เซ สุจินตัย ซอฟต์แวร์เถื่อนระวังให้ดี 'เอสพีเอ' มาแล้ว


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากปล่อยให้กลุ่มบิสซิเนส ซอฟท์แวร์ อะไลแอนซ์ หรือบีเอสเอ พันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์นำร่องเข้ามาบุกเบิกฟาดฟันกับบรรดาซอฟต์แวร์เถื่อนกันไปแล้ว ก็ถึงคราวของซอฟต์แวร์ พับลิชเชอร์ แอสโซซิเอชั่น หรือชื่อย่อว่า เอสพีเอ จะเข้ามาสร้างความหนาว ๆ ร้อน ๆ ให้กับซอฟต์แวร์เถื่อนเสียที

กลุ่มเอสพีเอนั้น จัดเป็นสมาคมทางการค้าระหว่างประเทศของผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายเล็กรายใหญ่รวมตัวกันมากกว่า 1,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตซอฟต์แวร์เกมส์ การศึกษา และมีซอฟต์แวร์ธุรกิจ เพราะสมาชิกที่เป็นผู้ผลิตชื่อดังรวมอยู่ในกลุ่มด้วยหลายราย อาทิ ไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์ โนเวลล์

การเข้ามาพิทักษ์สิทธิ์ในไทยของเอสพีเอได้มอบหมายให้สำนักกฎหมาย ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ สำนักกฎหมายเก่าแก่เป็นตัวแทนในไทย ซึ่งมี เซ สุจินตัย รองผู้อำนวยการ และหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญาของสำนักกฎหมายแห่งนี้เป็นผู้รับผิดชอบ

แม้ว่าเป้าหมายของเอสพีเอไม่ได้แตกต่างไปจากกลุ่มบีเอสเอเท่าใดนัก คือ ต้องการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้น้อยลง เพื่อเปิดโอกาสให้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเข้ามาแทนที่ในตลาดซอฟต์แวร์ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะในย่านเอเชียแปซิฟิกที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก แต่ยังมีปัญหาการละเมิดซอฟต์แวร์สูงมาก

"ทำไมต้องมีองค์กรอย่างเอสพีเอ เพราะผู้ผลิตซอฟต์แวร์หลายรายไม่กล้าขายซอฟต์แวร์ในไทย เพราะกลัวปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์" เอลิชา ลอว์เรนส์ ผู้อำนวยการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเอสพีเอ ชี้แจง

กระนั้นก็ตาม มาตรการทางกฎหมายเพื่อใช้ไล่ล่ากวาดล้าง บรรดาผู้ค้า และผู้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ดังเช่น กลุ่มบีเอสเอทำมาตลอด 2-3 ปีมานี้ จะเป็นหนทางสุดท้ายที่เอสพีเอเลือกใช้

ลอว์เรนส์ กล่าวว่า จุดประสงค์ของเอสพีเอจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาเป็นหลัก เพราะการกวาดจับเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แต่การสร้างความรู้ให้ผู้ใช้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายจะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้ผลมากกว่า

"อย่างในห้างพันธุ์ทิพย์พอจับแล้วพรุ่งนี้ก็กลับมาขายใหม่แล้ว ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปจับเขาทุกวัน ตราบใดที่คนใช้ยังไม่มีความสำนึกหรือความเข้าใจถึงความสำคัญในการใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายเพียงพอ เราจึงต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเน้นที่การให้การศึกษา" เซ สุจินตัย กล่าว

แต่ใช่ว่า เอสพีเอจะละเลยสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่จะใช้กลวิธีที่แยบยลกว่าเท่านั้น

เป้าหมายของเอสพีเอจึงมุ่งเน้นไปที่ "ผู้ใช้" ที่เป็นองค์กรธุรกิจต่าง ๆ มากกว่าจะมุ่งกวาดล้างผู้ค้าซอฟต์แวร์เถื่อน ด้วยเหตุที่ว่าหากไม่มีผู้ใช้ย่อมไม่มีผู้ขาย

ในขณะที่กลุ่มบีเอสเอ เปิดสายด่วน HOTLINE ไว้สำหรับให้ผู้ที่ได้รับเบาะแสโทรฯ เข้ามาแจ้งว่ามีองค์กรใด หรือบริษัทใดละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บ้าง และเมื่อมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุดแล้ว บีเอสเอจะสมนาคุณให้ 1 แสนบาท แต่สำหรับเอสพีเอ จะเปิดสายโทรศัพท์ HELP LINE จะเป็นหมายเลขให้ผู้ใช้โทรเข้ามาสอบถามปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ รวมถึงรับแจ้งข้อมูลว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ใด แต่เอสพีเอจะไม่มีรางวัลให้

"ได้ผลเยอะ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่โทรเข้ามาแจ้งข้อมูลจะเป็นพนักงานเก่าที่ลาออก หรือทะเลาะกับนาย ซึ่งเราจะถามเขาโดยเขาไม่ต้องเกี่ยวข้องในคดี เพียงแต่ให้ข้อมูลเรามา หลังจากนั้น เราจะส่งนักสืบเข้าไปหาหลักฐาน ก่อนจะดำเนินงานในขั้นต่อไป" เซเล่า

นอกจากนี้ เอสพีเอ จะมีโปรแกรมตรวจสอบด้วยตัวเอง หรือ SELF AUDIT KIT ซึ่งจะเป็นแผ่นดิสก์เก็ตต์ ที่จะจัดส่งไปให้องค์กร หรือบริษัทต่าง ๆ ใช้ตรวจสอบว่าเครื่องพีซีที่ใช้งานอยู่ในบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ เหล่านั้น มีซอฟต์แวร์อะไรบรรจุอยู่ในนั้นบ้าง และซอฟต์แวร์เหล่านี้มีไลเซนส์ (บันทึกการซื้อ ใบกำกับการขาย ใบอนุญาต) ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

หากองค์กรธุรกิจใด พบว่ามีซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซนส์จะต้องทำการลบทิ้ง และซื้อซอฟต์แวร์ถูกต้องตามกฎหมายมาใส่แทน นอกจากนี้ เอสพีเอจะเจรจาเรียกค่าเสียหายจำนวนหนึ่งและทุก ๆ 20% ของเงินที่ได้รับมาเอสพีเอจะนำไปซื้อซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์บริจาคให้กับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ

โปรแกรม SELF AUDIT KIT นี้ เอสพีเอจะทำผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยอีกทางหนึ่ง โดยบรรจุลงในโฮมเพจของเอสพีเอ ให้ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดไปใช้ตรวจสอบเครื่องพีซีของตัวเอง

"จุดประสงค์เราไม่อยากจับกุมเขา เพียงแต่อยากเจรจากับเขามากกว่าให้เขาซื้อซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายมากกว่า แต่หากเขาไม่ยอมให้ตรวจสอบ เราจึงแจ้งความตำรวจดำเนินคดี"

นอกจากนี้ เอสพีเอจะจัดทำหลักสูตร CSM ซึ่งเป็นคอร์สอบรมสั้น ๆ ให้กับผู้จัดการแผนกคอมพิวเตอร์ โดยจะเน้นให้ความรู้ในเรื่องฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะอบรมให้บริษัทเหล่านี้หันมาควบคุมดูแลการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปถูกกฎหมาย

"บริษัทส่วนมากจะนาน ๆ ซื้อซอฟต์แวร์สักครั้ง แม้ว่าในระหว่างนั้นจะมีการเพิ่มพนักงาน และเพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ เราต้องคอยเทรนคนให้เขาคอยคิดถึงสิ่งเหล่านี้เสมอ"

ช่วงแรกคอร์สอบรมของเอสพีเอจะจัดให้กับรัฐบาล และบริษัทคนไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บเงิน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเก็บอยู่ในอัตรา 300 ดอลลาร์สหรัฐ (7,500 บาท) และจะนำรายได้ทั้งหมดไปซื้อซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์และนำไปบริจาคแก่สถาบันการศึกษา

โปรแกรมทั้งหมดนี้ เอสพีเอจัดทำขึ้นสำหรับผู้ใช้ที่เป็นองค์กร ที่ต้องการมุ่งเน้นในเรื่องการศึกษา แต่ในแง่ของผู้ค้าซอฟต์แวร์เถื่อนแล้ว เซยอมรับว่า การส่งจดหมายให้ตามวิธีข้างตนคงใช้ไม่ได้กับร้านค้าเหล่านี้ ยังคงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าช่วยเหมือนเดิม

ขณะเดียวกัน ทางด้านของติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ แม้จะคร่ำหวอด กับงานด้านทรัพย์สินทางปัญญามากกว่า 50 ปี แต่ภารกิจในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทนายความที่ต้องออกไปดำเนินคดีให้กับลูกความเช่นในอดีต แต่ยังต้องทำหน้าที่ในฐานะของตัวแทนในไทย ซึ่งเซยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

"คดีอื่น ๆ เราเป็นแค่ทนายออกไปดำเนินคดี แต่สำหรับการเป็นตัวแทนให้เอสพีเอแล้ว จะต้องทำหน้าที่ทุกอย่างให้เอสพีเอ ซึ่งเป็นงานที่แปลกและแตกต่างจากลูกความรายอื่น ๆ "

ภารกิจของติลลิกี จะมีตั้งแต่การสืบหาข้อมูล ที่มาจาก HELP LINE รวมถึงการจ้างนักสืบไปสำรวจหาหลักฐาน และการเจรจากับผู้ใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนให้หันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมาย รวมถึงการแจ้งจับดำเนินคดี

ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังต้องทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและเอกชน ตามโปรแกรมต่าง ๆ ที่เอสพีเอจัดมา รวมถึงการดูแลผลประโยชน์ทางด้านการค้าของสมาชิกในกลุ่มเอสพีเอ

"เราต้องเป็นเสมือนเอสพีเอ เช่น มีคนโทรฯ เข้ามาที่เฮลพ์ไลน์ และบอกว่า ซอฟต์แวร์ของสมาชิกไม่มีบริการเลย เราจะส่งข้อมูลไปให้เอสพีเอ เพื่อให้ส่งผ่านไปให้สมาชิกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เขารู้ว่าเขามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง หรือมีการร้องว่าราคาซอฟต์แวร์ของเราแพงกว่าเอสพีเอแพงกว่าคู่แข่งก็ต้องแจ้งกลับไป"

เซ ทิ้งท้ายว่า ภารกิจทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องหนักหนาเลย แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ อิทธิพลนอกกฎหมาย ที่ส่งผลให้การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไม่มีวันหมดไปได้ง่าย ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.