"ไมโครแคช" ทางเลือกใหม่ของคนกรุง


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัจจุบัน ผู้ที่ใช้บริการรถไมโครบัสคงจะทราบดีว่า การให้บริการบนรถนั้นเพียบพร้อมแค่ไหนทั้งมีทีวีดูแก้ง่วง หนังสืออ่านแก้รถติดเพื่อแลกกับค่าบริการจำนวน 30 บาท นอกจากนี้ ยังมีบริการชำระค่าโดยสารแทนเงินสดในรูปคูปอง

ล่าสุด ได้มีบริการใหม่จากไมโครบัสที่อยู่ในรูปกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ "ไมโครแคช" (MICRO CASH CARD) เพื่อนำมาใช้ชำระค่าโดยสารแทนเงินสดและคูปองบนรถไมโครบัส เพื่อแก้ปัญหาที่ผู้ใช้บริการไม่มีเศษเหรียญสำหรับค่าโดยสาร

"ไมโครแคชเกิดขึ้นมาจากเราได้ไปดูงานต่างประเทศและได้ไปเห็นการออกตั๋วเลยสนใจ และเมื่อปี 2538 ได้นำเทคโนโลยีจากประเทศฟินแลนด์มาพิจารณา และเรามาหารือกันและเห็นว่าไทยทนุมีความชำนาญเรื่องบัตรพลาสติกและเมื่อทำมาแล้วน่าจะได้ประโยชน์ เราจึงจัดตั้งบริษัทกลางขึ้นมา" ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยทนุ กล่าวถึงที่มาของบัตรไมโครแคช

บริษัทกลางที่จัดตั้งเพื่อเข้ามาดูแลบัตรดังกล่าว คือ บริษัท บางกอก เปย์เม้นท์ เทคโนโลยี จำกัด (บีพีที) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท บางกอก มอเตอร์ อิควิปเมนท์ จำกัด, บริษัท โปรลายน์ (โฮลดิ้ง) จำกัด, บริษัท ศูนย์ประมวลผล จำกัด และธนาคารไทยทนุ โดยแต่ละบริษัทจะถือหุ้น 45%, 30%, 15% และ 10% ตามลำดับ

"เริ่มแรกมีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ส่วนบุคลากรที่เข้ามาบริหารงานนั้นจะมาจากทั้ง 4 บริษัท ซึ่งจะเข้ามาทำงานในแต่ละด้านที่ถนัด" ชัยวัฒน์ ซึ่งเข้ามาดูแลในฐานะประธานกรรมการบริหารในบีพีทีกล่าว

บัตรไมโครแคชได้นำเทคโนโลยี ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยธนาคารแห่งชาติประเทศฟินแลนด์ ส่วนราคานั้นได้กำหนดราคาค่าธรรมเนียมบัตรเมื่อซื้อครั้งแรกที่ 300 บาท และผู้ใช้บัตรสามารถเติมเงินลงไปในบัตรได้ตามจำนวนที่ต้องการตั้งแต่ 100-2,000 บาท มีอายุการใช้งาน 3 ปี หากหมดอายุแล้วไม่สามารถเติมเงินได้แต่สามารถใช้ตามจำนวนเงินที่เหลือได้ในบัตรอีก 1 ปีหลังหมดอายุ

"จำนวนเงินจะอยู่ในรูปไมโครโปรเซสเซอร์ชิป ที่ติดอยู่บนบัตรทำให้รู้สึกเหมือนพกพากระเป๋าเงินคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเท่าบัตร ATM" ชัยวัฒน์ กล่าว

ซึ่งบัตรดังกล่าวได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 พร้อมทั้งยืนยันว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างดีแน่นอน โดยในช่วงแรก ๆ จะเน้นลูกค้าที่เข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี

"เนื่องจากว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา ลูกค้าเราในช่วงแรกจึงเป็นนิสิตนักศึกษา พนักงานตามบริษัทต่าง ๆ ส่วนตั้งแต่กลางปี 40 เป็นต้นไป เราจึงจะเจาะลงไปในกลุ่มลูกค้าที่เป็น MASS มากขึ้น" ชัยวัฒน์ ชี้แจง

สำหรับสิทธิประโยชน์ของผู้ถือบัตรไมโครแคช นอกจากใช้ชำระค่าโดยสารกับไมโครบัส ซึ่งได้รับส่วนลด 10% ยังสามารถชำระค่าสินค้าและบริการด้วยการรับส่วนลดพิเศษจากร้านค้าต่าง ๆ มากมาย เช่น รับส่วนลด 10% จากการชำระค่าอาหารที่ร้านอาหารและกาแฟแบล็คแคนยอน และรับส่วนลด 15% ในการซื้อบัตรชมภาพยนตร์ในเครือ อีจีวี, ซีนีพลัสและเอ็นเตอร์เทนรวม 13 แห่ง 86 โรงทั่วกรุงเทพฯ

"รวมทั้งใช้ได้กับเมล์บ็อกซ์ อีทีซี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านไปรษณีย์ จากอเมริกา และถ้าบนรถไมโครบัสติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะของ TAC เสร็จเรียบร้อยก็สามารถใช้บริการได้ ส่วนคอนวีเนียนสโตร์เรากำลังเจรจากับร้านเอเอ็มพีเอ็ม รวมทั้งการติดต่อกับองค์กรของรัฐ เช่น การประปา ไฟฟ้า สื่อสาร เพื่อเปิดบริการชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านบัตรไมโครแคช"

ด้านผลตอบรับในช่วงที่ผ่านมา ชัยวัฒน์เล่าว่า ได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตัวมายังไม่ได้ทำการส่งเสริมการตลาดอย่างจริงจัง เนื่องจากช่วงเดือนพฤศจิกายนอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง และจะเริ่มโปรโมตอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 เป็นต้นไป

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดนั้น บีพีทีจะเน้นการเข้าถึงลูกค้าโดยตรง โดยกลุ่มโรงภาพยนตร์เครืออีจีวีจะทำโฆษณาในโรงภาพยนตร์ ไมโครบัสจะทำสื่อบนรถ ส่วนบีพีทีจะลงโฆษณาทางสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

"ในเรื่องงบโฆษณา เราตั้งไว้ทั้งหมด 5 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากบริษัทร่วมทุนอย่างมาก"

เมื่อทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว บีพีทีตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปี 2540 จะมีผู้ถือบัตรเกิน 100,000 ใบ นั่นก็หมายความว่า บริษัทจะมีรายได้จากการขายบัตรไมโครแคชเข้ามาถึง 30 ล้านบาท

"นี่คือรายได้หลักของเรา นอกจากนี้ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียม คือ เมื่อผู้ใช้บัตรใช้หมดแล้วต้องการเติมมูลค่าบัตรตรงนี้ เมื่อนำมาเติมเราจะคิดค่าธรรมเนียมครั้งละ 10 บาท และรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากร้านค้าที่รับบัตรไมโครแคช คาดว่า รายได้จาก 3 แหล่งนี้เราจะคุ้มทุนได้ภายใน 2-3 ปี" ชัยวัฒน์ กล่าว

นอกเหนือจากนี้ ชัยวัฒน์ยังกล่าวถึงการทำ "สมาร์ทแคช" คือ การรวมบัตรไมโครแคชเข้ากับบัตร ATM ของไทยทนุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งบัตรดังกล่าวเป็นบัตร ATM เดิมมาปรับปรุงใหม่โดยการเพิ่มไมโครชิปลงบนบัตร และปรับโฉมใหม่ทั้งหมด

ปัจจุบัน ไทยทนุกำลังเร่งปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2540 โดยเฉพาะเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัตินั้นในอนาคตผู้ถือบัตรไมโครแคชสามารถถอนเงิน และเติมมูลค่าเงินสดลงบนบัตรได้ด้วยตัวเอง

"เราเริ่มทำสมาร์ทแคชต้นปี 40 เนื่องจากเรามองว่าจะทำให้ฐานลูกค้าของบัตรกว้างมากขึ้น และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือบัตร ซึ่งเราคิดว่า บัตรสมาร์ทแคชจะโตตามไมโครแคช ถ้าจุดบริการไมโครแคชเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่คาดว่าสมาร์ทแคชจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น" ชัยวัฒน์ กล่าว

ซึ่งขณะนี้บีพีทีได้กำหนดจุดบริการขายบัตรไมโครแคชไว้ที่ตัวบริษัท ที่ธนาคารไทยทนุกว่า 20 สาขา โรงภาพยนตร์เครืออีจีวี ซีนีพลัสและเอนเตอร์เทนเมนท์ ร้านเวิลด์มีเดีย ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, เวลโก้ และไทยไดมารู รวมทั้งจุดประชาสัมพันธ์ไมโครบัสที่จะกำหนดขึ้นอีก

สำหรับจุดบริการเติมเงินจะอยู่ที่บีพีที, ธนาคารไทยทนุ 24 สาขา โรงภาพยนตร์ในเครืออีจีวี และร้านเวิลด์มีเดีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อทั้งบัตรไมโครแคช และสมาร์ทแคชเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นแล้ว ความเป็นห่วงในเรื่องจะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้นั้น ย่อมมีบ้าง แต่ชัยวัฒน์ได้กล่าวอย่างมั่นใจแน่นอน เนื่องจากบัตรดังกล่าวจะต้องมีเงินเข้ามาก่อน และการใช้ไม่ใช่ใช้กับสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นการใช้ทดแทนเงินสดย่อยเท่านั้น

"ดังนั้น จะไม่เหมือนบัตรเครดิตที่ใช้ครั้งละหลายพันหลายหมื่นบาท ซึ่งสมาร์ทแคชเป็นเครื่องมือที่ให้ความสะดวกและการประหยัดเท่านั้น และบัตรดังกล่าวจะไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคำว่าเงินเฟ้อแน่นอน" ชัยวัฒน์ กล่าวตบท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.