เมโทรฯ แตกไลน์ธุรกิจ "บริการหลังการขาย"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

จากความตั้งใจของ ธวิช จารุวจนะ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น (MSC) ซึ่งอยากจะให้ธุรกิจเมโทรฯ เป็นธุรกิจที่ครบวงจร ซึ่งในอดีตเมโทรฯ มีธุรกิจแค่ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ แต่บัดนี้ความตั้งใจของเขาประสบความสำเร็จแล้ว เมื่อได้เข้าไปลงทุนโดยการซื้อหุ้นในบริษัท ซีนิธคอมพ์ จำกัด เป็นจำนวน 1,008 ล้านบาท หรือ 40% ของทุนจดทะเบียน

บริษัทซีนิธคอมพ์ดำเนินธุรกิจให้บริการหลังการขาย (AFTER SALE SERVICE) และเป็นที่ปรึกษาซอฟต์แวร์ LOTUS NOTE

"ต่อไปนี้ ธุรกิจเมโทรฯ ครบวงจรแล้ว ซึ่งบางครั้งเราไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมดก็ได้ คือ มีทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบริการหลังการขาย" ธวิช ย้ำ

ธุรกิจใหม่ดังกล่าวนี้ ซีนิธคอมพ์จะเป็นศูนย์ LOTUS AUTHORIZED SUPPORT CENTER (LASC) ให้กับบริษัท โลตัส ดีเวลลอปเมนท์ (เอเชีย-แปซิฟิก) จำกัด โดยจะเริ่มให้บริการกับลูกค้าได้วันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 เป็นต้นไป

"ความร่วมมือระหว่างเรากับโลตัสในการเปิด LASC ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ของโลตัส" ธวิชชี้แจง

สำหรับความสนใจในการทำธุรกิจดังกล่าว ธวิชได้กล่าวเสริมว่า แนวโน้มการใช้ผลิตภัณฑ์ของโลตัสทั่วโลกมาแรงมาก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย และปัจจุบัน ลูกค้ายังมีความต้องการการใช้บริการหลังการขายเพิ่มมากขึ้น

"ขณะนี้โลตัสมีการให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ต่อไปนี้ลูกค้าในบ้านเราสามารถใช้บริการผ่านทางซีนิธคอมพ์ได้"

เดิมทีซีนิธคอมพ์ดำเนินธุรกิจในการให้บริการและพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ในส่วนของ AS/400 แต่ปัจจุบันได้เข้ามาศึกษาธุรกิจบริการหลังการขายของโลตัสอย่างจริงจัง เนื่องจากมั่นใจว่า ในอนาคตว่าจะมีผู้ใช้โลตัสมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในปัจจุบัน ความต้องการใช้ LOTUS NOTE ในประเทศไทยนับว่าเริ่มเป็นที่น่าสนใจและเริ่มใช้ในหน่วยงานราชการใหญ่ ๆ เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย รวมทั้งบริษัทเอกชน เช่น การบินไทย และ บริษัท ซีแพค (CPAC)

ด้าน ศิวารักข์ พหลโยธิน กรรมการผู้จัดการ ซีนิธคอมพ์ ซึ่งต่อไปนี้ เธอจะเป็นผู้เข้ามาดูแล LASC ได้กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวจะให้บริการลูกค้าของโลตัสทั้งในประเทศและประเทศที่ใกล้เคียง โดยจัดแบ่งเป็นหมวดสินค้า

การให้บริการหลังการขายนี้ ซีนิธคอมพ์จะให้บริการ 3 ส่วน คือ LOTUS SUPPORT, CC : MAIL SUPPORT และ DESKTOP SUPPORT แต่ในช่วงแรกนี้ ซีนิธคอมพ์จะมุ่งให้บริการผลิตภัณฑ์ LOTUS NOTE

"เนื่องจากการใช้ LOTUS NOTE ในบ้านเราค่อนข้างมีปัญหา โดยเราจะให้บริการทั้ง BASIC SUPPORT และ PREMIUM SUPPORT" ศิวารักข์ กล่าว

การให้บริการในลักษณะ BASIC SUPPORT คือ ให้บริการสำหรับลูกค้าที่เพิ่งเริ่มใช้ LOTUS NOTE และมีเพียง 1 SERVER ค่าบริการปีละ 30,000 บาท ส่วน PREMIUM SUPPORT ให้บริการลูกค้าที่ใช้ LOTUS NOTE มานานพอสมควร และมีมากกว่า 1 SERVER ค่าบริการปีละ 70,000 บาท รวมทั้งให้บริการในการทำ APPLICATION DEVELOPMENT บน LOTUS NOTE ซึ่งคิดค่าบริการ 100,000 บาทต่อ 10 เรื่อง

"นอกจากนี้ ยังให้บริการพิเศษอื่น ๆ อีก เช่น การรับข้อมูล ข่าวสาร และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์โลตัส" ศิวารักข์ กล่าว

สำหรับการให้บริการที่เหลืออีก 2 ส่วน เธอคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ประมาณกลางปี 2540 เนื่องจากตลาดอาจจะมีความต้องการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ผู้ขายจะเป็นผู้ SUPPORT ให้อยู่แล้ว

"เราคงจะต้องดูตลาดก่อนว่า มีผู้ต้องการอยากจะได้ตรงนี้ไปหรือไม่ แต่ในอนาคตเราจะทำแน่นอน" ศิวารักข์ ชี้แจง

สำหรับลักษณะการให้บริการนั้น เมื่อลูกค้ามีปัญหาในการใช้ผลิตภัณฑ์โลตัสสามารถใช้บริการได้ 2 ลักษณะ คือ บริการสอบถามทางโทรศัพท์ และการเชื่อมโยง (ELECTRONIC CONNECTION) และในกรณีที่ LASC ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ก็จะส่งผ่านต่อไปยังศูนย์ SUPPORT ของโลตัสในสิงคโปร์

เมื่อเป็นเช่นนี้ การให้บริการดังกล่าวจะซ้ำซ้อนกันหรือไม่นั้น ศิวารักข์ไขข้อข้องใจว่า การให้บริการจะไม่ซ้ำซ้อนกับทางสิงคโปร์ เพราะ LASC จะเป็นคู่ค้าที่มาช่วยเสริมเท่านั้น

"เพราะก่อนหน้านี้ เราก็ทำตลาดผลิตภัณฑ์ของโลตัสอยู่ก่อน และมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่ได้สั่งซื้อจากสำนักงานในไทยแต่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ดังนั้น เราจึงเป็นคู่ค้าที่ช่วยเสริมในจุดนี้มากกว่า" ศิวารักข์ อธิบาย

และเมื่อให้บริการแก่ลูกค้าแล้ว เธอตั้งเป้าไว้ว่าในปีแรก ๆ จะสามารถทำรายได้เข้ามาประมาณ 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมั่นใจว่าจะช่วยส่งเสริมให้เมโทรฯ ทำการตลาด LOTUS NOTE ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะธุรกิจดังกล่าวเป็นการสนับสนุนด้านการขายอีกทางหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบัน เมโทรฯ เป็นผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ LOTUS NOTE

ด้าน วอง เซิน ชอง ผู้จัดการแผนก LOTUS CUSTOMER SUPPORT ของโลตัส ซึ่งเป็นผู้สานฝันของเมโทรฯ ให้มีธุรกิจครบวงจร ได้กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ LASC นี้เป็นแห่งแรกในเอเชียของโลตัสที่จัดตั้งร่วมกับบริษัทอื่น เพราะในอดีตที่ผ่านมา โลตัสดำเนินงานเองทั้งหมด

"หลังจากเราเข้ามาตั้งสาขาในไทยประมาณปีกว่า ลูกค้าโลตัสได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการดูแลอาจจะไม่ทั่วถึง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการแต่งตั้งคู่ค้าเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในด้านการบริการด้วย" ชอง กล่าว

และเมื่อจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวกับเมโทรฯ ทำให้โลตัสก็มีธุรกิจการบริการในประเทศไทยครบวงจรเหมือนกัน คือ มีทั้ง 3 ประเภท ได้แก่

บริการหลังการขาย ซึ่งให้ซีนิธคอมพ์เป็นผู้ดำเนินงานบริการศูนย์ฝึกอบรม (EDUCATION CENTER) โดยให้บริษัท ดิไอเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท คอมเพ็ค (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอสซีที คอมพิวเตอร์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน และบริการให้คำปรึกษา (CONSULTING) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท โลตัส ดีเวลลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานและพร้อมที่จะให้บริการในปี 2540



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.