|
ถ้า...ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ขณะที่คุณอายุยังไม่ถึง 40 ปี อาจยังไม่สนใจคำว่าโรค "หัวใจ" แต่ความจริงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อาการหลอดเลือดหัวใจตีบที่อาการของโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นมหันตภัยร้ายที่คืบคลานเข้ามาอย่างเงียบๆ โดยพุ่งเป้าไปยังผู้คนที่ "อยู่ดี กินดี" ละเลยการออกกำลังกายจนน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นคนสูบบุหรี่จัด มีความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในครอบครัว
และเมื่อวันหนึ่งอาการแสดงออกมา โดยอาการเจ็บแน่นหนัก และบีบรัดบริเวณกลางอก อาจเจ็บร้าวไปที่แขน สะบัก คอ หรือขากรรไกร เหงื่อออกมากกว่าปกติ หอบเหนื่อยหายใจขัด คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียหมดแรง
วันนี้อาจจะยังไม่สายเกินไป ถ้าคุณเริ่มให้ความสนใจผ่านเว็บไซต์ของ โรงพยาบาล และมูลนิธิต่างๆ มากมาย รวมทั้งระวังในเรื่องอาหาร หลีกเลี่ยง อาหารไขมันสูง อาหารที่มีรสเค็ม เพิ่มอาหารที่มีเส้นใย จำกัดอาหารพวกเนื้อสัตว์ ตัดใจเลิกบุหรี่ ออกกำลังกายครั้งละ 20-30 นาที 3-4 ครั้งต่อ สัปดาห์ และตรวจสุขภาพประจำปี
สำหรับประเภทของโรคหัวใจที่เรียบเรียงโดยสมาคมแพทย์หัวใจพบว่า มีประมาณ 6 โรคคือ
1. โรคหัวใจพิการมาแต่กำเนิด บางครั้งวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกคลอด บางครั้งก็ไม่มีอาการใดๆ จนกว่าอายุมากขึ้น
2. โรคลิ้นหัวใจพิการ อาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือมาเป็นภายหลังก็ได้ ที่เป็นภายหลังเกิดจากการติดเชื้อคออักเสบ และไม่ได้รับการศึกษาอย่างถูกต้อง ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อต้านหัวใจตัวเอง เกิดการอักเสบ ของลิ้นหัวใจ และลิ้นหัวใจพิการ (ตีบ หรือรั่วตามมา)
3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ทำงานผิดปกติ ไม่ว่าจะบีบหรือคลายตัว กล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ เป็นต้น โรคที่พบบ่อยคือกล้ามเนื้อหัวใจเสีย จากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามานาน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันเป็นต้น
4. โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด เป็นโรคกลุ่มเดียวกัน เพราะหลอดเลือดหัวใจจะนำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อหลอดเลือด ผิดปกติจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การทำงานจึงผิดปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อยที่สุดเกิดจากการ สะสมของไขมันที่ผนัง ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด
5. โรคเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นโรคที่พบไม่บ่อย ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย
6. โรคหัวใจผิดจังหวะ บางชนิดเป็นอันตราย บางชนิดไม่เป็นอันตราย
7. การติดเชื้อที่หัวใจ พบได้บ่อยในผู้ป่วยภูมิต้านทานต่ำ หรือติด ยาเสพติดชนิดฉีด
8. มะเร็งที่หัวใจ ส่วนใหญ่เกิดจากมะเร็งของอวัยวะข้างเคียง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|