประโยชน์อีกทางได้มากกว่า อีกอย่างพอคนไข้เริ่มเยอะการรักษาในมาตรฐานตัวเองก็เริ่มลำบาก การดูคนไข้เยอะๆ เวลาน้อยๆ เป็นเรื่องที่ผมไม่ชอบอย่างมาก
ศ.นพ.นิธิอธิบายวิธีคิดของเขาที่จำเป็นต้องทิ้งคนไข้จำนวนมากมาเป็นอายุรแพทย์หัวใจ ศูนย์หัวใจกรุงเทพ รับตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์หัวใจกรุงเทพในเวลาต่อมา
ก่อนที่จะลาออกมาก่อตั้งสถาบันเพอร์เฟค-ฮาร์ท ในปี 2548 หลังจากที่ได้เรียนรู้การทำงานของโรงพยาบาลใหญ่ ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเวลา 4 ปี
"ผมว่าหมอทุกคนเก่งเหมือนกันหมด บางคนเก่งด้านเทคโนโลยี บางคนด้านวิชาการ แต่การดูแลเอาใจใส่คนไข้จะไม่เท่ากัน อย่างตอนอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชผมก็พยายามไม่ให้คล้อยตามไปกับสิ่งแวดล้อม ตรวจ 5-10 นาทีจบ เพราะมีคนรออยู่อีกมากแต่จะพยายามให้เวลาคนไข้มากที่สุด ซึ่งเมื่อได้ คุยนานๆ คนไข้ก็พอใจ ขณะเดียวกันเราก็ได้รู้สาเหตุที่ชัดเจนขึ้น"
น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของ ศ.นพ.นิธิ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง รวมทั้งเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารดิฉัน ตามคำชักชวนของปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ทำให้เขามีโอกาส ทำให้คนเข้าใจเรื่องหัวใจได้ง่ายขึ้น และรู้จักเขาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันเรื่องราวที่เขียนได้วัตถุดิบมาจากคนไข้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนแต่งเติมเพิ่มอรรถรสเอง มีการรวมเล่มแล้วทั้งหมด 3 เล่ม เล่มแรกคือ เรื่องของ (โรค) หัวใจ เล่ม 2 รักษา (หัวใจ) และเล่ม 3 คือ ครอบครัวหัวใจแข็งแรง ซึ่งจะวางตลาดปลายปีนี้
ในวัย 47 ปีกับการเป็นคนก่อตั้งสถาบันเพอร์เฟค ฮาร์ทร่วมกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ เป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่งของชีวิต โดยมีครอบครัวเป็นกำลังใจอยู่เบื้องหลัง
ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นคุณหมออารมณ์ดี มีมุกตลกในการพูดคุยกับคนไข้ แต่เวลาอยู่ที่บ้านลูกสาวลูกชายบอกว่า "พ่อมุกฝืดมากๆ" ส่วนภรรยาบอกว่า "คุณหมอเป็นคนเงียบๆ"
ในวันเวลาที่วุ่นวายกับงานบริหาร, งานรักษาคนไข้, เขียนหนังสือ และภาระของพ่อที่ดูแลลูกหญิงชายวัยรุ่น 2 คน อีกสิ่งหนึ่งที่เขาเริ่มให้ความสนใจมาประมาณ 1 ปีก็คือการนั่งสมาธิที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ เพื่อทำจิตใจให้สงบ
ก่อนลูกสาวจะกลับในวันรุ่งขึ้นวางแผนไว้ว่าจะพาลูกสาวที่สนใจเรื่องวิปัสสนาไปฝึกนั่งสมาธิด้วยกัน
"ที่สนใจเพราะไปอยู่เมืองนอกไม่ค่อยมีโอกาสเข้าวัด และทำสมาธิ กลับมาเลยอยากลองศึกษาดูค่ะ" ในฝันผู้เป็นหัวใจของ ศ.นพ.นิธิเล่าให้ฟังเสียงเบาๆ ก่อนที่จะหันไปค้อนผู้เป็นพ่อเมื่อถูกแซวว่า "อย่าไปนั่งหลับแล้วกัน"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|