กองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน แนวคิดใหม่ที่คนไทยควรต้องร่วมมือ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

"ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ขอยื่นเรื่องเสนอโครงการเข้ามาประมาณ 30 โครงการ ซึ่งถือว่าน้อยเพราะคณะกรรมการกองทุนไม่สามารถจะอนุมัติเงินตามที่ขอมาได้ทั้งหมด เนื่องจากบางโครงการเสนอเกินความเป็นจริง และมีความหลากหลายน้อย การจะตัดสินใจอนุมัติจึงต้องชะลอไว้ ทำให้เงินกองทุนที่ตั้งไว้ในแต่ละปีต้องยกยอดมาใช้ในปีต่อ ๆ ไปทำให้การศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต้องล่าช้าออกไป ซึ่งไม่ก่อผลดีต่อประเทศชาติ" ดร.ปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ สพช. ได้กล่าวถึงการดำเนินงานให้การสนับสนุนของเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

สพช. ได้ดำเนินการให้การส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือเพื่อสนับสนุนเงินแบบให้เปล่าแก่หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร โดย สพช. เป็นองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในการผลิตทั้งในด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมในชนบท ทำให้มีการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมากมาใช้อย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิดตลาดของสินค้าและบริการที่ช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงาน และกระตุ้นให้มีการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการอนุรักษ์พลังงานที่สามารถนำเอาผลการศึกษามาเผยแพร่ใช้ในโรงงาน อาคารตลอดจนครัวเรือน แต่ปรากฏว่า ใน 2 ปีที่ผ่านมาถือว่ายังไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

เนื่องจากยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ถึงการได้รับการส่งเสริมเงินจากกองทุน อีกประการหนึ่ง คือ การประกาศใช้กองทุนอนุรักษ์พลังงานเพิ่งเกิดเมื่อปี 2535 แต่สามารถดำเนินตามกฎหมายในปี 2538 ประกอบกับมีหน่วยงานให้ความสนใจน้อย ทำให้เงินที่จัดสรรไว้ไม่สามารถอนุมัติออกได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งการจะอนุมัตินั้น กองทุนฯ จะมีคณะกรรมการฯ คอยพิจารณาว่า สมควรให้มากน้อยเพียงใดและเป็นประโยชน์จริงหรือไม่

"ค่าวัดง่าย ๆ เลย ก็คือ ในแต่ละโครงการที่ขอเข้ามาต้องมีการตอบแทนตามหลักเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยกว่า 9% แต่ในขณะเดียวกันถ้าผลตอบแทนในแต่ละโครงการสูงมากเกินไป เราก็จะไม่ให้ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและเลี้ยงตนเองได้ ไม่ควรจะเอาเงินส่วนกลางนี้ไปช่วยเหลือ"

สำหรับโครงการที่จะขอรับการพิจารณาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานนั้น มีทั้งที่เป็นอาคาร และโรงงาน ซึ่งผู้ที่อยู่ในข่ายที่เข้าเงื่อนไขได้มีอาคารทั่วประเทศประมาณ 1,000 แห่งและโรงงานอีกประมาณ 4,000 แห่งจากทั่วประเทศเช่นกัน มีทั้งอาคารใหม่ และอาคารเก่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะอาคารเก่ามากกว่าเพราะอาคารใหม่นั้นจะสร้างอย่างถูกเงื่อนไขอยู่แล้ว

ตัวอย่างของอาคารที่จะได้รับความช่วยเหลือ คือ เซ็นทรัลลาดพร้าว โรงแรมดุสิตธานี อาคารของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นอกจากนั้น ก็ยังมีโครงการอนุรักษ์พลังงานในชนบท ซึ่งจะเป็นกิจการขนาดเล็กหรือพลังงานหมุนเวียน พลังงานเหลือใช้ต่าง ๆ เช่น ลม แสงอาทิตย์ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้กล่าวต่อไปถึงเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานว่า เงินกองทุนทั้งหมดมี 12,000 ล้านบาท ใช้ไปแล้วแค่ 1,000 ล้านบาท คงเหลือถึง 11,000 ล้านบาท

สำหรับ 1,000 ล้านบาทที่ใช้ไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องของการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ งานค้นคว้าวิจัย การฝึกอบรม และกับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมไป โดยในปี 2539 นี้มีโครงการที่เข้ามาขอส่งเสริมจำนวน 313 ล้านบาท ซึ่งเป็นอาคารของภาครัฐทั้งสิ้น นอกจากนี้ ก็ยังเป็นค่าใข้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์การใช้พลังงานในอาคารของรัฐอีก 225 แห่ง มีอาคารที่ขอปรับปรุงไปแล้ว 150 แห่ง

ส่วนที่สอง คือ แผนงานภาคความร่วมมือ ซึ่งให้ไปแล้ว 10 โครงการ จำนวนเงิน 187.7 ล้านบาท เป็นกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานในชนบท เช่น ก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์แทนไฟฟ้า การประหยัดพลังงานในโรงบ่มใบยาสูบ มูลค่า 10 ล้านบาท ซึ่งถ้าได้ผลตามที่ต้องการจะนำไปใช้กับโรงบ่มใบยาทั่วประเทศ หรือการใช้ก๊าซธรรมชาติจากกองขยะ ขณะนี้กำลังทดลองอยู่ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มูลค่า 26 ล้านบาท

ทางด้านแนวโน้มราคาน้ำมันจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ ในปี 2540 นั้น ดร.ปิยะสวัสดิ์ กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวนั้น คาดว่า ในครึ่งแรกของปีจะไม่มีการปรับเนื่องจากในปี 2539 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ราคาน้ำมันมีราคาสูงที่สุดในรอบ 6 ปี เพราะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น อิรักรุกรานชาวเคิร์กส์ เป็นผลให้อิรักไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้

ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันในส่วนต่าง ๆ ของโลกมีเพิ่มขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมไม่สดใส ทำให้บริษัทน้ำมันใหญ่ ๆ ของโลกสต็อกน้ำมันน้อยลงเพื่อเป็นการลดต้นทุน พอมีปัญหาน้ำมันขึ้นมาก็เลยทำให้น้ำมันไม่พอใช้ ราคาจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี

"แต่ในส่วนของประเทศไทยเราเองก็ถือว่าสำรองน้ำมันดิบไว้ได้ไม่ต้องห่วง คือ สต็อกไว้ตามมาตรฐานของประเทศกำลังพัฒนา คือ 36 วัน หรือ 2,000 ล้านลิตร แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องสำรองอย่างน้อยต้อง 90 วัน แต่เราก็ยังประมาทไม่ได้ ทางที่ดีก็ควรต้องช่วยกันประหยัดพลังงานกันไว้ให้มากที่สุด ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนตราบใดที่เรายังไม่มีบ่อน้ำมันของเราเอง"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.