Silent Killer

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

โรคหัวใจ มฤตยูเงียบ! ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ คือโปรดักส์ชิ้นใหม่ที่กำลังสร้างเม็ดเงินรายได้ตัวสำคัญเข้าโรงพยาบาล ตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็มที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งให้ความสำคัญเปิดศูนย์โรคหัวใจ และแข่งกันทำการประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมอย่างต่อเนื่อง

ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยระบุชัดว่า อัตราการตายของคนไทยจากสาเหตุของโรคหัวใจสูงติดอันดับ 1 ใน 3 เช่นเดียวกับโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ โดยสอดคล้องกับอัตราการตายด้วยโรคหัวใจของคนทั้งโลก

มหันตภัยร้ายตัวนี้ค่อยคืบคลานเข้ามาอย่างเงียบๆ ก่อนที่จะไปเปิดเผยตัวตนในช่วงอายุของผู้ชายวัย 45 ปี และผู้หญิงวัย 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงอายุที่กำลังแอคทีฟ กับการทำงานและเป็นกำลังสำคัญขององค์กร

เป็นโรคที่คนไข้ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่หายขาด เป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ จำนวนคนไข้ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเอื้อให้มีการค้นคว้า และทดลองอย่างต่อเนื่องเกิดเป็นวิวัฒนาการใหม่ๆ ในเรื่องเครื่องมือและการรักษา

ผลที่ตามมาก็คือจำนวนคนไข้เสียชีวิตน้อยลงจากโรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจรูมาติก หรือโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นโรคยอดนิยมในช่วงแรกๆ กลายเป็นคนไข้เสียชีวิตอย่างฉับพลันจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มมากขึ้นจากเหตุผลสำคัญของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในเมืองใหญ่ที่มีแต่ความเร่งรีบรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และไม่มีเวลาออกกำลังกาย

"วันนี้ที่น่าจับตาอย่างมาก ก็คือโรคอ้วน ที่ตัวเลขการวิจัยในอเมริการะบุว่า คนอเมริกันเกินครึ่งมีน้ำหนักเกิน ตอนนี้ในเมืองไทยเริ่มมีตัวเลขที่สูงขึ้นแล้วเช่นกัน ซึ่งความอ้วนนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด และความดันเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือหัวใจวายฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นมากที่สุดในบรรดาโรคหัวใจทั้งหมด" ศ.นพ.ศุภชัย ไชยธีระพันธ์ นายกสมาคมแพทย์หัวใจ ของประเทศไทยให้ข้อมูลกับ "ผู้จัดการ"

เมื่อจำนวนคนเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นช่องทางการทำตลาด ของโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากสงครามประชาสัมพันธ์ที่หนักหน่วงขึ้น ตั้งแต่ต้นปีเพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าเป็นศูนย์หัวใจครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นสื่อบิลบอร์ด หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ รวมทั้งรายการเพื่อสุขภาพต่างๆ ที่ได้ยกเรื่องนี้เป็นหัวข้อในการสนทนาอย่างหลากหลาย

เทคโนโลยีใหม่ๆ ทันสมัยทางการแพทย์ที่จำเป็นในการวินิจฉัยโรค กลายเป็นเครื่องมือในการแข่งขันที่มองเห็น และกระตุ้นการตัดสินใจของคนได้ ง่ายที่สุด ปัจจุบันมีเครื่องมือใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น เครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo ชนิด 3 dimensions) เครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ เครื่อง Cardiac MRI สำหรับดูการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัด

ล่าสุดเมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางแพทย์โรคหัวใจหลายพันคน มีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง "เซลล์บำบัด" (Cell Therapy) เพื่อรักษาโรคหัวใจจากทีมแพทย์ ของโรงพยาบาลศิริราชในประเทศไทยที่ร่วมกับสถาบันจากประเทศอิสราเอล ได้รับความสนใจอย่างมาก เช่นเดียวกับการบรรยาย เกี่ยวกับ Stem Cell Therapy in Asia ที่เมือง Dallas, Texas ของนายแพทย์กิติพันธ์ วิสุทธารมณ์ จากโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

เซลล์บำบัด เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโลกในการรักษาโรคหัวใจ ที่ผิดหวังมาจากรักษาแบบอื่น โดยมีวิธีการนำเซลล์ที่แข็งแรงของตนเองมาทดแทนเซลล์ที่เสียไป ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองไทยกำลังทำการวิจัยและทดลองในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ศ.นพ.ศุภชัยยืนยันว่าขณะนี้มีคนไข้ของโรงพยาบาลศิริราชใช้วิธีนี้ไปแล้ว 20 คน แต่ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นวิธีการที่ใหม่และยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

ดังนั้น เครื่อง CT Scan หรือเครื่องเอกซเรย์ความเร็วสูงในการตรวจหัวใจและหลอดเลือด จึงกำลังเป็นพระเอกในการประชาสัมพันธ์ ด้วยประสิทธิภาพที่ว่าสามารถตรวจและถ่ายภาพหัวใจได้อย่างรวดเร็วและคมชัด ทำให้ทราบได้ว่าคนไข้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ และสามารถวางแผนรักษาขั้นต่อไปได้อย่างแม่นยำขึ้น เช่น การทำการผ่าตัด (Coronary Artery Bypass) หรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการทำบอลลูน โดยอาจจะยังไม่ต้องใช้วิธีการฉีดสี ซึ่งใช้เวลาโดยเริ่มจากแพทย์จะสอดสายตรวจขนาดเล็กมาก ผ่านเข้าทางหลอดเลือดข้อมือหรือขาหนีบ จนกระทั่งปลายสายตรวจเข้าไปในหลอดเลือดหัวใจที่ต้องการ แล้วฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือด พร้อมทั้งบันทึกภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์เพื่อตรวจดูการตีบแคบของหลอดเลือด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.