ธปท.เผยปี48 ขาดดุลบัญชีฯ 4พันล.ดอลล์


ผู้จัดการรายวัน(23 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าการธปท. มั่นใจทั้งปีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีดีพีทั้งปีโตมากกว่า 4.5% ส่วนปี 49 จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 5.5% ย้ำเน้นโตอย่างมีเสถียรภาพมากกว่า และดูแลดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้สูงเกินงาม ส่วนขุนคลัง ยันขาดดุลการค้า ต.ค.185 ล้านเหรียญสหรัฐไม่น่าเป็นห่วง ด้านคุณหญิงชฎา เผย 5.5% มีความเป็นไปได้สูงหากไม่เจอเหตุการณ์ช็อกเศรษฐกิจ ชี้สภาพคล่องลดลงเริ่มเข้าสู่จุดสมดุลแล้ว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ความยืดหยุ่นที่น่ามหัศจรรย์ของเศรษฐกิจไทย" ว่า ตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีน่าจะลดลงเหลือประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 9 เดือนแรกที่ขาดดุลไปแล้ว 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นปริมาณการขาดดุลที่ไม่น่าเป็นห่วงและสามารถรับได้ เพราะคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ของจีดีพี

ขณะที่ยอดขาดดุลการค้าเดือนตุลาคมจำนวน 185 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น ยังไม่ได้นับรวมดุลบริการบริจาคที่เกินดุลเฉลี่ยเดือนละ 500-800 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงให้รอดูตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่ ธปท.จะประกาศในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งมั่นใจว่าภายใน 3 เดือนของไตรมาส 4 นี้จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐได้อย่างแน่นอน

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง กล่าวว่า การขาดดุลการค้าจำนวน 185 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นตัวเลขที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และในทางเศรษฐศาสตร์แล้วถือว่าตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นการสมดุลการค้า ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด

ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (จีดีพี) นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวสูงกว่า 4.5% และในช่วงครึ่งหลังของปีจะขยายตัวได้มากกว่า 5% ดังนั้นการขยายตัวของทั้งปีจะอยู่ที่ 4.25 - 4.75% ตามเป้าหมายที่ ธปท.ตั้งไว้ และในปี 2549 จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 5.5% ซึ่ง ธปท.ไม่ต้องการให้ตัวเลขพุ่งพรวดเร็วเกินไป แต่ต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพมากกว่า รวมทั้งดูแลดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินพอดี

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยยังมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งคงจะกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และการปล่อยสินเชื่ออุปโภคบริโภค แต่ผู้ดำเนินนโยบายจะดูแลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ธปท.มองว่าการส่งออกของไทย ในระยะต่อไปจะขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะช่วยให้การปรับตัวต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของเศรษฐกิจไทยดีขึ้นอีก โดยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศไทยกับเศรษฐกิจ 9 ประเทศหลักในเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น ประกอบด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้มีสัดส่วนการค้าขายสูงถึง 40.2% ขณะที่การค้าขายระหว่าง 10 ประเทศอาเซียน บวก 3 คือ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น มีสัดส่วนสูงถึง 39.5% ดังนั้น การค้าขายในภูมิภาค จึงจะเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ในการขยายตัวของเอเชียและประเทศไทย

"การพึ่งพากันระหว่างประเทศในแถบเอเชียจะทำให้การค้าขาย และการลงทุนในประเทศในเอเชียเชื่อมต่อกันมากขึ้น และเป็นความท้าทายของการผลิตของธุรกิจไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อีกทั้งยังจะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และการที่มีโครงการเมกะโปรเจกต์เพิ่มขึ้นจากการลงทุนของภาครัฐก็จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันอีกทาง" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจไทยในปี 2549 จะขยายตัว 5.5% ตามที่ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ หากเศรษฐกิจไม่เผชิญกับเหตุการณ์ที่รุนแรง ซึ่งในส่วนของธนาคารเองมองว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2549 น่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 4-5% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

สำหรับการขยายตัวทางสินเชื่อของธนาคาร ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ที่ขยายตัว 7-8% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และคาดว่าในปีหน้า สินเชื่อของธนาคารจะขยายตัวได้ในอัตรา 8-9%

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาพคล่องในระบบเริ่มเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีการขาดดุลแสดงให้เห็นว่าเงินไม่ได้ไหล เข้าในระบบมากเหมือนในอดีต รวมทั้งปัจจุบัน ไม่มีคลังจังหวัดในการรับเงินสดจากธนาคาร ทำให้ธนาคารทุกแห่งต้องสำรองเงินสดไว้เองและต้องสำรองสูงถึง 2 เท่าเมื่อเทียบอดีต ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง

นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงสภาพคล่องของระบบธนาคารในปัจจุบันว่า ในส่วนของธนาคารเองมีสภาพคล่องส่วนเกินเหลือเพียง 2-3 แสนล้านบาท ลดลงจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ธนาคารเชื่อว่าในปี 2549 ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตามสภาพคล่องที่ลดลง ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะปรับขึ้นถึงเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงที่สุดในช่วงกลางปีหน้า และจะปรับลดลงหลังจากนั้น

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เงินสกุลบาทจะอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยไปจน ถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าลงใกล้เคียงกับเงินสกุลเยนและยูโร ตามการแข็งค่า ขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐยังสามารถขยายตัวได้ดี ประกอบกับปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่เงินทุนสามารถไหลเข้าไปยังตลาดเงินของสหรัฐฯได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นจึงมีเงินลงทุนไหลเข้าสหรัฐฯมากและจะผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาค่าเงินสกุลหยวนของจีนด้วย เพราะหากหยวน แข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าตาม

ขณะที่นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจในปีหน้าน่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีหน้าที่ระดับ 4-5% เนื่องจากการส่งออก และการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้น มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อรักษาสมดุลระหว่างเงินฝากและเงินกู้

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารนั้น จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้สถาบันการเงินทุกแห่งพยายามแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เป็นภาระ ส่วนสินเชื่อของธนาคารเองในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 5% โดย 9 เดือนที่ผ่านมาสินเชื่อของธนาคารขยายตัวสุทธิ 2-3% ดังนั้นสิ้นปีนี้น่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงกรณีที่ไทยขาดดุลการค้า จำนวน 185 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนตุลาคม 48 ที่ผ่านมาว่า จะพิจารณาตัวเลขเดือนต่อเดือนไม่ได้ เนื่องจากจะเห็นภาพไม่ชัดเจน ซึ่งธนาคารได้คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าปีนี้ประเทศไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.