|

ไต้หวันเตรียมทวงตำแหน่งที่สองของเอเชียคืน
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากถูกแบรนด์ดังจากเกาหลีใต้บดบังรัศมี แบรนด์โนเนมจากไต้หวันกำลังเร่งยกระดับตัวเองเพื่อหวังแซงหน้าอีกครั้ง
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ไต้หวันจับตามองด้วยความวิตกที่คู่แข่งที่เคยตามหลังอย่างเกาหลีใต้ สามารถผงาดขึ้นเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในระดับท็อป ของโลก โดย Samsung และ LC Electronics ได้กลายเป็นชื่อที่คนทั่วโลกรู้จัก และผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกอย่างตั้งแต่เครื่องซักผ้าจนถึงโทรทัศน์
แต่ขณะนี้มีบริษัทไต้หวัน 5 แห่ง ซึ่งแม้จะไม่มีแห่งใดเลยที่มียี่ห้อเป็นที่รู้จักอย่างแบรนด์ของเกาหลีใต้ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะกลับแซงหน้าเกาหลีใต้ให้ได้อีกครั้ง ในตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังบูมสุดขีดอยู่ในตอนนี้ นั่นคือจอ LCD ซึ่งกำลังเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์สำคัญที่เป็นส่วนประกอบของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แทบ ทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องเล่นเพลง iPod ไปจนถึงทีวีจอแบนที่กำลังฮอตฮิตสุดขีดอยู่ในขณะนี้ ทำให้จอ LCD ครองตลาดส่วนใหญ่ของตลาดจอภาพโดยรวม ซึ่ง คาดกันว่าจะมียอดขายพุ่งแตะระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2010 เพิ่มจาก 62,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน
ไต้หวันในขณะนี้กำลังเจอปัญหาหนัก หลังจากหลายสิบปีที่ผ่านมาเคยนำหน้าเกาหลีใต้มาตลอด ในฐานะประเทศที่ร่ำรวยเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว ในตลาดระหว่างประเทศ ไต้หวันและเกาหลีใต้มักได้รับการกล่าวถึงคู่กันเสมอ แต่มาบัดนี้เกาหลีใต้แย่งความโดดเด่นไปครอบ ครองแต่เพียงผู้เดียว
ในขณะที่ตลาดหุ้นโซลกำลังเจริญรุ่งเรืองเป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างชาติ แต่ตลาดหุ้นไทเปกลับตกต่ำ จากครั้งหนึ่งที่เคยเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในจีน อาศัยความได้เปรียบที่มีความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมกับจีน ขณะนี้ ไต้หวันก็ถูกแซงหน้าไปโดยเกาหลีใต้เช่นเดียวกัน อย่างน้อยก็ในแง่ตัวเลขที่เป็นทางการ (การลงทุนในจีนส่วนใหญ่ของไต้หวันมักเป็นการลงทุนแบบไม่เป็น ทางการ เพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านในไต้หวันที่มีการรณรงค์ไม่ให้ไต้หวันพึ่งพิงจีนมากเกินไป) และในปีที่แล้ว รายได้ประชาชาติต่อหัวของเกาหลีใต้พุ่งแซงหน้าไต้หวันเป็นครั้งแรก (เกาหลีใต้ 14,150 ดอลลาร์ ไต้หวัน 13,450 ดอลลาร์)
โมเดลธุรกิจแบบเกาหลีใต้ยังดูจะได้เปรียบไต้หวันในอุตสาหกรรมจอภาพ LCD ด้วยเช่นกัน เกาหลีใต้ผลิตจอ LCD ในโรงงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไป ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่สูงลิบลิ่วสำหรับบริษัทไต้หวันซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และมีปัญหาในการระดมทุนที่สูงมากขนาดนั้น
อย่างไรก็ตาม ไต้หวันได้พยายามหาทางออกในเรื่องนี้ โดยบริษัทไต้หวัน ซึ่งเพิ่งจะเข้าสู่ธุรกิจผลิตจอ LCD ในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เท่านั้น ได้ดึงเอา ความชำนาญของตนในอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์มาปรับใช้ในการผลิตจอกระจกที่ใช้กับจอ LCD เพื่อช่วยลดต้นทุน เนื่องจากบริษัทไต้หวันส่วนใหญ่รับผลิตตามสัญญาจ้าง ซึ่งจะรับผลิตสินค้าอย่างเช่นทีวีจอแบนให้แก่แบรนด์ใหญ่ๆ โดยไม่มีแบรนด์ของตัวเอง โดยบริษัทเกิดใหม่จะได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลในรูปของการยกเว้นภาษี การสนับสนุนด้านการวิจัย และพื้นที่ตั้งโรงงาน
ความพยายามของบริษัทไต้หวันทั้งห้าทำให้ปีที่แล้วบริษัททั้งห้าเร่งใช้จ่ายด้านการลงทุน ตั้งโรงงานและซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรใหม่ๆ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของการใช้จ่ายด้านการ ลงทุนทั้งหมด 13,000 ล้านดอลลาร์ ในอุตสาห-กรรมจอ LCD ขณะที่เกาหลีใต้ลงทุนไปในสัดส่วน ที่น้อยกว่าคือร้อยละ 37 ทำให้ไต้หวันพร้อมที่จะผงาดขึ้นเป็นผู้นำในด้านยอดขาย LCD ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม แม้เกาหลีใต้อาจขายได้น้อยกว่า แต่ผลกำไรของเกาหลีใต้กลับยังคงมากกว่า เนื่องจากเกาหลีใต้ครองตลาดจอภาพขนาดใหญ่กว่า ซึ่งเป็นตลาดที่สร้างผลกำไรมากที่สุด และสามารถรักษาต้นทุนให้ต่ำด้วยการประหยัดจากขนาดการผลิตที่มากกว่า
แม้บริษัท AUO ซึ่งเป็นผู้ผลิตจอ LCD รายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน จะทำรายได้ได้ถึง 5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว แต่ผลกำไรก็ยังคงตามหลังธุรกิจจอ LCD ของ Samsung ที่ทำรายได้ถึง 8.25 พันล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน ทำให้ Ho Mei-yueh รัฐมนตรีกิจการเศรษฐกิจของไต้หวันถึงกับเต้นและขอร้องให้ผู้ผลิตจอแบน ของไต้หวันอย่าพยายาม "เป็นผู้นำในการครองส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลก แต่ไม่มีกำไร"
ความจริงประโยคนี้เคยเป็นปัญหาของเกาหลีใต้มาก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่ "แชโบล" หรือกลุ่มบริษัทขนาดยักษ์ของเกาหลีใต้ซึ่งมีอยู่หลายสิบแห่ง เคยถูกมองว่าเป็นยักษ์ใหญ่ที่อุ้ยอ้ายเชื่องช้า เมื่อเทียบกับบริษัทของไต้หวันที่เล็กกว่าและคล่องตัวกว่า
แต่เมื่อราคาต้นทุนวัตถุดิบมีแต่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สินค้าที่ผลิตออกมากลับมีราคาลดต่ำลงเรื่อยๆ สภาพเช่นนี้กำลังคุกคามความอยู่รอดของบริษัทไต้หวันซึ่งมีขนาดเล็ก และมักจะแข่งขันในด้านราคาเป็นหลัก นักวิเคราะห์เริ่มตั้งคำถามว่า หรือว่าโมเดลธุรกิจแบบ "แชโบล" ของเกาหลีใต้ จะเป็นผู้ชนะในยกสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ของ AUO คือ การพยายามรวมความคล่องตัว ยืดหยุ่นและเป็น อิสระ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของบริษัทไต้หวัน เข้า กับการเป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นข้อดีของแชโบล โดย K.Y. Lee ประธาน AUO เห็นว่า มีแต่บริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน และบริษัทไม่จำเป็นต้องเชื่องช้าลง แม้จะมีขนาด ใหญ่ขึ้น แต่ยังคงรักษาความยืดหยุ่น คล่องตัว และเคลื่อน ไหวอย่างรวดเร็วไว้ได้
Lee ยังคิดว่าเขาได้พบจุดที่สมดุลแล้วคือ เป็นบริษัทที่ไม่ใหญ่เกินไปและไม่เร็วเกินไป นั่นคือไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น รายแรกในตลาด เพราะการบุกเบิกเทคโนโลยีใหม่เป็นรายแรกในตลาดนั้นมีทั้งต้นทุนและความเสี่ยงสูง AUO เคยตามหลังบริษัทเกาหลีใต้อยู่ถึง 2 ปีในด้านเทคโนโลยี LCD แต่ขณะนี้เกือบไล่ตามทันแล้วโดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน
AUO เพิ่งจะขยายบริษัทให้ใหญ่ขึ้นด้วยการรวมกับบริษัทขนาดเล็ก อีก 2 แห่งในปี 2001 ซึ่งต่างก็ผลิตจอภาพคนละขนาดแตกต่างกัน ทำให้ AUO มีขนาดใหญ่พอที่จะโต้คลื่นลมในช่วงตลาดขาลงได้ ในขณะที่รัฐบาล ไต้หวันเองก็พยายามจะกระตุ้นมาหลายปีแล้วให้เกิดการรวมกิจการกัน แต่ ดีลใหญ่สำคัญๆ เท่าที่เคยมีมาก็คือดีลที่ทำให้เกิด AUO เท่านั้นเอง
จากการสำรวจของบริษัทวิจัยตลาด DisplaySearch ของสหรัฐฯ AUO ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 14 ในไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งแซงหน้าบริษัทร่วมชาติอย่าง Chi Mei ที่ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 11 แต่ AUO ก็ยังตามหลัง LG. Philip ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.5 และ Samsung ร้อยละ 20
นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยดังกล่าวชี้ว่า บริษัทไต้หวันอื่นๆ นอกเหนือจาก 2 บริษัทข้างต้น จะอยู่รอดต่อไปได้อีกนานแค่ไหน เป็นเรื่องที่ยังต้องรอดูกัน และไต้หวันกับเกาหลีใต้กำลังแข่งขันกันอย่างสูสี โดยไต้หวันรวดเร็วในด้านของการได้รับคำสั่งซื้อ แต่พื้นฐานของอุตสาหกรรมจอ LCD ก็ยังคงเป็นเรื่องการประหยัดจากขนาด
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตจอแบนขนาดเล็กของไต้หวันก็กำลังเผชิญ บทเรียนที่เจ็บปวด แบบเดียวกับที่ผู้ผลิตชิปและอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายย่อยๆ ของไต้หวัน เคยเจอมาแล้ว นั่นคือการถูกกลืนกินโดยบริษัทใหญ่ ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่าง Hon Hai และ Inventec กำลังกว้านซื้อบริษัทผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ทั้งสองได้เข้าครอบครองตลาดรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว
โมเดลธุรกิจแบบ AUO คือบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี อาจเป็นทางรอดให้แก่บริษัทขนาดเล็กผู้ผลิตจอแบนของไต้หวัน ซึ่งแม้จะถูกนักวิเคราะห์ฟันธงมาหลายปีแล้วว่า จะต้องสูญพันธุ์อย่างแน่นอน แต่ก็ยังคงอยู่รอดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ และยังประสบความสำเร็จในการครองส่วนแบ่งตลาดเสียด้วย (แม้จะไม่มียี่ห้อเป็นของตัวเอง เนื่องจากรับจ้างผลิต) เพียงแต่พวกเขาจะต้องรู้จักเริ่มที่จะสร้างผลกำไรให้มากกว่านี้
แปลและเรียบเรียงจาก
Newsweek 31 ตุลาคม 2548
โดยเสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|