"อิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ช"แก้วสารพัดนึกของชาญชัย


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

การอภิปรายเรื่องอิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ชของ ชาญชัย จารุวัสตร์ ปลุกเร้าตลาดขึ้นทุกขณะ เพราะเข้าใจนำภาพร่างในยุคดิจิตอลมาเสริมความโดดเด่นให้แก่ธุรกิจบริการของกลุ่มสามารถ

กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โชว์วิสัยทัศน์อีกครั้งหนึ่ง ในการสัมมนาธุรกิจวิชาการ เรื่อง ELECTRONIC COMMERCE ON THE INTERNET จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อปลายเดือนที่พฤศจิกายน โดยบริษัท TTF จำกัด ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

มิอาจปฏิเสธได้ว่า ตั้งแต่ชาญชัยรับตำแหน่งใหญ่ในกลุ่มสามารถเมื่อต้นปี 2538 เขาอาศัยความเป็นนักการตลาดที่รอบรู้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สร้างกระแสอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ชอย่างต่อเนื่อง

อิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ช และอาจนับรวมไปถึงอิเล็กทรอนิกส์ ลีฟวิ่ง อิเล็กทรอนิกส์ มีเดีย คือ ธุรกิจแนวใหม่ที่ชาญชัยพยายามทำให้เป็นจริงทั้งในวงการบริหารภายในกลุ่มสามารถ การสร้างตลาดใหม่ที่อาศัยการสื่อสารในรูปดิจิตอล และการเปลี่ยนกลุ่มสามารถจากธุรกิจในภาคการผลิตไปสู่ภาคบริการ

ทุกครั้งที่อภิปรายจึงไม่ใช่แค่ไฟไหม้ฟาง แต่เป็นการฉายอนาคตของตนเอง บริษัท และโลกธุรกิจ

ชาญชัยยังต้องเดินสายอภิปรายในทำนองนี้อีกหลายหน และเขาก็ใจกว้างพอที่จะยอมรับว่า เนื้อหานั้นเอามาจากหนังสือโด่งดัง 3 เล่ม คือ GLOBAL PARADOX, THE ROAD AHEAD และ BEING DIGITAL

เมื่อเป็นเช่นนี้ วิสัยทัศน์ของกลุ่มสามารถก็คงเกี่ยวข้องกับหนังสือทั้งสามเล่มนี้ ยกเว้นในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร กลุ่มสามารถยินดีที่จะใช้ตำราเล่มเดียวกับไอบีเอ็ม คือ THE SEVEN HABITS OF HIGHLY EFFECTIVE PEOPLE

บ่อยครั้งมีคนสงสัยว่า แนวคิดอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ช จะสร้างเม็ดเงินได้จริงหรือไม่ จำเป็นแก่กลุ่มสามารถแค่ไหน หรือเป็นเพียงโลกในฝันอีกบทหนึ่ง

เรื่องนี้พิจารณาได้จากธุรกิจของกลุ่มสามารถ และการพูดถึงชีวิตในยุคดิจิตอลของชาญชัย ซึ่งสอดคล้องกัน

ธุรกิจของกลุ่มสามารถประกอบด้วย 1) ธุรกิจให้บริการเครือข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียม 2) ธุรกิจให้บริการทางเทคนิค 3) ธุรกิจบริการเสริม

ในธุรกิจประเภทที่ 1 หรือ VSAT จะเห็นได้ว่า ตลาดนี้จะมีผู้ใช้บริการอยู่ 3,000 จุดทั่วประเทศ อันเป็นผลมาจากการที่ธุรกิจต่าง ๆ มีการขยายตัวออกสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นในการติดต่อระหว่างสำนักงานใหญ่กับสาขา หรือระหว่างสาขากับสาขามากขึ้น แนวโน้มของตลาดนี้จึงกว้างใหญ่ แต่ปัญหาการแข่งขันสูง จนมีการตัดราคาบริการ ก็ทำให้ผู้นำตลาด เช่น บริษัท สามารถ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถกอบโกยเงินทองได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ

ทางออก คือ หากมองว่า วีแสทเป็นเครือข่ายหลักของกลุ่มสามารถ โดยยุทธศาสตร์ก็ต้องสร้างบริการเสริมต่าง ๆ ขึ้นบนเครือข่ายนี้ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะข้อดีของเครือข่ายดาวเทียม คือ สามารถรับส่งสัญญาณดิจิตอลต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอินเตอร์เน็ต อีดีไอ อี-เมล์ พอสเน็ท (บริการเช่าใช้ระบบเครือข่าย โดยใช้บัตรเป็นสื่อในการชำระที่จุดขาย)

ความเชี่ยวชาญในเรื่องแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ของชาญชัย จึงสอดคล้องกับเครือข่ายหลักของสามารถ และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ในยุคดิจิตอล จากการอภิปรายของชาญชัย ก็พอจะเห็นภาพของการปรับลดขนาดองค์กร การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน และการลดขั้นตอนการจำหน่ายต่าง ๆ

"อีกหน่อยค้าขายกันบนอินเตอร์เน็ต บริษัทเล็ก ๆ มีพนักงานไม่กี่คน อาจดีไซน์โฮมเพจให้ดูน่าสนใจกว่าไอบีเอ็ม ก็เป็นไปได้ มันขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างสรรค์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำลังคน ถ้าคุณเคยดูโฮมเพจอเมซอน ซึ่งขายหนังสือ ก็จะเห็นได้ว่า ขายดีมาก โดยที่ไม่ต้องพึ่งร้านค้าปลีกเลย เพียงแต่รวบรวมรายชื่อหนังสือมาแสดง เมื่อคนสั่งซื้อ ก็ส่งหนังสือไปทางไปรษณีย์ นี่ก็เป็นลักษณะการลดต้นทุน" ชาญชัย กล่าว

ผู้บริโภคไม่ได้สนใจว่า บริษัทต่าง ๆ มีพนักงานมากแค่ไหน แต่สนใจที่คุณภาพของสินค้า ราคา และการบริการที่รวดเร็ว

เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ที่จะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคดิจิตอล โดยอาศัยเครือข่ายโทรคมนาคมประสานกับแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์

การรวมกันระหว่างแอพพลิเคชั่นและเครือข่าย กำหนดให้ธุรกิจของกลุ่มสามารถก้าวไปสู่ยุคที่ 2 คือ เป็นบริการเสริมทางอิเล็กทรอนิกส์ มิใช่ธุรกิจการผลิตที่ตลาดเล็กลงทุกวัน แต่มีปัญหาค่าใช้จ่ายสูง และมีกำลังคนมากเกินจำเป็น

ต่อไปนี้ การเติบใหญ่ของกลุ่มสามารถจะขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การขาย คือ แทนที่จะขายเฉพาะบริการเชื่อมโยงสัญญาณดาวเทียมแต่ละจุด ก็จะมีบริการต่าง ๆ เพิ่มเติมเข้าไปด้วย เช่น กรณีอินเตอร์เน็ต ลูกค้าสามารถใช้จานดาวเทียมเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุน

ในงานสัมมนา ชาญชัยปรารภในทำนองว่า ผู้คนนั้นชอบปฏิเสธและสงสัยต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ นอกจากนี้ ก็ชอบสงสัยถึงความคุ้มค่าของเทคโนโลยี แต่อันที่จริงการลงทุนในด้านเทคโนโลยีต้องหวังความสำเร็จในระยะยาว

ฟังคำปรารภแล้วก็ให้นึกถึงยุทธศาสตร์ของกลุ่มสามารถ ซึ่งหวังสร้างเม็ดเงินจากบริการเสริม อาทิ ธุรกิจอีดีไอ หรือการแลกเปลี่ยนเอกสารธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจการให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่าสามารถไซเบอร์สเปซ ตลอดจนโครงการประชุมทางไกลและการเรียนรู้ทางไกลผ่านดาวเทียม

ธุรกิจในแนวนี้ ล้วนต้องอาศัยการลงทุนสูง เพื่อผลกำไรในระยะยาว หากเจ้าของกลุ่มสามารถไม่เข้าใจเงื่อนไขนี้ ก็คงสร้างความยุ่งยากใจให้ชาญชัยได้ไม่น้อย แต่ดูเหมือนชาญชัยก็ฝ่าด่านนี้มาได้อย่างสบาย แม้เสียงนกเสียงกาจะปล่อยข่าวลือว่า เขาจะลาออกเป็นระยะ

ธวัชชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก็ยอมรับว่า สามารถจะเติบโตแตกต่างไปจากบริการเสริมเข้าสู่บริการพื้นฐาน แม้บริการเสริมต่าง ๆ จะทำให้ต้องอาศัยเวลาในการสร้างผลกำไรในระยะยาว

กระแสสูงของอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ช เริ่มกลายเป็นคำฮิตติดปาก นี่นับเป็นคุณูปการ หลังจากชาญชัยถูกวิจารณ์ว่า การเป็นอดีตผู้บริหารไอบีเอ็ม ชำนาญเพียงธุรกิจคอมพิวเตอร์ อาจไม่เหมาะกับธุรกิจคมนาคมในภาคการผลิตเท่าไรนัก แต่เขากลับมอบว่า ภูมิหลังของเขาคือแต้มต่อ มุมมองด้านคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถสร้างบริการเสริมได้อย่างเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของมนุษย์

"บริษัทที่เปลี่ยนไม่ทันโลกจะมีสภาพเป็นเช่นไร ไอบีเอ็มที่เคยยิ่งใหญ่กลายเป็นบริษัทที่ขาดทุนมากที่สุดในโลก เพราะจะทำมันไปทุกเรื่อง นี่ถ้าผมสนับสนุนให้กลุ่มสามารถทำเคเบิลทีวี ผมก็คงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ เพราะก็เห็นกันอยู่ว่าขาดทุนกันทั้งนั้น"

อย่าเข้าใจว่า ชาญชัยกระแหนะกระแหนรังเก่า อันที่จริง เขาต้องการชี้ให้เห็นว่า ในยุคต่อไปขนาดที่เหมาะสมขององค์กร และทิศทางธุรกิจที่ถูกต้องนับเป็นเรื่องที่จะต้องใคร่ครวญให้ลึกซึ้ง ที่สำคัญ คือ จะต้องมีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการบริหารองค์กรให้มีความคล่องตัวและลดค่าใช้จ่าย

ไม่เพียงแค่การอภิปราย เกือบสองปีที่อยู่ในกลุ่มสามารถ ชาญชัยก็ดำเนินการบริหารตามแนวทางอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ช มีการแจกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คให้แก่ผู้บริหารระดับต่าง ๆ จำนวน 80 คน เพื่อใช้สื่อสารด้วยอี-เมล์ และใช้คอมพิวเตอร์บริหารงานเอกสารต่าง ๆ ทั้งยังมีโครงการนำระบบสื่อสารไร้สายมาใช้ในการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่มผู้บริหารของสามารถไปถึงกลุ่มคู่ค้า และกลุ่มลูกค้าด้วย

เขามีความเห็นว่า ความรวดเร็วของข่าวสารข้อมูลในรูปดิจิตอล และการแข่งขันสูง จะทำให้เกิดบริษัทย่อย ๆ จำนวนมาก ลดขั้นตอนการบังคับบัญชี ตัดแผนกที่ไม่จำเป็นออกไป

"สายการบังคับบัญชาแบบเดิมจะหมดไป อันที่จริงทุกวันนี้ ก็ไม่ค่อยจำเป็นอีกต่อไปแล้ว แต่ผู้บริหารยังหวงอำนาจกันอยู่ ต้องการปกครองคนจำนวนมาก มีแต่ทำให้สิ้นเปลือง โลกดิจิตอลทำให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้เท่ากัน เพียงแค่เปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ จึงไม่จำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องไปสั่งสอนเขาในทุกเรื่อง"

ดูเหมือนอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ช จะกลายเป็นแก้วสารพัดนึกไปเสียแล้ว แต่ก็นับว่าเป็นมุมมองที่เฉียบคมยิ่ง เพราะแม้แต่ธวัชชัย วิไลลักษณ์ก็เพิ่งวาดฝันไว้หยก ๆ ว่า "ปีนี้ผมเน้นอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ช และอิเล็กทรอนิกส์ มีเดีย ให้ลงตัวก่อน ลองดูถ้าสมาชิกอินเตอร์เน็ตเรามีสักแสนราย รายได้เดือนละเกือบ 100 ล้านบาท มันไม่ใช่ธุรกิจเล็ก ๆ นะ"

คงไม่ง่ายนักสำหรับเมืองไทย ซึ่งบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเพียงรายเดียวจะมีสมาชิกนับแสนราย อย่างไรก็ดี การเปิดเกมรุกด้านดิจิตอลของกลุ่มสามารถก็นับเป็นการกระตุ้นตลาดที่ก่อให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.