สายการบินมึนนโยบายสนามบินจับตาไทยแอร์เอเชียยึดดอนเมือง


ผู้จัดการรายวัน(23 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

สายการบินงงนโยบายคมนาคมเสนอแผนเปิดใช้ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ เผยจับตา "ไทยแอร์เอเชียฯ" ได้ประโยชน์สุดๆ ขณะที่ปัญหามาตกที่ ทอท.-วิทยุการบิน-ตรวจคนเข้าเมืองเพราะต้นทุนเพิ่ม โดยเฉพาะการบินไทยแย่สุดไม่มีทางเลือก ถามรัฐเปิดทางโลว์คอสต์ฯ เลือกใช้ที่สุวรรณภูมิได้ด้วย ขณะที่สายการบินอื่นไม่มีสิทธิ์เลือกใช้ดอนเมือง คมนาคมเตรียมเสนอแผนให้ "ทักษิณ" พิจารณา 24 พ.ย.นี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการผู้ดำเนินธุรกิจการบิน (AOC) เปิดเผยถึงข้อสรุปเบื้องต้นที่กระทรวงคมนาคมพิจารณาให้ยังคงใช้ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ภายหลังเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ยังคงใช้ดอนเมืองด้วยนั้น สายการบินเช่าเหมาลำว่า AOC ยังไม่ทราบเรื่องการให้คงดอนเมืองไว้เป็นสนามบินสำรอง ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมไม่เคยประสานหรือถามความเห็นของสายการบิน และก่อนหน้านี้รัฐบาลยืนยันว่าจะมีสนามบินเดียว (Single Airport) ทุกสายการบินจะต้องย้ายไปสุวรรณภูมิทั้งหมด ส่วนดอนเมืองจะใช้ในกิจกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องเช่าเหมาซ่อม ศูนย์ซ่อมเครื่องบินหรือเครื่องบินพิเศษส่วนตัว อีกทั้งสถิติที่ผ่านมาการเปิดใช้ 2 สนามบิน ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะสนามบินที่ห่างกันเพียง 60 กม.

ทั้งนี้ หากรัฐเปิด 2 สนามบิน จะต้องให้ความชัดเจนเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมสนามบินต่างๆ เพราะจะต้องเป็นอัตราเดียวกัน เพราะหากที่ดอนเมืองถูกกว่าก็จะเกิดคำถามเอื้อคนที่อยู่หรือไม่ นอกจากนี้ประเด็นที่ระบุว่า โลว์คอสต์แอร์ไลน์ ไม่มีผู้โดยสารต่อเครื่องนั้น กรณีที่เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศต้องมีผู้โดยสารต่อเครื่องแน่นอน เพราะสายการบินอื่นก็มีผู้โดยสารที่ไม่ต่อเครื่องเช่นกัน แล้วทำไมต้องไปใช้ที่สุวรรณภูมิอย่างเดียว ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดปัญหาต่อกลยุทธ์การตลาดของสายการบินได้ กรณีผู้โดยสารอยากมาลงดอนเมืองเพราะใกล้เมือง เรื่องนี้จะต้องกำหนดกติกาที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ส่วน AOC อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อประชุม

ผู้บริหารสายการบินยุโรปรายหนึ่งกล่าวว่า นโยบายรัฐจะทำอย่างไรก็ได้ แต่อยากให้รัฐพิจารณาข้อดี ข้อเสียของการเปิด 2 สนามบินให้ดี เพราะค่าใช้จ่ายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มขึ้น เพราะต้องมีเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 สนามบิน เช่น หอบังคับการบิน ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งให้บริการภาคพื้นต่างๆ เมื่อหน่วยงานมีค่าใช้จ่ายเพิ่มก็ต้องคิดค่าธรรมเนียม กับสายการบินให้คุ้มกับค่าใช้จ่าย จุดนี้จะเป็นภาระของสายการบิน และเมื่อสุวรรรณภูมิเปิด ทอท.จะขึ้นค่าแลนดิ้งอีก 20% แต่ที่ดอนเมืองยังไม่ชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า กรณีที่สายการบินอื่น เช่น การบินไทย หรือบางกอกแอร์เวย์ส ไม่มีผู้โดยสารต่อเครื่องแล้วต้องการมาใช้ที่ดอนเมืองจะได้หรือไม่ ในขณะที่รัฐเปิดให้โลว์คอสต์ฯ เลือกใช้ได้ 2 สนามบิน ซึ่งหากไม่ได้ ผลเสียจะมาตกที่การบินไทย เพราะไม่มีทางเลือกและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ส่วนโลว์คอสต์แอร์ไลน์ จะได้ประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะไทยแอร์เอเชีย ที่เป็นยักษ์ใหญ่ของโลว์คอสต์ฯ เสนอ "ทักษิณ" เคาะแผน 24 พ.ย.

นายมหิดล จันทรางกูร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) หลังเปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า จะเสนอแผนต่อนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาในวันนี้ (23 พ.ย.) เพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 24 พ.ย. 2548

โดยเสนอให้สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินสำรอง สำหรับกิจการบินทั่วไปต่อไป เช่น กิจการบินสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) เครื่องบินเช่าเหมาลำ เครื่องบินเล็กศูนย์ซ่อมอากาศยานทั้งของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอก แอร์เวย์ส จำกัด และบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ร่วมมือกับกองทัพอากาศ แต่เปิดโอกาสให้สายการบินต้นทุนต่ำหากยังต้องการไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิ โดย ทอท.เป็นผู้พิจารณาให้

ทั้งนี้ เชื่อว่าสายการบินต้นทุนต่ำส่วนใหญ่จะใช้ที่ดอนเมือง โดยจากข้อมูลระบุว่า ผู้โดยสารต่อเครื่องไปต่างประเทศของสายการบินต้นทุนต่ำมีไม่ถึง 10% ดังนั้น คณะกรรมการฯ ได้เสนอให้เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินหรือ แอร์พอร์ตลิงก์รวมทั้งถนนต่างๆ เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างสองสนามบิน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.